15/11/2024

สภาเอสเอ็มอีเข้าพบรองนายกรัฐมนตรี เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาและยกระดับศักยภาพ SMEs

สภาเอสเอ็มอีเข้าพบรองนายกรัฐมนตรี เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาและยกระดับศักยภาพ SMEs

 

10 ตุลาคม 2567 คุณสุปรีย์ ทองเพชร ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (สภาเอสเอ็มอี) พร้อมด้วย คุณชนพงษ์ รุ่งกิจวัฒนกุล รองประธานอาวุโส คุณรมนต์อร บุญเรือง เลขาธิการ และคณะกรรมการบริหาร เข้าพบท่านประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งได้รับมอบหมายจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี มาหารือในการประชุมครั้งนี้ ณ ห้องประชุม 302 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล

คุณสุปรีย์ นำเสนอว่าประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในปัจจุบัน เกิดจากการนิยามและการจำแนกประเภทของ SMEs ที่ไม่ชัดเจน ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ส่งผลให้ความช่วยเหลือที่ภาครัฐส่งลงมาช่วย SMEs ไปไม่ถึง SMEs ดังนั้น จึงเสนอให้มีการยกร่างกฎหมายให้เกิดการรวมตัวของผู้ประกอบการ SMEs ในรูปแบบ พระราชบัญญัติสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ที่เป็นกฎหมายใหม่ซึ่งสภาเอสเอ็มอีได้เตรียมร่างเอาไว้แล้ว และกำลังมีกระบวนการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นโดยการรับฟังความเห็นจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เช่น ภาคีเครือข่ายที่เป็นตัวแทนของคลัสเตอร์ธุรกิจต่าง ๆ ตัวแทนจังหวัด นักวิชาการ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ สภาเอสเอ็มอีปรับโครงสร้างการบริหารโดยเพิ่มด้านเศรษฐกิจอัจฉริยะ เข้ามาเพื่อส่งเสริมและยกระดับความสามารถของ SMEs ด้านดิจิทัลทั้งระบบนิเวศ (Digital Ecosystem) ให้สอดรับกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ซึ่งการค้าบนโลกออนไลน์นั้น การสร้างอัตลักษณ์หรือแบรนดิ้ง (Branding) ให้กับสินค้านั้นมีความจำเป็นอย่างมาก มิฉะนั้นก็จะถูกลอกเลียนแบบและแทนที่ได้โดยง่าย ส่งผลให้ SMEs ไม่สามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง และยั่งยืน

จากสถานการณ์ภัยคุกคามจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติในปัจจุบัน สภาเอสเอ็มอีเสนอว่าไทยควรจะมีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของประเทศ (National Platform) โดยนำ Thailand Post Mart กลับมาปรับปรุงและใช้งานให้มีประสิทธิภาพประสิทธิผลมากขึ้น เนื่องจากมีจุดแข็งที่เครือข่ายของไปรษณีย์ไทยมีอยู่ในทุกอำเภอทั่วประเทศ มีเครือข่ายโลจิสติกส์ที่เข้มแข็งที่สุดในประเทศ พนักงานมีความชำนาญในพื้นที่ ฯลฯ ที่มีความได้เปรียบกว่าแพลตฟอร์มข้ามชาติ สภาเอสเอ็มอีและสมาคมสายเทคโนโลยีพร้อมเข้ามาช่วยในการพัฒนาได้

ดร.สุทัด ครองชนม์ รองประธานสภาเอสเอ็มอี และนายกสมาคมไทยไอโอที (Thai IoT) นำเสนอแนวทางการนำเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตประสานสรรพสิ่ง (IoT) มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจ SMEs โดยเฉพาะภาคการผลิต ซึ่งสามารถนำเทคโนโลยีมาลดต้นทุนในกระบวนการผลิตได้ อีกทั้งยังสามารถปรับปรุงจากโรงงาน 2.0 เป็นโรงงาน 4.0 ได้ ด้วยงบประมาณที่ไม่สูงมาก จึงอยากเสนอให้ท่านพิจารณางบประมาณโครการดังกล่าวลงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

คุณอนุสรณ์ ลัภนะก่อเกียรติ รองประธานอาวุโสสภาเอสเอ็มอี และประธานกรรมการบริหารสมาคมเทคโนโลยีดิจิทัล ให้ข้อมูลว่า ในแต่ปีมีผู้ประกอบการในระบบจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 7-8 หมื่นราย ขณะที่มีการจดทะเบียนเลิกกิจการ 2 หมื่นราย สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจ SMEs นั้นขาดศักยภาพในการเติบโต สอดคล้องกับข้อมูลที่พบว่ามีผู้ประกอบการขนาดเล็ก (S) จำนวน 860,000 ราย ขณะที่มีผู้ประกอบการขนาดกลาง (M) เพียง 40,000 ราย หมายความว่า มี SMEs รายเล็กจำนวนน้อยมากที่สามารถเติบโตไปเป็นขนาดกลางได้ ทั้งนี้ ที่มาของรายได้จะประกอบไปด้วย B2G, B2B, และ B2C ซึ่งภาครัฐจะสามารถเข้ามาช่วย SMEs ได้ด้วยการให้แต้มต่อกับ SMEs จากช่องทาง B2G ผ่านโครงการ SME-GP

ในภาพรวมของผู้ประกอบการรายย่อย (Micro) ถึงรายเล็ก (Small) ประกอบไปด้วย
1. Skill ให้องค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เป็น Specialize ของแต่ละกิจการ
2. Tool เครื่องมือในการประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจปัจจุบัน
3. Financial การเข้าถึงแหล่งเงินทุนภายใต้เงื่อนไขที่ผ่อนปรน

คุณสุปรีย์ สรุปแนวทางการพัฒนายกระดับ SMEs ดังนี้
1. ให้ความช่วยเหลือเป็นองค์รวมแบบ Supplier to Business to Customer (S2B2C) ที่ประสบความสำเร็จในจีน โดยต้องมีความพร้อมและพัฒนาทั้งระบบนิเวศ (Ecosystem) ด้านอีคอมเมิร์ซ ไลฟ์คอมเมิร์ซ และโลจิสติกส์
2. จูงใจให้ธุรกิจนอกระบบกว่า 2 ล้านกิจการ ให้เข้ามาอยู่ในระบบ (ปัจจุบันในระบบมีอยู่ประมาณ 1 ล้านราย)

ท่านรองนายกรัฐมนตรี ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันกำลังอยู่ในกระบวนการยกร่างกฎหมายไปรษณีย์ไทยที่มีมาแล้วเกือบ 100 ปี ทั้งนี้ เห็นด้วยกับแนวทางการนำแพลตฟอร์มของไปรษณีย์มาปรับปรุงและนำเอาสินค้า SMEs มาเสริมในแพลตฟอร์มดังกล่าว ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ให้นโยบายกับ สสว. ไว้เรื่องการปรับเปลี่ยน SMEs จากอุตสาหกรรมโลกเก่าไปเป็นอุตสาหกรรมโลกใหม่ การปิดช่องว่างของซัพพลายเชน และการนำเอา Soft Power มาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ดังนั้น ท่านรองนายกได้กล่าวสรุปการหารือครั้งนี้
1. นำเรื่องที่หารือกันในวันนี้เข้าที่ประชุมบอร์ด สสว. โดยเชิญผู้บริหารไปรษณีย์ไทยและสภาเอสเอ็มอีเข้าร่วมรับฟังด้วย
2. จัดกิจกรรม Workshop โดยแบ่งวงย่อยประมาณ 3-4 กลุ่ม เพื่อหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องในแต่ละหัวข้อ อาทิ ภัยคุกคามจากต่างชาติ, ปัญหาและอุปสรรค, กฎหมาย SMEs และ ระบบนิเวศ (Ecosystem)

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป