เชียงใหม่-กรมสุขภาพจิต พัฒนาศักยภาพผู้ดูแลเด็กและเยาวชนในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เขตสุขภาพที่ 1 และศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 7 เชียงใหม่
เชียงใหม่-กรมสุขภาพจิต พัฒนาศักยภาพผู้ดูแลเด็กและเยาวชนในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เขตสุขภาพที่ 1 และศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 7 เชียงใหม่
วันที่ 6 สิงหาคม 2567 เวลา 11.00 น. นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นประธานเปิดโครงการเสริมสร้างพลังใจ คืนเด็กไทยสู่สังคม สำหรับ ผู้ดูแลเด็กและเยาวชนในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เขตสุขภาพที่ 1, ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 7 เชียงใหม่/ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ พยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการสาธารณสุขสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด/โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปและหน่วยงานในสังกัดกรมสุขภาพจิต เขตสุขภาพที่ 1 จำนวน 50 คน โดยมี นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้ช่วยอธิบดีกรมสุขภาพจิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง ให้การต้อนรับและกล่าวรายงาน ณ ห้องประชุมนพเก้า โรงแรมดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่
นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สถานการณ์เด็กและเยาวชนกระทำความผิดเป็นสถานการณ์ที่พบได้ทั่วโลก จากรายงานขององค์การสหประชาชาติ ปี พ.ศ.2564 พบว่าในแต่ละปีมีเด็กและเยาวชนทั่วโลกกระทำความผิดประมาณ 10 ล้านคน สำหรับประเทศไทยพบว่าปี 2561–2565 การกระทำความผิดที่เกิดจากเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มลดลงร้อยละ 45.91 แต่กลับมีการถูกจับซ้ำในอัตราที่สูงขึ้นโดยเฉพาะ 3 ปีหลัง จากการถูกปล่อยตัวซึ่งสูงถึงร้อยละ 41 โดยคดีที่มีการจับกุมมากที่สุด 3 อับดับแรก ได้แก่ 1) ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ 2) ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ และ 3) ความผิดเกี่ยวกับอาวุธและวัตถุระเบิด การกระทำผิดเหล่านี้ส่งผลกระทบทั้งด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ด้านความมั่นคงของประเทศ และด้านการพัฒนาประเทศในระยะยาว
การบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างกรมสุขภาพจิตและกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการสร้างปัจจัยปกป้องให้เด็กและเยาวชนมีภูมิคุ้มกันทางใจป้องกันไม่ให้กลับไปก่อความรุนแรงหรือก่อคดีซ้ำ อันจะนำไปสู่การป้องกันปัญหาความรุนแรงและการมีสุขภาวะที่ดีในวัยผู้ใหญ่ต่อไป
นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้ช่วยอธิบดีกรมสุขภาพจิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง กล่าวว่า การจัดโครงการเสริมสร้างพลังใจ คืนเด็กไทยสู่สังคม ในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรในสถานพินิจและศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนฯ มีความรู้และทักษะในการจัดการกับอารมณ์/พฤติกรรมของเด็กและเยาวชนได้อย่างเหมาะสม และสร้างแรงจูงใจที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนให้ไปในทางที่ถูกต้อง รวมถึงพัฒนาศักยภาพเครือข่ายผู้รับผิดชอบงานด้านสุขภาพจิตในสถานพินิจฯ และศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนฯ ให้มีทักษะในการคัดกรอง ดูแล และส่งต่อเด็กและเยาวชนในรายที่จำเป็นเข้ารับบริการในหน่วยบริการสาธารณสุขต่อไป
นภาพร/เชียงใหม่ (ภาพ-ข่าว)