25/12/2024

ACD มั่นใจวิสัยทัศน์นายกฯของคนไทยย้ำบทบาทไทยในเวที ACD จะสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคและส่งเสริมสันติภาพ พร้อมผลักดันวาระ “ศตวรรษแห่งเอเชีย”

S__713275

ACD มั่นใจวิสัยทัศน์นายกฯของคนไทยย้ำบทบาทไทยในเวที ACD จะสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคและส่งเสริมสันติภาพ พร้อมผลักดันวาระ “ศตวรรษแห่งเอเชีย”

 

วันนี้ (พฤหัส ที่ 3 ตุลาคม 2567) เวลา 10.30 น. เวลาท้องถิ่นกรุงโดฮา หรือเวลา 14.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย ณ โรงแรม Ritz-Carlton Doha กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมระดับผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue: ACD) ครั้งที่ 3 และขึ้นกล่าวแสดงวิสัยทัศน์ ท่ามกลางผู้นำประเทศสมาชิก 35 ประเทศ
โดยนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณ เจ้าภาพกาตาร์ ที่ต้อนรับอย่างอบอุ่น และกล่าวถึงความสำเร็จของการจัดการประชุม ACD ครั้งที่ 3 ภายใต้หัวข้อ “การทูตผ่านกีฬา” (Sports Diplomacy) ซึ่งชี้ให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของการใช้การกีฬา ที่สามารถเชื่อมความแตกต่างและเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของโลก ซึ่งความสำเร็จจากการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกของกาตาร์ เมื่อปี 2022 เป็นตัวอย่างที่สำคัญและแนวคิดนี้สอดคล้องกับจุดยืนของประเทศไทยที่จะะส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก

ส่วนในประเด็นสถานการณ์ความตึงเครียดที่ทวีความรุนแรงขึ้นในภูมิภาค ประเทศไทยมีความกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายลง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์ และด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับประชาคมระหว่างประเทศ ไทยขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งใช้ความระมัดระวังอย่างที่สุด และขอให้ยุติการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ทั้งหมดโดยทันที เพื่อปกป้องโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือน และปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและกฎบัตรสหประชาชาติ

นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงบทบาทสำคัญของ ACD ท่ามกลางสถานการณ์โลกปัจจุบันที่กำลังเผชิญกับความท้าทายที่ซับซ้อนและต้องการการแก้ไข เช่นความขัดแย้งทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ในฐานะผู้นำของประเทศไทย ซึ่งมีหน้าที่นำพาและสร้างความร่วมมือเพื่อเสถียรภาพและการเติบโตของประเทศ และในภูมิภาคอาเซียน ขณะเดียวกัน ศตวรรษที่ 21 นี้ได้ถูกกล่าวขานว่าเป็น “ศตวรรษแห่งเอเชีย” และเอเชียมีประชาชนกว่าร้อยละ 60 ของประชากรโลกอีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจ พลังงาน และความมั่นคงทางอาหารของโลก เปรียบเสมือน “แหล่งพลังงาน” และ “ครัวของโลก“

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไป ว่า ประเทศไทยมีจุดแข็งด้านการเกษตรและอาหาร ซึ่งสำคัญต่อเศรษฐกิจและการตอบสนอง ต่อความต้องการอาหารทั่วโลก และประเทศไทยเห็นว่าการประชุมในครั้งนี้สมาชิก ACD จะได้ร่วมมือกันเพื่อเสริมสร้างเครือข่ายทางการค้า และปรับมาตรฐานให้สอดคล้องกัน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในห่วงโซ่อุปทานอาหารโลก โดยประเทศไทยอยู่ในภูมิศาสตร์ที่สำคัญ สามารถเป็นประตูสู่การเชื่อมต่อในโลกตะวันออก กับโลกตะวันตกได้เป็นอย่างดี รัฐบาลไทยจึงได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการคมนาคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาการขนส่งทางบก การขนส่งทางราง และทางน้ำให้ทันสมัยยิ่งขึ้น และยังพร้อมเพิ่มสนามบินใหม่ๆและพัฒนาศักยภาพสนามบินที่มีอยู่เพื่อรองรับทั้งผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้าต่างๆ ทั้งนี้ประเทศไทยขอเชิญชวน ประเทศสมาชิก ACD มาร่วมกันพัฒนาเส้นทางการค้าใหม่ ๆ เพื่อเชื่อมต่อและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วทั้งเอเชียในฐานะที่เอเชียเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลก

ปัจจุบันบทบาทของ ACD มีความสำคัญมากขึ้น โดยเป็นกรอบความร่วมมือระดับทวีปแห่งแรกและแห่งเดียวของเอเชีย ซึ่งรวมภูมิภาคต่าง ๆ ที่หลากหลายเข้าด้วยกัน นายกรัฐมนตรีมุ่งหวังที่จะสานต่อแนวคิดนี้ในการดำรงตำแหน่งประธาน ACD ในวันที่ 1 มกราคม 2568 นี้โดยเล็งเห็นว่า ACD จะเป็น “เวทีหารือของเอเชีย” (converging forum of Asia) และเน้นย้ำว่า ไทยในฐานะผู้เป็นสะพานเชื่อม ACD มุ่งหวังที่จะทำงานร่วมกับทุกประเทศสมาชิก เพื่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ทั้งนี้ ในการเป็นประธาน ACD ของไทยในต้นปีหน้านี้ ประเทศไทยจะขับเคลื่อการทำงานภายใต้การขับเคลื่อนในกรอบ 6 เสาความร่วมมือ (pillar of cooperation ) กันอย่างมียุทธศาสตร์ ผนวกกับความร่วมมือของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอื่น ได้แก่ ASEAN GCC (Gulf Cooperation Council: GCC) BRICS CICA และ SCO เพื่อร่วมกันสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจโลก

นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงความสำคัญของการทบทวน สถาปัตยกรรมทางการเงิน โดยบทเรียนจากประสบการณ์ในอดีตจากวิกฤตการเงิน ทำให้เห็นถึงความสำคัญของการมีระบบการเงินที่มีความสมดุลและยืดหยุ่น ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะสร้าง “สถาปัตยกรรมการเงินที่สมดุล” ที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งภายใต้การเป็นประธาน ACD ในปีหน้า ประเทศไทยจะจัดการประชุมเพื่อพิจารณาการพัฒนาสถาปัตยกรรมทางการเงิน

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณรัฐกาตาร์ที่เป็นเจ้าภาพการประชุม และสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านในการทำหน้าที่อย่างแข็งขันในฐานะประธานการประชุมปีนี้ พร้อมแสดงความยินดีที่ได้ร่วมงานกับเลขาธิการ ACD คนใหม่ โดยการประชุมนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นร่วมกันของ ACD ที่พร้อมร่วมมือกัน มากกว่าการแข่งขันและความขัดแย้ง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศของสมาชิก ACD และยกระดับชีวิตประชาชนหลายล้านคน นำไปสู่การฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ในฐานะที่ประเทศไทยจะเป็นประธานในปีหน้า ไทยมุ่งมั่นที่จะผลักดันวาระของ ACD เพื่อสร้างเอเชียที่แข็งแกร่งและเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น พร้อมกับเน้นความร่วมมือเพื่อทำให้ศตวรรษนี้เป็น “ศตวรรษแห่งเอเชีย” อย่างแท้จริง โดยมี ACD เป็น “เวทีหารือแห่งเอเชีย”(Forum of Asia) ที่พร้อมจะร่วมกันผลักดัน “วาระของเอเชีย” (Asia’s agenda) ต่อไปให้ก้าวหน้า เพื่อการพัฒนาที่สำคัญของประเทศสมาชิกต่อไปนายจิรายุกล่าว

อนึ่ง กรอบ ACD มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อน 6 เสาความร่วมมือ (pillar of cooperation) ได้แก่ (1) ตุรกีและรัสเซีย เป็นประธานร่วมคณะทำงานด้านความเชื่อมโยง (2) อินเดียเป็นประธานคณะทำงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (3) อิหร่านเป็นประธานคณะทำงานด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (4) จีนเป็นประธานคณะทำงานด้านความเชื่อมโยงระหว่างความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน และน้ำ (5) อิหร่านเป็นประธานคณะทำงานด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว (6) ไทยเป็นประธานคณะทำงานด้านการส่งเสริมแนวทางไปสู่การพัฒนาอย่างทั่วถึงและยั่งยืน โดยประธานของแต่ละคณะทำงานมีภารกิจในการจัดประชุมเพื่อหารือ และจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือโดยประธานคณะทำงานดังกล่าวมีวาระ 1 ปี และต้องสรรหาใหม่ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนประธาน ACD ทั้งนี้ ประเทศสมาชิก ACD อยู่ระหว่างการพิจารณาจัดตั้งเสาความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป