สืบนครบาล รวบ ‘เอก ท่าข้าม’ โพสต์รับจ้างประกอบกีตาร์ในกลุ่มเฟซ สุดท้ายอ้างหมุนเงินไม่ทัน ชิ่งหนีผู้เสียหายกว่า 100 ราย
สืบนครบาล รวบ ‘เอก ท่าข้าม’ โพสต์รับจ้างประกอบกีตาร์ในกลุ่มเฟซ สุดท้ายอ้างหมุนเงินไม่ทัน ชิ่งหนีผู้เสียหายกว่า 100 ราย
ตามนโยบายของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร. ,พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. ให้เร่งรัดปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน ชุดลาดตระเวนออนไลน์สืบนครบาลออกแกะรอยสืบสวนจนพบ บุคคลเฝ้าระวังในโลกโซเชียล ซึ่งมีพฤติการณ์ใช้เฟซบุ๊กโพสต์หาลูกค้าในกลุ่มรับประกอบกีตาร์ ซ่อมกีตาร์ ให้โอนเงินค่ามัดจำ แต่ไม่ส่งของ มีผู้เสียหายกว่า 100 ราย จึงได้รีบทำการสืบสวนจับกุมให้ได้โดยเร็วก่อนจะไปก่อเหตุกับผู้อื่นอีก
.
เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2567 พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. ,พล.ต.ต.วสันต์ เตชะอัครเกษม รอง ผบช.น. ,พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น., พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น., พ.ต.อ.เกียรติศักดิ์ สระทองออย, พ.ต.อ.อิสเรศ ปาลาพงศ์ รอง ผบก.สส.ฯ, พ.ต.อ.อรรชวศิษฏ์ ศรีบุณยมานนทน์ ผกก.สส.3 บก.สส.บช.น., พ.ต.ท.ปกรณ์ ทองช่วง และ พ.ต.ท.วิโรฒ จนุบุษย์ รอง ผกก.สส.3ฯ ได้สั่งการให้ พ.ต.ท.รณฤทธิ์ กิตติมาศ สว.กก.สส.3 บก.สส.บช.น. พร้อมด้วย ร.ต.อ.ปณวัฒน์ จอกสุวรรณ์ และ ร.ต.อ.ปิ่น มหถาวร รอง สว.กก.สส.3 บก.สส.บช.น. พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.สส.3 บก.สส.บช.น (ชุดปฏิบัติการที่ 3/4 )จับกุมตัว
นายวิทวัส หรือเอก อายุ 23 ปี ภูมิลำเนา แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กทม.ตามหมายจับศาลแขวงพระนครเหนือ ที่ 487/2567 ลง 7 ตุลาคม 2567
ซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดฐาน “ฉ้อโกง , โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น และยักยอก”
.
จับกุม หน้าแฟลตอาคารสงเคราะห์ห้วยขวาง ถนนประชาสงเคราะห์ แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร
.
พฤติการณ์แห่งคดี ตามวันเวลาที่เกิดเหตุ ผู้เสียหายเข้าแจ้งความ ณ สน.ห้วยขวาง ว่าเมื่อประมาณปลายเดือนมิถุนายน 2567 ผู้เสียหายสนใจที่จะสั่งกีตาร์มาใช้สักตัวจึงเข้าไปหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตก็พบเพจเฟสบุ๊คชื่อ Horizon Guittar Shop ใช้โปรไฟล์กราฟฟิคตัวอักษร Hz จึงได้ติดต่อไปพูดคุยสอบถามกับเพจร้านดังกล่าว เพื่อสั่งทำกีตาร์ไฟฟ้า จำนวน 1 ตัว ราคา 10,000 บาท ผู้ต้องหาได้ให้หมายเลขบัญชีธนาคาร ให้กับผู้เสียหายโอนเงินให้เป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินจำนวน 3,500 บาท เป็นค่ามัดจำ ต่อมาก็ได้โอนอีกส่วนที่เหลือจำนวน 6,500 บาท ไปเข้าบัญชีผู้ต้องหา หลังจากนั้นผู้เสียหายได้สอบถามกับทางร้านว่าสามารถต่อปิคอัพ(เครื่องขยายเสียง) เข้ากับกีตาร์ที่สั่งประกอบไปได้หรือไม่ ทางผู้ต้องหาแจ้งว่าทำได้ และได้ให้ที่อยู่จัดส่งของดังกล่าว หลังจากนั้นผู้เสียหายได้สอบถามว่าได้รับเครื่องขยายเสียงที่แจ้งไปแล้วหรือไม่ ผู้ต้องหาแจ้งว่าได้รับแล้ว หลังจากนั้นผู้เสียหายได้สอบถามเรื่องการประกอบกีต้าร์เรื่อยมา ก็ได้รับการบ่ายเบี่ยงเรื่อยมาโดยตลอดจนต่อมาผู้เสียหายเชื่อได้ว่าได้ถูกผู้ต้องหาหลอกหลวง เอาเงินได้รับความเสียหาย
.
ในชั้นการจับกุมผู้ต้องหาให้การรับสารภาพว่า ผู้ต้องหาได้เปิดเพจ Facebook เพื่อรับประกอบกีตาร์ขาย รับซ่อมกีตาร์จริง โดยมีลูกค้าเข้ามาติดต่อเพื่อให้ผู้ต้องหาทำกีตาร์ ,ทำสีกีตาร์ เป็นจำนวนมาก ต่อมาผู้ต้องหาได้ประสบปัญหาทางด้านการเงิน ทำให้ไม่สามารถหมุนเงินในการปรกอบธุรกิจได้ทัน จึงไม่ได้มีการผลิตกีตาร์ส่งให้กับผู้เสียหายได้ทันเวลา จึงผู้ต้องหาแจ้งว่าซึ่งรวมเป็นเงินที่เอาจากผู้เสียหายรวม 100 กว่าราย เป็นจำนวนเงินประมาณ 600,000 บาท หลังจากนั้นได้นำตัวส่งพนักงานสอบสวน สน.ห้วยขวาง เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
.
พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ กล่าวว่า บุคคลดังกล่าวนับเป็นภัยสังคมในโลกออนไลน์ หลอกคนเป็นจำนวนมาก ขอให้ประชาชนใช้ชีวิตอย่างมีสติ โดยเฉพาะการซื้อของในโลกออนไลน์นั้น ควรเลือกซื้อของจาก Official store หรือแพลตฟอร์มที่ไว้ใจได้ อย่างเช่น Shoppee, Lazada ที่ต้องมีการลงทะเบียนร้านค้าโดยใช้ข้อมูลจริง ตรวจสอบบัญชีผู้โอน ราสามารถสืบประวัติของผู้ขายเบื้องต้น โดยนำเลขที่บัญชีหรือชื่อของผู้ขายไปค้นหาบน Google เพื่อที่จะหาประวัติว่าเคยมีคนโพสต์เกี่ยวกับการฉ้อโกงในการซื้อของหรือไม่ เก็บหลักฐานการโอนเงินไว้เสมอ เพื่อเป็นการยืนยันว่าเราได้ชำระเงินซื้อสินค้านั้นอย่างถูกต้อง สลิปการโอนหรือแม้กระทั่งข้อความในแชทที่มีการสั่งซื้อสินค้า ถือได้ว่าเป็นข้อมูลสำคัญ โดยเฉพาะชื่อ – นามสกุล, เลขบัญชีของผู้ขาย, เบอร์ติดต่อ ฯลฯ ซึ่งหากมีปัญหาในการสั่งสินค้าขึ้นมา หลักฐานเหล่านี้จะมีประโยชน์ในการดำเนินการทางด้านกฎหมายได้