สตม.จับกุมนายหน้าผู้ประสานงานขบวนการขนคนต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
สตม.จับกุมนายหน้าผู้ประสานงานขบวนการขนคนต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
ตม.จว.ชุมพร ร่วมกับ กก.ปอพ.บก.สส.สตม. จับกุมนายฮาวาย (สงวนนามสกุล) อายุ 36 ปี สัญชาติไทย ตามหมายจับศาลจังหวัดชุมพร ที่ จ.247/2567 ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 ต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันให้เข้าพักอาศัย ซ่อนเร้นหรือช่วยด้วยประการใดๆ แก่คนต่างด้าวซึ่งรู้ว่าเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมาย เพื่อให้พ้นจากการจับกุม” นำตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.สลุย จว.ชุมพร ดำเนินคดีตามกฎหมาย สถานที่จับกุม ริมถนนเทศบาล 4 ต.ระแหง อ.ลาดหลุมแก้ว จว.ปทุมธานี
ตามที่เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2566 เวลาประมาณ 06.30 น. ได้เกิดอุบัติเหตุรถกระบะ (ตู้ทึบ) ขนคนต่างด้าวชาวเมียนมาพลิกคว่ำบริเวณ ต.สลุย อ.ท่าแซะ จว.ชุมพร ที่เกิดเหตุพบคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายจำนวน 18 คน (ได้รับบาดเจ็บ) ซึ่งสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 1 คน คือ นายสิทธิศักดิ์ หรือบาส (สงวนนามสกุล) อายุ 20 ปี ส่ง สภ.สลุย จ.ชุมพร ดำเนินคดีตามกฎหมาย นั้น
ต่อมา ตม.จว.ชุมพร ร่วมกับ กก.สส.บก.ตม.6 และ บก.สส.สตม. ได้ทำการสืบสวนขยายผลพบว่า ผู้ต้องหาได้รับการว่าจ้างให้ไปรับคนต่างด้าวชาวเมียนมา ที่ ต.ปากแพรก อ.เมือง จว.กาญจนบุรี เพื่อไปส่งยัง อ.หาดใหญ่ จว.สงขลา โดยในครั้งนี้มีรถที่ไปรับคนต่างด้าวด้วยกันอีก 1 คัน คือ นายธีรพงษ์ (ได้ออกหมายจับดำเนินคดีไปแล้ว) จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่า นายธีรพงษ์ ได้รับโอนเงินค่าน้ำมันมาจากนายฮาวาย จึงได้สืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติศาลออกหมายจับนายฮาวาย และจับกุมตัวนายฮาวายได้ในพื้นที่ จว.ปทุมธานี จากการขยายผล พบว่า นายฮาวาย ได้รับการประสานจากนายหน้าในพื้นที่ จว.กาญจนบุรี โดยนายฮาวาย ทำหน้าที่เป็นนายหน้าจัดหา รถขนคนต่างด้าว จากพื้นที่ภาคกลางไปยังพื้นที่ภาคใต้ ร่วมกับนายอนุรักษ์ หรือบอย โดยจะได้ส่วนต่างจากการติดต่อจัดหารถหัวละ 1,000 บาท ซึ่งมีคดีที่พบความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกับนายฮาวาย และนายอนุรักษ์ อีก 3 คดี ดังนี้
1. เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวง, ตม.จว.พัทลุง และ สภ.นาขยาด ร่วมกันจับกุมนายอนุรักษ์ และ น.ส.เพ็ญ (ภรรยา) พร้อมพวกรวม 6 คน พร้อมชาวเมียนมาหลบหนีเข้าเมือง 58 คน ตรวจยึดรถกระบะ (รั้วคอก 3 คัน) จากการขยายผลพบว่านายอนุรักษ์ได้รับการติดต่อว่าจ้างมาจากนายหน้า ในพื้นที่ จว.สมุทรสาคร ให้รับคนต่างด้าวในพื้นที่ จว.สมุทรสาคร ไปยัง จว.สงขลา โดยนายอนุรักษ์ได้รับงานขนคนต่างด้าว จากนายหน้ารายนี้มาแล้วหลายครั้ง (ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพิสูจน์ทราบตัวบุคคล)
2. เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวง, ตม.จว.สุราษฎร์ธานี, สภ.ท่าฉาง ร่วมกันจับกุม นายวีระพล พร้อมชาวเมียนมาหลบหนีเข้าเมือง 15 คน และรถกระบะรั้วคอก 1 คัน เมื่อสืบสวนขยายผลพบว่านายวีระพล/ผู้ต้องหา ได้รับการติดต่อว่าจ้างมาจากนายอนุรักษ์ ให้รับคนต่างด้าวในพื้นที่ จว.สมุทรสาคร ไปยัง จว.สงขลา ในราคา 15,000 บาท ซึ่งผู้ต้องหาเคยติดต่อรับงานเช่นนี้มาแล้วหลายครั้ง เมื่องานสำเร็จจะได้รับเงินโอนค่าจ้างจากนายอนุรักษ์ โดยพบพยานหลักฐานต่าง ๆ ระหว่างผู้ต้องหากับนายอนุรักษ์ และนายหน้าในพื้นที่ จว.สมุทรสาคร ต่อมาศาลจังหวัด ไชยา อนุมัติหมายจับนายอนุรักษ์ เจ้าหน้าที่สืบสวนติดตามจับกุมตัวได้เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2567 ในความผิดฐาน “ช่วยเหลือซ่อนเร้นฯ คนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายให้พ้นการจับกุม”
3. เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2567 (วันเดียวกับคดีที่ สภ.ท่าฉาง) เจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวง, ตม.จว.นครศรีธรรมราช, สภ.ทุ่งสง ร่วมกันจับกุมนายอัสดา และภรรยา พร้อมชาวเมียนมาหลบหนีเข้าเมือง 11 คน ตรวจยึดระกระบะตู้ทึบ 1 คัน เมื่อสืบสวนขยายผลพบว่านายอัสดา/ผู้ต้องหา ได้รับการติดต่อว่าจ้างมาจากนายอนุรักษ์ ให้รับคนต่างด้าวในพื้นที่ จว.สมุทรสาคร ไปยัง จว.สงขลา ในราคา 15,000 บาท ซึ่งผู้ต้องหาเคยติดต่อรับงานเช่นนี้มาแล้วหลายครั้ง เมื่องานสำเร็จจะได้รับเงินค่าจ้าง นอกจากนี้ยังพบพยานหลักฐานต่าง ๆ ระหว่างผู้ต้องหากับนายอนุรักษ์ และนายวีระพล ผู้ต้องหาในคดีที่ 3 ขณะนี้อยู่ในระหว่างพนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้ร่วมกระทำความผิดเพิ่มเติมในคดีนี้
จากการวิเคราะห์แผนประทุษกรรมในกลุ่มเครือข่ายนายอนุรักษ์ พบว่า กลุ่มเครือข่ายดังกล่าวมีความเคลื่อนไหว มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2565 จนถึงปัจจุบัน โดยนายอนุรักษ์ และนางเพ็ญ (ภรรยา) เป็นผู้ประสานงานกับนายหน้าชาวเมียนในพื้นที่ จว.สมุทรสาคร และ นายฮาวาย ผู้ทำหน้าที่ประสานงานในพื้นที่ภาคกลาง โดยจะเป็นตัวกลางในการประสานงานทีมขนจาก จว.กาญจนบุรี หรือ จว.สมุทรสาคร มายังพื้นที่ จว.สงขลา ซึ่งนายอนุรักษ์จะทำหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมขน และจะได้รับค่าตอบแทนหัวละ 3,500 บาท ซึ่งจะประสานงานกับกลุ่มรถขนจาก จว.สงขลา ไปยัง จว.นราธิวาส เพื่อลักลอบข้ามไปยังประเทศมาเลเซีย โดยพบความเชื่อมโยงกับเครือข่ายของนายซัฟยัน และกลุ่มผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมดำเนินคดีในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
สรุปผลการปฏิบัติ พบการกระทำความผิดในเครือข่ายของนายอนุรักษ์ทั้งสิ้น 4 คดี จับกุมผู้ต้องหา 12 คนขยายผลออกหมายจับ 3 คน (จับกุมทั้งหมด) จำนวนคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง 102 คน ยึดยานพาหนะ 6 คัน
จากการสืบสวนขยายผลยังพบว่าเครือข่ายนายอนุรักษ์ มีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายที่ สตม. ร่วมกับ บก.ทล., บก.ปคม. ภ.7, 8, 9 และหน่วยงานความมั่นคง ร่วมกันสืบสวนขยายผลการลักลอบขนคนต่างด้าวที่ใช้เส้นทางด้าน อ.สังขละบุรี จว.กาญจนบุรี ได้แก่ เครือข่ายนายวิทยา จับกุมเมื่อวันที่ 5 เม.ย.2566 พื้นที่ สภ.เมืองกาญจนบุรี, เครือข่ายซูก้า-นิตาเว จับกุมเมื่อวันที่ 4 เม.ย.2566 พื้นที่ สภ.ทุ่งตะโก จว.ชุมพร และเมื่อวันที่ 30 เม.ย.2566 พื้นที่ สภ.ทองผาภูมิ จว.กาญจนบุรี, เครือข่ายวุธ แม่กลอง จับกุมเมื่อวันที่ 7, 25 มิ.ย.2566 พื้นที่ สภ.รัตภูมิ จ.สงขลา และเครือข่ายลักลอบขนคนต่างด้าวที่ใช้เส้นทางผ่าน จว.ตาก ได้แก่ เครือข่ายซูซูมา จับกุมเมื่อวันที่ 15 มี.ค.2566 พื้นที่ สภ.บางกล่ำ จ.สงขลา
โดยความเชื่อมโยงกับกลุ่มเครือข่ายต่าง ๆ มีการกระทำความผิดในลักษณะขบวนการ ที่มีการแบ่งหน้าที่กันทำ (นายหน้าประสานงานแนวชายแดน/นายหน้าประสานงานพื้นที่ชั้นใน จว.กาญจนบุรี-ปทุมธานี-สมุทรสาคร-สงขลา-จชต. (จัดหารถ)/ผู้ดูแลจุดพักคอย/หัวหน้าทีมขน-ทีมขน (ตอนบน/ตอนล่าง) ซึ่ง สตม. ได้ร่วมกับ ภ.7,8,9, บช.ก. เฝ้าระวังกลุ่มขบวนการดังกล่าวเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน จนนำมาสู่การจับกุมกลุ่มผู้ต้องหาของในเครือข่ายนายอนุรักษ์ ซึ่งชุดสืบสวน สตม. จะได้ดำเนินการขยายผลเพื่อนำผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องมาดำเนินคดีต่อไป
สตม. ขอเรียนให้ท่านทราบว่า สตม. มีมาตรการในการตรวจสอบ กวดขัน และปราบปรามการกระทำความผิดในด้านต่าง ๆ รวมถึงการเฝ้าระวังบุคคลทั้งสัญชาติไทยและสัญชาติอื่น ๆ ที่มีหมายจับ และการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทย หากประชาชนท่านใดพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิด กรุณาแจ้งมายัง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
อาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระชนมพรรษา 60 พรรษา เลขที่ 904 หมู่ที่ 6 ต.บ้านใหม่ อ.ปากเกร็ด จว.นนทบุรี 11120 หรือติดต่อตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดในพื้นที่ หรือที่ www.immigration.go.th จักขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง