รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและจิตอาสา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและจิตอาสา
วันที่ 28 สิงหาคม 2567 คณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านคุณธรรม จริยธรรม จิตอาสาและสำนึกสาธารณะ เข้าหารือกับ พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในประเด็นการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและจิตอาสา ณ โรงแรมเอสดี อเวนิว บางพลัด กรุงเทพมหานคร
คณะอนุกรรมการฯ ที่เข้าร่วมหารือ ได้แก่
1. รศ. นพ. สุริยเดว ทรีปาตี หน.คณะและรองประธานฯ
2. นายมังกร หริรักษ์
3. นายสุภัทร จำปาทอง
4. นายคฑาวุธ สิทธิโชคสกุล
5. รองเลขาธิการสภาการศึกษา (นายธฤติ ประสานสอน)
6. ผู้อำนวยการกลุ่มงานจริยธรรม (นางรุจิรา สุนทรีรัตน์)
แผนปฏิบัติการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและจิตอาสา เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนคุณธรรมของสังคมอย่างเป็นระบบ ลดภาระการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อน ช่วยให้เกิดการบูรณาการทรัพยากร และการดำเนินงานที่สอดประสานกัน โดยมีผลลัพธ์ที่ต้องการ 3 ประการ คือ 1) คุณธรรมเป็นพฤติกรรมจับต้องได้ 2) ทำดีอย่างเป็นกิจวัตร และ 3) ทำดีด้วยหัวใจ ซึ่งบรรลุผลลัพธ์ดังกล่าวด้วยการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ 4 ด้าน คือ 1) เสริมสร้างคุณธรรมให้เป็นพฤตินิสัย 2) การสร้างนิเวศของการส่งเสริมคุณธรรม 3) นวัตกรรมส่งเสริมคุณธรรม และ 4) การพัฒนาสมรรถนะการส่งเสริมคุณธรรมสำหรับบุคลากรทางการศึกษาและศาสนา
การเข้าพบเพื่อหารือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและจิตอาสา มีเป้าหมายและทิศทางที่สอดรับกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการยิ่งขึ้นไป และผลักดันให้องค์กรหลักที่จัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการมีพลังร่วมในการขับเคลื่อนการส่งเสริมการศึกษาคุณธรรม จริยธรรม และจิตอาสาให้กับผู้เรียน
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้แนวทางการดำเนินงาน ดังนี้
1. มอบหมายให้ รศ. นพ. สุริยเดว ทรีปาตี เป็นแกนนำในการพูดคุยกับหน่วยงานต่างๆ ที่มีโครงการเกี่ยวกับคุณธรรมในโรงเรียน และบูรณาการเข้าด้วยกัน เพื่อลดความซ้ำซ้อน
2. ใช้นโยบายการทำงานแบบมีส่วนร่วม และอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
3. การสร้างนิเวศคุณธรรม ควรเริ่มต้นจากระดับเล็กส่วนบุคคล ครอบครัว โรงเรียน และสังคม ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการฯ ของคณะอนุกรรมการฯ เรื่อง ครอบครัว องค์กรทางศาสนา และโรงเรียน
4. ทุกคนมีหน้าที่เป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็กและสังคม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยรวม และการพัฒนาเด็ก ควรอยู่ภายใต้แนวคิด “กายดี จิตใจดี ปัญญาเกิด”
โดยทางคณะอนุกรรมการฯ และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จะนำแนวทางดังกล่าวไปสนับสนุนการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ ต่อไป