25/12/2024

‘ประเสริฐ’ เผย 2 เดือน ‘ดีอี’ ปิดแพลตฟอร์ม ‘ปลอมโครงการเติมเงิน 10,000 บาท’ ได้แล้วถึง 312 บัญชี เร่งกวาดล้าง ‘โจรออนไลน์’ สร้างข้อมูลเท็จ หลอกลวงประชาชน

S__721819

‘ประเสริฐ’ เผย 2 เดือน ‘ดีอี’ ปิดแพลตฟอร์ม ‘ปลอมโครงการเติมเงิน 10,000 บาท’ ได้แล้วถึง 312 บัญชี เร่งกวาดล้าง ‘โจรออนไลน์’ สร้างข้อมูลเท็จ หลอกลวงประชาชน
– – – – – – –

 

วันที่ 4 ตุลาคม 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย (Anti Fake New Center หรือ AFNC) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินสถานการณ์การกระทำที่เข้าข่ายการก่ออาชญากรรมออนไลน์ พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม – 30 กันยายน 2567 ได้ดำเนินการประสานปิดกั้นแพลตฟอร์ม “ทางรัฐ” และ ‘โครงการเติมเงิน 10,000 บาท’ ปลอม แล้ว 312 บัญชี โดยแบ่งเป็น บัญชี Facebook จำนวน 297 บัญชี และบัญชี Tiktok จำนวน 15 บัญชี พร้อมเฝ้าระวังการกระทำความผิดอย่างต่อเนื่อง


.
ขณะเดียวกันยังพบว่า มิจฉาชีพใช้วิธีการหลอกลวงประชาชน ส่งข่าวปลอม และข้อมูลอันเป็นเท็จ และบิดเบือน โดยแอบอ้างโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ของรัฐบาล ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานเติมเงินให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบางที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และบัตรประจำตัวผู้พิการ อยู่อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพบกรณีข่าวปลอม ที่ได้รับความสนใจ และมีการส่งต่อข้อมูลเป็นจำนวนมาก อาทิ “ผู้พิการที่ทำบัตรผู้พิการหลัง 31 สิงหาคม 2567 จะไม่ได้รับสิทธิ์เงินดิจิทัล 10,000 บาท” และ “รัฐบาลเปิดให้ลงทะเบียนเงินดิจิทัลวอลเล็ตใหม่ สำหรับคนที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนสามารถลงทะเบียนได้ที่ ธ.ออมสิน ธกส. และกรุงไทย” เป็นต้น


.
สำหรับข่าวปลอมดังกล่าวข้างต้น ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่าทั้งหมดเป็น “ข้อมูลเท็จ” โดยประเด็นเรื่องของสิทธิ์ผู้พิการในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ขยายเวลาลงทะเบียนให้กับคนพิการทุกคนทั่วประเทศ จนถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2567 โดยเพื่อที่จะให้ผู้พิการทุกคนได้รับสิทธิ์ในการรับเงิน 10,000 บาท
.
ในส่วนการเปิดให้ประชาชนทั่วไปลงทะเบียนใหม่ในโครงการลงทะเบียนเงินดิจิทัลวอลเล็ต ขณะนี้รัฐบาลยังไม่ได้มีการเปิดให้ลงทะเบียนเพิ่มเติมผ่านธนาคารของรัฐแต่อย่างใด


.
“กระทรวงดีอีได้ดำเนินมาตรการบังคับใช้กฎหมาย ดำเนินคดีร้องทุกข์กล่าวโทษกับผู้ที่นำข้อมูลเท็จ ข้อมูลบดเบือน ไม่เป็นความจริง เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ จำนวน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ข่าวปลอมเรื่อง ‘ประกาศยกเลิกการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท แล้ว’ โดยดำเนินการประสานข้อมูลร่วมกับกระทรวงการคลัง และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) , 2.ข่าวปลอมเรื่อง ‘การโหลดแอปพลิเคชันยืนยันตัวตนรับเงินดิจิทัลวอลเล็ต ทำให้ถูกดูดเงินหมดบัญชี และเรื่องมีการติดต่อจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์จำนวนมาก หลังจากที่ลงทะเบียนแอปพลิเคชันทางรัฐ’ โดยดำเนินการประสานข้อมูลร่วมกับ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หรือ DGA , 3.ข่าวปลอมเรื่อง ‘มีการติดต่อจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์จำนวนมาก หลังจากที่ลงทะเบียนแอปพลิเคชันทางรัฐ’ ซึ่งได้มีการพิจารณาดำเนินคดี โดยร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เพื่อดำเนินการต่อไป” นายประเสริฐ กล่าว
.
นายประเสริฐ กล่าวว่า กระทรวงดีอีห่วงใยพี่น้องประชาชนต่ออันตราย และความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโจรออนไลน์ ซึ่งได้อาศัยการเผยแพร่ข่าวปลอมและข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวข้องกับ ‘โครงการเติมเงิน 10,000 บาท’ และการใช้งานแอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ ซึ่งขณะนี้กระทรวงฯ ได้ทำการปิดกั้นแพลตฟอร์มปลอม พร้อมกับการตรวจสอบข่าวปลอม และข้อมูลบิดเบือนที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับดำเนินการตามกฎหมายอย่างถึงที่สุด โดยถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรง เนื่องจากส่งผลกระทบต่อ ประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง และขอให้ประชาชน ยึด ‘หลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน’ พร้อมกับไม่แชร์ข้อมูลที่บิดเบือนในทุกช่องทางสังคมออนไลน์

/////////////////////////////

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป