บึงกาฬ- มท.2 เปิดแข่งเรือยาวไทย-ลาวชิงถ้วยพระราชทานฯครั้งที่ 24
บึงกาฬ- มท.2 เปิดแข่งเรือยาวไทย-ลาวชิงถ้วยพระราชทานฯครั้งที่ 24
วันนี้14 ก.ย.ที่ถนนข้าวเม่าริมโขง อ.เมืองกาฬ จ.บึงกาฬ คร.ทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย เปิดการแข่งขันเรือยาวประเพณีไทย-ลาว ครั้งที่ 24 เพื่อชิงถ้วยรางวัลสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมี นายพิมาย คงทัน สว.บึงกาฬ ให้เกียรติร่วมงาน นายสยาม เพ็งทอง ส.ส.บึงกาฬ เขต.1 นายจุมพฏ วรรณฉัตรสิริ ผวจ.บึงกาฬ นางแว่นฟ้า ทองศรี นายก อบจ. นายราชันย์ วะนาพรม นายกเทศมนตรีเมืองบึงกาฬ หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พ่อค้า ประชาชน ให้การต้อนรับ
นายราชันย์ วะนาพรม นายกเทศมนตรีเมืองบึงกาฬ ได้กล่าวรายงานว่าการแข่งขันเรือยาวประเพณีไทย-ลาวครั้งที่ 24 วันนี้ โดยมีเรือในพื้นที่และต่างจังหวัด รวมทั้งเรือจากแขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว เข้าร่วมการแข่งขันระหว่าง วันที่ 13 -15 กันยายน 2567 มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามที่สืบทอดกันมายาวนาน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชนในท้องถิ่น และเชื่อมความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้านในลุ่มน้ำโขง โดยแบ่งเป็น 4 ประเภท คือ 1.การแข่งขันเรือยาว ขนาดกลาง 30 ฝีพาย ภายในจังหวัด 2.การแข่งขันเรือยาว ขนาดกลาง 30 ฝีพาย ทั่วไป (ชิงถ้วยพระราชทาน) 3.การแข่งขันเรือยาว ขนาดใหญ่ 50 – 55 ฝีพาย ภายในจังหวัด 4.การแข่งขันเรือยาว ขนาดใหญ่ 50 – 55 ฝีพาย ประเภททั่วไป(ชิงถ้วยพระราชทาน) นอกจากนี้ ในงานยังได้จัดให้มีกิจกรรมการจำหน่ายสินค้า OTOP และสินค้าหลากหลายทั้งของกินของใช้ โดยได้รับการสนับสนุนบูรณาการความร่วมมือการจัดงานจากส่วนราชการ ห้างร้าน พ่อค้า ประชาชน ชมรมธนาคารจังหวัดบึงกาฬ และ บุญมาทีวีอีกด้วย
ภายหลังพิธีเปิดงานบนเวทีกลาง ได้เดินทางไปยังจุดปล่อยเรือที่เตรียมไว้บนสันเขื่อนป้องกันตลิ่งพัง โดย ดร.ทรงศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวอีกครั้งว่า วันนี้ถือว่าเป็นอีกวันหนึ่งของคนบึงกาฬซึ่งเป็นจังหวัดติดอยู่กับแม่น้ำโขงมี 4 อำเภอที่ คือ อ.ปากคาด เมืองบึงกาฬ บุ่งคล้าและอ.บึงโขงหลง การแข่งเรือซึ่งเป็นประเพณีที่ดีทำต่อเนื่องกันมา กิจกรรมงานของคนรุ่มน้ำโขงก็จะมีการแข่งเรือยาว ซึ่งเป็นเรื่องของความสามัคคีและมีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวสำหรับปีนี้ก็เป็นการแข่งขันเรือยาว ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระขนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพฯ ซึ่งเป็นครั้งที่ 24 เปิดงานวันนี้เห็นพี่น้องส่วนใหญ่ก็คึกคักและก็มาร่วมงานกันอย่างเนืองแน่นก็เป็นวิถีของคนบึงกาฬ แล้วก็เป็นจุดแข็งอันดับ 1 ที่ผู้คนทั้งหลายจะมาเที่ยวจังหวัดบึงกาฬ เป็นจังหวัดน้องใหม่ที่ตั้งมาประมาณ 13 ปีเศษ และเป็นงานที่เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย จะเห็นว่าตัวเลขของการท่องเที่ยวปี 1 ก็ประมาณ 1 ล้านคน ลองคิดง่ายๆว่าค่าเฉลี่ยคนหนึ่งมาใช้จ่าย 3,000 บาทก็เอา 3,000 คูณ 1 ล้านคนก็จะเป็นเงิน 3,000 ล้านบาท ซึ่งงานแข่งเรือนี้เราก็จะทำต่อเนื่องทุกปีไป การแข่งขันเรือจริงๆแล้วมันจะมีเพื่อนบ้านเรามาร่วมแข่งขันด้วย แต่ปีนี้คงจะเป็นเรื่องมีน้ำเพิ่มขึ้นมาก ทางคณะกรรมการมีเจ้าหน้าที่ในการดูแลป้องกันให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงเป็นการแข่งขันเฉพาะจังหวัดบึงกาฬ ที่ผ่านมาเราจัดในช่วงเสาร์ที่ 2 ของกันยายนทุกปี เดี๋ยวนี้สนามแข่งเรือนี้เรามีความพร้อมมากมายทุกฤดูกาล เรามีเขื่อนป้องกันการสูญเสียดินแดน มีทั้งถนนมีทั้งแนวป้องกันตลิ่งพังและแลนด์มาร์ค ซึ่งก็จะสามารถแข่งขันเรือในร่องน้ำลึกของแม่น้ำโขงได้เลยไม่เหมือนเมื่อก่อนต้องรอน้ำเยอะเสียก่อนจึงจัดการแข่งขันในเดือนกันยายน เดี๋ยวนี้เราสามารถปรับเวลาเลื่อนออกไปเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวกลางเดือนตุลาคมหรือกลางเดือนพฤศจิกายนก็ได้ และก็จะจัดให้มันยิ่งใหญ่มากขึ้นจะเป็นเรื่องขององค์การบริหารส่วนจังหวัดร่วมกับเทศบาลจังหวัด ไม่ใช่เป็นงานท้องถิ่น คือเป็นงานของจังหวัดไปเลย กิจกรรมใดที่จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ เพราะเรามีพื้นที่รองรับการจัดการงานได้ เช่นการจัดแข่งขันเจ็ตสกียังทำได้ แต่ต้องนึกถึงความปลอดภัยหัวใจของการท่องเที่ยวก็คือการเข้าถึงได้ง่าย สวยงามและปลอดภัยนั่นเอง.
ณฐพรหม อิทธิพัทธ์พล//บึงกาฬ รายงาน