24/12/2024

สืบนครบาล รวบ บัญชีม้าแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกเป็นตำรวจ สภ.ดอนตาล ขู่ว่าเกี่ยวข้องการฟอกเงินให้โอนเงินไปตรวจสอบ สูญเงินกว่าเเสนบาท

IMG_8876

สืบนครบาล รวบ บัญชีม้าแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกเป็นตำรวจ สภ.ดอนตาล ขู่ว่าเกี่ยวข้องการฟอกเงินให้โอนเงินไปตรวจสอบ สูญเงินกว่าเเสนบาท
ตามนโยบายของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ,พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร.
พล.ต.อ. ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร.,พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร.ให้ปราบปรามกลุ่มเครือข่ายองค์กรอาชญากรรมที่กระทำความผิดทุกรูปแบบซึ่งสร้างความเดือนร้อนให้กับประชาชนผู้สุจริตจำนวนมาก
.
เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2567

พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น.,พ.ต.อ.เกียรติศักดิ์ สระทองออย ,พ.ต.อ.อิสเรศ ปาลาพงศ์ รอง ผบก สส.บช.น., พ.ต.อ.อรรชวศิษฏ์ ศรีบุณยมานนทน์ ผกก.สส.3 บก.สส.บช.น., พ.ต.ท.ปกรณ์ ทองช่วง รอง ผกก.สส.3 บก.สส.บช.น. พ.ต.ท.สัญญลักษ์ สังขะภักดี สว.กก.สส.3ฯ ได้สั่งการให้ ร.ต.อ.เฉลิมเกียรติ สมบัติปัน รอง สว.กก.สส.3ฯ พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.สส.3บก.สส.บช.น. ( ชุดปฏิบัติการที่ 3/1) ดำเนินการได้ทำการจับกุมตัว

นางสาวสุนทรี อายุ 42 ปี ที่อยู่ 54/2 หมู่ที่ 4 ต.บางใหญ่ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ตามหมายจับศาลอาญามีนบุรี ที่ จ.1262/2567 ลงวันที่ 16 กันยายน 2567
โดยกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนและโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือความ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน เปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของตนโดยไม่ได้มีเจตนาใช้เพื่อตนหรือเพื่อกิจการที่ตนเกี่ยวข้องโดยประการที่รู้คือควรรู้ว่าจะนำไปใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดทางอาญาอื่นใด”
จับกุมที่หน้าบ้าน ม.11 ต.บางนมโค อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา
.
พฤติการณ์การกระทำความผิด เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2567 ขณะผู้เสียหายอยู่บ้านที่เกิดเหตุ ได้มีโทรศัพท์หมายเลข 0944351697 โทรเข้ามาหาผู้เสียหาย อ้างว่า เป็นเจ้าหน้าที่ ทรูมูฟเอชแจ้งว่า
ชื่อและบัตรประชาชนของผู้เสียหายถูกนำไปเปิดบัญชีธนาคารกรุงไทย ซึ่งเปิดเป็นบัญชีม้า จึงได้โอนสายให้ผู้เสียหายไปพูดคุย กับบุคคลที่อ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ ตร. สภ.ดอนตาล
จว.มุกดาหาร ผู้เสียหายจึงได้พูดคุยแจ้งว่า มีคนแอบอ้างผู้เสียหาย ไม่ได้เปิดบัญชี และไม่มีบัญชีธนาคารกรุงไทยแต่อย่างใด
บุคคลที่อ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ ตร. สภ.ดอนตาล แจ้งให้เปลี่ยนมาพูดคุยทางไลน์ บุคคลที่อ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ ตร.
สภ.ดอนตาล ได้แอดไลน์ของผู้เสียหาย โดยเป็นไลน์ชื่อว่า “สถานีตำรวจภูธรดอนตาล” เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ดอนตาล
เข้ามาพูดคุย ผู้เสียหายจึงได้พูดคุย ซึ่งทางไลน์ดังกล่าว อ้างเป็น ผู้กำกับการ แจ้งว่า ได้จับตัวผู้ต้องหา และอ้างว่าผู้ต้องหาให้การว่า ได้ซื้อบัญชีดังกล่าวมาจากผู้เสียหาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน
หลังจากนั้นขอตรวจสอบเงินในบัญชีของผู้เสียหายทั้งหมด เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ จึงขอตรวจสอบเงินที่ผู้เสียหายมีอยู่ ณ ปัจจุบันนั้น เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ต้องหาฟอกเงินหรือไม่ อย่างไร ผู้เสียหายจึงแจ้งไปว่าผู้เสียหายมีบัญชีอะไรบ้าง
.
หลังจากนั้น ไลน์ดังกล่าวจึงแจ้งไปว่า ให้โอนเงินทั้งหมดไปตรวจสอบ
ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงได้โอนเงินไปบัญชีมิจฉาชีพดังกล่าว รวมเป็นเงินจำนวน 106,482.25 บาท ต่อมา เมื่อโอนเงินไปแล้ว และรอว่าจะได้รับโอนเงินคืน ประมาณ 20-30 นาที
ผู้เสียหายรู้สึกว่าน่าจะถูกหลอกลวงและไปตรวจสอบข้อความที่พูดคุยทางไลน์ พบว่าบางส่วนถูกลบ จึงเชื่อว่าถูกหลอกลวง ทำให้ผู้แจ้งได้รับความเสียหาย จึงมาร้องทุกข์มอบคดีต่อพนักงานสอบสวน
ให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด เพื่อให้รับโทษตามกฎหมายต่อไป จนกว่าคดีจะถึงที่สุด
.
ในชั้นจับกุม ผู้ต้องหาให้การปฎิเสธว่า โดยแจ้งว่าเมื่อประมาณปี 2566 (ผู้ต้องหา) ได้เข้าเฟสบุ๊คของตนเอง ซึ่งได้เห็นโพสต์ประกาศว่า “หาคนรับจ้างเปิดซิม เปิดบัญชี ลงทุนขายของออนไลน์” ผู้ต้องหาเห็นว่าได้เงิน จึงได้ทักแชทพูดคุยสมัครไปทางเฟสบุ๊คที่ประกาศดังกล่าว จากนั้นจึงได้ทำบันทึกจับกุมและนำผู้ต้องหาส่งสถานีตำรวจนครบาล คันนายาว เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
.
ด้าน พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ขอฝากเตือนประชาชนถึงพฤติการณ์แก๊งคอลเซ็นเตอร์ กลโกงของคนร้าย จะโทรหาผู้เสียหายอ้างว่าโทรจากธนาคาร หรือไปรษณีย์ไทย หรือสรรพสามิต หรือเครือข่ายโทรศัพท์ และแจ้งเหยื่อว่า มียอดค้างชำระบัตรเครดิตบ้าง ไปเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดบ้าง (ส่วนมากเหยื่อจะบอกว่าไม่รู้เรื่อง)
ต่อมาให้แอดไลน์ตัวละครที่ 2 อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ (สภ.,สน. ต่างๆ โดยใช้รูปโลโก้ไลน์เป็นรูปสถานีตำรวจ) เพื่อทำการตรวจสอบ เมื่อตรวจสอบแล้วจะอ้างว่าเหยื่อเกี่ยวข้องกับกระบวนการฟอกเงิน ให้เหยื่อโอนเงินที่มีไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ(ปลอม) เพื่อทำการตรวจสอบว่าเกี่ยวข้องกับกระบวนการดังกล่าวจริงหรือไม่ เมื่อเหยื่อโอนเงินไปให้แล้วจะตัดการติดต่อ หรือไม่ก็จะให้หลอกให้โอนเงินไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็จะติดต่อไม่ได้ ข้อควรระวัง และแนวทางป้องกัน ถ้ามีการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ว่าจะสถานีใดก็ตาม ถ้าไม่มั่นใจ ให้โทรไปหา หน่วยงานนั้นโดยตรง อาจจะค้นหาเบอร์จาก Google หรือ โหลดแอพพลิเคชั่น Police Phonebook แล้วโทรไปสอบถามจากเจ้าหน้าที่โดยตรง ถ้าหากเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน หรือกระทำความผิดจริง ไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนให้โอนเงินไปให้ตรวจสอบ เพราะทางเจ้าหน้าที่สามารถติดต่อโดยตรงกับธนาคาร ให้ระงับ หรือตรวจสอบได้

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป