23/11/2024

ยะลา-เบตง ดีเอสไอตรวจสอบข้อมูลสมาชิกสมาคมผู้ไม่มีที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัยเบตง

เบตง ดีเอสไอ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลชาวบ้านสมาชิกสมาคมผู้ไม่มีที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัยเบตง เพื่อความถูกต้อง ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้นำความยุติธรรมเข้าไปหาประชาชน ไม่ใช่ให้ประชาชนเข้ามาหาความยุติธรรม

 


เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 23 ต.ค.67 ที่ห้องประชุม อบต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง จ.ยะลา นายเจตนา เหมมุน ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ , นายไชยา จันทร์สุข เจ้าหน้าที่คดีพิเศษชำนาญการ และเจ้าหน้าที่สนับสนุนงานสืบสวน ลงพื้นที่พบปะชาวบ้านสมาชิกของสมาคมผู้ไม่มีที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัยเบตง เพื่อสอบถามข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นในการขอรับสิทธิการเช่าที่ราชพัสดุ ในพื้นที่บ้านบ่อน้ำร้อน ม.2 ต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง จ.ยะลา ซึ่งมีประชาชนในพื้นมี่จำนวน 45 ราย เข้าให้ข้อมูล

นายเจตนา เหมมุน ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า สืบเนื่องมาจาก พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้สั่งการให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณี สมาคมผู้ไม่มีที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัยเบตง ที่ได้ยื่นเรื่องขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมช่วยเหลือเจรจา เพื่อขอเปลี่ยนพื้นที่ใหม่ที่สามารถปรับและสร้างเป็นที่อยู่อาศัยได้ เนื่องจากตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 ระหว่างผู้เช่าเดิม กับสมาคมผู้ไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเบตง โดยผู้เช่าเดิมจะแบ่งที่ดินเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ ตามแผนที่แนบท้ายสัญญาประนีประนอมยอมความ เพื่อโอนสิทธิให้ชาวบ้านที่เดือดร้อนไม่มีที่อยู่อาศัยตามบัญชีท้ายรายชื่อสมาชิกของสมาคมผู้ไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเบตง ที่เข้ามาอยู่อาศัยในอำเภอเบตงก่อนปี พ.ศ.2557 ได้เช่าอย่างถูกต้อง และให้ทำสัญญาเช่าโดยตรง แต่ผู้เช่าเดิมได้โอนสิทธิการเช่าที่ดินซึ่งเป็นที่ราชพัสดุตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านบ่อน้ำร้อน ม.2 ต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง จ.ยะลา ให้แก่สมาชิกสมาคมซึ่งไม่สามารถปรับพื้นที่ได้เพราะเป็นที่ลาดชันและหากปรับแล้วจะส่งผละกระทบกับพื้นที่ข้างเคียง

พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีคำสั่งให้กองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค พิจารณาดำเนินการ และรายงานผลการดำเนินการให้กระทรวงยุติธรรมทราบ ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค จึงได้มอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้รับไปดำเนินการ
ต่อมา เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ดำเนินการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวและได้จัดทำรายงานสรุปประมวลผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเสนอให้ผู้บังคับบัญชาทราบ และอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีข้อสั่งการ ให้ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นบุคคลกลางช่วยเหลือเจรจา ตลอดจนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการขอเปลี่ยนพื้นที่ตามสัญญาประณีประนอมยอมความโดยให้คำนึงถึงความเป็นกลาง ความเป็นธรรม

ภายใต้อำนาจหน้าที่ ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดยะลา ได้แก่ สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและบังคับคดีจังหวัดยะลา สาขาเบตง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดยะลา สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ยะลา สำนักงานบังคับคดีจังหวัดยะลา สาขาเบตง สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมจังหวัดยะลา สำนักงานยุติธรรมจังหวัดยะลา องค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา องค์การบริหารส่วนตำบลตาเนาะแมเราะ และอำเภอเบตง ดำเนินการจัดการประชุมเพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อหาข้อยุติ โดยมีนายอุกฤษฏ์ อินทร์ยิ้ม อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ช่วยราชการสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและบังคับคดีจังหวัดยะลา สาขาเบตงเป็นประธาน โดยที่ประชุมมีมติดังนี้

1.ให้อำเภอเบตงดำเนินการตรวจสอบประวัติและคัดแยกรายชื่อบุคคลที่มีภูมิลำเนาและอาศัยอยู่ในอำเภอเบตงก่อนปี พ.ศ.2557 ตามบัญชีท้ายสัญญาประณีประนอมยอมความ จำนวน 180 คน
2.ให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดยะลา และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดยะลา เข้าร่วมดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคุณสมบัติและสถานะของสมาชิกสมาคมผู้ไม่มีที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัยเบตง
3.เมื่อได้ดำเนินการตามข้อ 1 และ 2 เสร็จสิ้นแล้วให้จัดร่วมประชุมครั้งที่ 2 เพื่อกำหนดแนวทางการจัดสรรที่ดิน การวางแผนผัง และการสนับสนุนงบประมาณในการปรับพื้นที่พร้อมร่วมกันตรวจพื้นที่เกิดเหตุ

 


4. ให้ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานกลางและดำเนินการให้เป็นไปตามมติที่ประชุม
หลังจากที่อำเภอเบตง ได้ส่งบัญชีรายชื่อบุคคลของสมาชิกสมาคมผู้ไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเบตง จำนวน 100 ราย ให้ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อมูล เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงลงพื้นที่และนัดหมายบุคคลที่มีรายชื่อตามที่อำเภอเบตงส่งมอบให้แก่ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสอบถามข้อมูลที่เกี่ยวข้องประกอบการตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นในการขอรับสิทธิการเช่าที่ราชพัสดุจากผู้เช่าเดิม ก่อนที่จะส่งมอบให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดยะลา และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดยะลา ดำเนินการตามมติที่ประชุม โดยศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะนำเรียนอธิบดีกรมสวบสวนคดีพิเศษและนำเรียนให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พิจารณาต่อไป


ทั้งนี้การดำเนินการของศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ดังกล่าวเป็นการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนตามนโยบายของพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ได้ให้นำความยุติธรรมเข้าไปหาประชาชน ไม่ใช่ให้ประชาชนเข้ามาหาความยุติธรรม ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้นำนโยบายดังกล่าวมาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และจริงจังเพื่อความสงบสุขของประชาชนในพื้นที่ต่อไป

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป