22/12/2024

สงขลา-เกษตรกรชาวสวนยางเมืองสงขลา ปลูกผักเหลียงร่วมยางสร้างรายได้หลักแสนเลี้ยงครอบครัว ซึ่งรายได้ผักเหลียงมากกว่ายางพารามากว่า 10 ปี ไม่หวั่นแม้ราคายางตกต่ำ

q1_0

สงขลา-เกษตรกรชาวสวนยางเมืองสงขลา ปลูกผักเหลียงร่วมยางสร้างรายได้หลักแสนเลี้ยงครอบครัว ซึ่งรายได้ผักเหลียงมากกว่ายางพารามากว่า 10 ปี ไม่หวั่นแม้ราคายางตกต่ำ

นายเมน และนางจรัสศรี เหมอารัญ สองสามีภรรยา เกษตรกรชาวสวนยาง บ้านทรายขาว ตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ร่วมกันเก็บยอดฝักเหลียงในสวนยางพาราของตนเองกว่า 4 ไร่ในพื้นที่บ้านทรายขาว หมู่ 7 ตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา สร้างรายได้มากกว่ายางพาราเลี้ยงครอบครัวมากว่า 10 ปี

 
สวนยางพาราของนายเมน เหมอารัญ มีประมาณ 4 ไร่ ครึ่ง แต่ราคายางไม่แน่นอนและนับวันราคายิ่งตก จึงมีแนวคิดหาพืชสักชนิดปลูกสร้างรายได้เสริมนอกจากการทำสวนยางพาราอย่างเดียว ประกอบกับได้ไปกินผักเหลียงที่จังหวัดชุมพร ซึ่งมีรสชาติดี อร่อยติดใจ เลยสนใจที่จะปลูก เมื่อปี 2551 จึงหาต้นพันธุ์ผักเหลียงมาปลูก จำนวน 200 ต้น ในพื้นที่สวนยางประมาณ 2 ไร่ โดยปลูกเป็นแนวระหว่างแถวยางพารา ระยะปลูก 3×3 เมตร หลังปลูก 3 ปี เริ่มเก็บยอดบริโภคและจำหน่ายได้ ผักเหลียงเป็นพืชที่น่าปลูก ทนทุกสภาพอากาศ การดูแลง่าย เติบโตได้ดีในสภาพร่มเงา เป็น พืชอายุยืน ไม่มีผลกระทบกับพืชหลัก ไม่มีศัตรูพืชรบกวน ไม่ต้องใส่ปุ๋ยอาศัยปุ๋ยจากการใส่สวนยาง จึงเหมาะกับการปลูกร่วมกับยางพารา ซึ่งตอนนี้ได้ปลูกผักเหลียงในสวนยางเต็มพื้นที่แล้วประมาณ 4 ไร่

 
ในช่วงเช้าหลังจากกรีดยางเสร็จแล้ว นายเมนและภรรยาจะช่วยกันเก็บผักเหลียง โดยจะเก็บ วัน เว้น วัน แต่ละครั้งเก็บประมาณ 120-150 มัดๆละ 70 ยอด บางครั้งลูกค้าสั่งมากถึง 200 มัด หลังจากเก็บแล้ว จะมีแม่ค้าประจำมารับที่บ้าน มัดละ 7 บาท ซึ่งจะมีรายได้จากการเก็บผักเหลียงขายประมาณ 800 – 1,000 บาทต่อวัน เดือนละประมาณ 15,000 บาท ตลอดปีรายได้จากการจำหน่ายผักเหลียงกว่าแสนบาท นอกจากนี้ยังตอนกิ่งพันธุ์ผักเหลียงจำหน่าย ในราคากิ่งพันธุ์ละ 35 บาท

 
นายเมน เหมอารัญ กล่าวทิ้งท้ายว่า ปลูกยางพารากว่า 7 ปี จึงสามารถเปิดกรีดทำเงินได้ 1 ปี สามารถกรีดยางสร้างรายได้แค่ประมาณ 6 เดือน แนวโน้มราคายางพาราลดลงเรื่อยๆ แต่ปลูกผักเหลียงแค่ไม่เกิน 3 ปี สร้างรายได้ รายวัน รายเดือน และรายปี มากกว่ายางพารา แม้เป็นพืชเสริมแต่สร้างรายได้หลักให้ครอบครัวมากกว่ายางพาราหลายเท่า จึงอยากแนะนำให้พี่น้องชาวสวนยางพาราหันมาปลูกผักเหลียงร่วมยางพารา และแปลงของตนก็เป็นแปลงเรียนรู้การเพิ่มรายได้โดยการปลูกผักเหลียงร่วมยางพาราของอำเภอเมืองสงขลาอีกด้วย

นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป