20/09/2024

เชียงใหม่-ประชุมวิชาการประจำปี “Collaborative Cleft Care Convergence: Pioneering Data-Driven Management for the Future Sustainable Health care”

เชียงใหม่-ประชุมวิชาการประจำปี “Collaborative Cleft Care Convergence: Pioneering Data-Driven Management for the Future Sustainable Health care”

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย ศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข โดย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ จัดประชุมวิชาการประจำปี 2567 หัวข้อ “Collaborative Cleft Care Convergence : Pioneering Data-Driven Management for the Future Sustainable Health care” โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มพูนศักยภาพ องค์ความรู้และเสริมสร้างความร่วมมือในการดูแลรักษา เพิ่มขีดความสามารถของทีมสหสาขาวิชาชีพที่ปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยกลุ่มโรคปากแหว่งเพดานโหว่ และพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ

พัฒนาเครือข่ายและเสริมสร้างความร่วมมือในการดูแลรักษากลุ่มผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ ด้านการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเครือข่าย ผนวกกำลังเดินหน้าต่อเพื่อการรักษาพยาบาลผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมกว่า 184 ราย ภายใต้การดำเนินงานโดยศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ ฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โดยภายในงานได้รับเกียรติจาก นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ประธานเปิดงาน ศาสตราจารย์ ดร. นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับ ผศ.นพ.กฤษณ์ ขวัญเงิน รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะฯ กล่าวรายงาน และ ดร.นพ.สราวุฒิ บุญสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 ร่วมพิธีเปิดฯ ณ ห้องประชุมชั้น 2 โรงแรมแคนทารี ฮิลส์ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม 2567

ภาวะปากแหว่ง เพดานโหว่ และความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะนั้น มีกระบวนการดูแลรักษาที่ซับซ้อน ดังนั้นเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่สมบูรณ์ จะต้องได้รับความร่วมมือจากทีมเครือข่ายสหสาขาวิชาชีพในการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่พบความผิดปกติจนกระทั่งผู้ป่วยหมดการเจริญเติบโต (อย่างน้อย 20 ปี) โดยต้องอาศัยการประสานงานของทีมเครือข่ายเพื่อส่งต่อข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษา ระหว่างสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องดังกล่าวข้างต้น ซึ่งเป็นสาขาวิชาชีพเฉพาะทาง จึงมีจำนวนจำกัด และกระจายตัวอยู่ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นหน่วยบริการหลัก (care giver) ที่ให้บริการโดยตรงและมีความใกล้ชิดกับผู้ป่วยและครอบครัว

ศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะฯ ทำหน้าที่เป็นเสมือนทีมประสานงานกลางในการประสานงานกับทุกภาคส่วน ได้แก่ โรงพยาบาลเครือข่ายทั้งหมด ครอบครัวของผู้ป่วย หน่วยงานองค์กรที่ให้การสนับสนุนทั้งในเชิงงบประมาณและความรู้ ตลอดจนทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ให้สังคมได้รับรู้และเข้าใจในหลักการและการดำเนินงานของเครือข่าย นอกจากนี้ ยังมีบทบาทสำคัญในการดูแลภาพรวมและพัฒนาโปรแกรมฐานข้อมูลกลางที่บรรจุข้อมูลผู้ป่วยและการรักษาผู้ป่วย ตลอดจนจัดการอบรมเติมเต็มความรู้ที่เกี่ยวกับการดูแลรักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ให้แก่บุคลากรในโรงพยาบาลเครือข่ายและส่งเสริมการทำงานอย่างมีส่วนร่วมของทีมแพทย์สหสาขาวิชาชีพ

ซึ่งการประชุมวิชาการนี้ ดร.นพ.สราวุฒิ บุญสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 ได้มีการมอบนโยบายและทิศทางการดำเนินงานโครงการยิ้มสวย เสียงใส (Smart Smile & Speech Project) สำหรับหน่วยบริการสาธารณสุขในเขตสุขภาพที่ 1 อีกทั้งมีนิทรรศการ “จากเป้าหมายสู่ความสำเร็จ 19 ปี โครงการยิ้มสวย เสียงใส” เทิดพระเกียรติ 50 พรรษา บริเวณหน้าห้องประชุมอีกด้วย

 

ทั้งนี้ การประชุมวิชาการประจำปี 2567 หัวข้อ “Collaborative Cleft Care Convergence : Pioneering Data-Driven Management for the Future Sustainable Health care” ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนหลายฝ่าย อาทิ คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทย์ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพ สภากาชาดไทย และมูลนิธิสร้างรอยยิ้มแห่งประเทศไทย เป็นต้น

นภาพร/เชียงใหม่

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป