25/12/2024

“ดร.กอบกฤตย์” รับเชิญ “กสทช.” ร่วมเสวนา “ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพการเข้าถึงดิจิทัล”

3059721_0

“ดร.กอบกฤตย์” รับเชิญ “กสทช.” ร่วมเสวนา “ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพการเข้าถึงดิจิทัล”

 


ในงาน “สัมมนาการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการเข้าถึงดิจิทัล ผ่านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม”ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร ได้รับเชิญจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ร่วมเสวนาหัวข้อ “การขับเคลื่อนการเข้าถึงดิจิทัลของคนทุกคนกับแนวคิด Inclusive Design และ Assistive Technology” ภายในงานสัมมนาที่ จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ โรงแรมอมารี หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ในการเข้าถึงดิจิทัล พร้อมเผยโครงการพัฒนา AI เพื่อช่วยเหลือผู้พิการทางหูและตา ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

งานสัมมนาได้รับเกียรติจาก นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช. ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน, ดร.ฉันทพัทธ์ ขำโคกกรวด นักวิชาการนโยบายและแผนเชี่ยวชาญพิเศษ และผู้เชี่ยวชาญจากหลายองค์กรที่มา ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมฟังอย่างคับคั่ง

งานเริ่มต้นด้วยการกล่าวรายงานโดย ดร.ฉันทพัทธ์ ขำโคกกรวด ตามด้วยการกล่าวเปิดงานโดย นายต่อพงศ์ เสลานนท์ ซึ่งได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “Digital Inclusion | สิทธิของทุกคนในการเข้าถึงดิจิทัล ผ่านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม”

ในการเสวนาหัวข้อ “การขับเคลื่อนการเข้าถึงดิจิทัลของทุกคนกับแนวคิด Inclusive Design และ Assistive Technology” ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร นายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ร่วมเสวนากับดร.ตรี บุญเจือ, นายณัฐพล ราธี และนางสาวปนัดดา ประสิทธิเมกุล ซึ่งได้มีการแบ่งปันความคิดเห็นและประสบการณ์ในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการเข้าถึงของทุกคน

ดร.กอบกฤตย์กล่าวว่า ปัญญาประดิษฐ์ถือเป็นเมกะเทรนด์ของโลก โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลดิจิทัลเพิ่มขึ้นถึง 100 เท่า พร้อมกับการพัฒนาเครื่องมือคำนวณและโมเดล AI ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Chat GPT ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงข้อมูลและแปลงข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่สามารถนำไปใช้งานได้

“AI เป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยเหลือผู้พิการในหลายด้าน เช่น การแปลงข้อความเป็นเสียงหรือภาพ เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาสามารถเข้าใจเนื้อหาได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ ยังสามารถแปลงข้อความเป็นภาษามือและสร้างซับไตเติ้ลให้กับวิดีโอได้อีกด้วย” ดร.กอบกฤตย์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ดร.กอบกฤตย์ยังกล่าวถึงความท้าทายในการพัฒนา AI สำหรับผู้พิการ โดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานและข้อมูลที่จำเป็นในการสร้างระบบ AI ที่มีประสิทธิภาพ “ปัญหาหลักอยู่ที่เรายังขาดมาตรฐานที่ชัดเจนในการสื่อสารและการจัดเตรียมข้อมูลเพื่อสอน AI ทำให้เราจำเป็นต้องพัฒนาคลังข้อมูลที่หลากหลายและถูกต้อง”

งานเสวนาในครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพการเข้าถึงดิจิทัลและสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทุกกลุ่มในสังคมไทย

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป