16/09/2024

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงานชุมนุมกาชาด ครั้งที่ 12 ประจำปี พ.ศ. 2567

เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชูปถัมภกสภากาชาดไทย เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 และทรงปาฐกถาพิเศษ ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาตินงนุชพัทยา อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี


​วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2567 เวลา 09.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เสด็จพระราชดำเนินประทับโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งจากกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ ไปยังศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ นงนุชพัทยา อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เพื่อทรงเปิดงานชุมนุมกาชาด ครั้งที่ 12 ประจำปี พ.ศ. 2567 เฉลิม พระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมราชูปถัมภกสภากาชาดไทย เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิม พระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 และทรงปาฐกถาพิเศษ โดยมี เลขาธิการสภากาชาดไทย เหรัญญิกสภากาชาดไทย คณะกรรมการสภากาชาดไทย คณะกรรมการดำเนินงานจัดงานชุมนุมกาชาด ครั้งที่ 12 ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี และคณะ เฝ้าฯ รับเสด็จ


​จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปยังห้องประชุมใหญ่ พระราชทานพระราชวโรกาสให้ คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม เหรัญญิกสภากาชาดไทย เฝ้าทูลละอองพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายสูจิบัตร นายกฤษฎา บุญราช ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย และผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาด ประธานคณะกรรมการดำเนินงานจัดงานชุมนุมกาชาด ครั้งที่ 12 เฝ้าทูลละอองพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายเข็มที่ระลึกงานชุมนุมกาชาด ครั้งที่ 12 นายเตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย กราบบังคมทูลรายงานและกราบบังคมทูลเบิกผู้มีอุปการคุณเข้ารับพระราชทานของที่ระลึก (จำนวน 80 ราย)


​จากนั้น ทรงมีพระราชดำรัสเปิดงาน “งานชุมนุมกาชาด ครั้งที่ 12” และทรงแสดงปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “สภากาชาดไทยในศตวรรษที่ 21” โอกาสนี้ เสด็จพระราชดำเนินไปยังโถงแสดงนิทรรศการ เพื่อทอดพระเนตรนิทรรศการประวัติความเป็นมาของสภากาชาดไทย “ใต้ร่มพระบารมี พระบรมราชูปถัมภกสภากาชาดไทย”(ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 – รัชกาลปัจจุบัน) นิทรรศการหน่วยงานของสภากาชาดไทย และนิทรรศการภารกิจของเหล่ากาชาดจังหวัดและกิ่งกาชาดอำเภอ จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังสวนนงนุชพฤกษศาสตร์ เพื่อทอดพระเนตรต้นมะพร้าวทะเลทรงปลูก และเสด็จพระราชดำเนินไปยังพิพิธภัณฑ์หัวโขน ​


​สภากาชาดไทย ได้จัดงานชุมนุมกาชาดครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2508 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เหล่ากาชาดจังหวัด กิ่งกาชาดอำเภอ และสภากาชาดไทยส่วนกลาง ได้ทำกิจกรรม พบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ซึ่งกันและกัน อันจะนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีในการประสานประโยชน์ให้กับการปฏิบัติภารกิจของสภากาชาดไทยมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมได้รับความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักในบทบาทหน้าที่ในการดำเนินการเพื่อมนุษยธรรม ตามหลักการกาชาด 7 ประการ เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ด้านการบริการอาสาสมัครและการทำงานเพื่อช่วยเหลือสังคม และเพื่อสร้างสัมพันธ์อันดีและสร้างเครือข่ายระหว่างสภากาชาดไทย เหล่ากาชาดจังหวัด และกิ่งกาชาดอำเภอ


​สภากาชาดไทย ได้จัดให้มีงานชุมนุมกาชาดมาแล้ว จำนวน 11 ครั้ง ตามมติการประชุมกรรมการสภากาชาดไทย ครั้งที่ 139 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2507 ได้กล่าวถึง การประชุมของเหล่ากาชาดจังหวัด ซึ่ง ภายหลังจัดตั้งเหล่ากาชาดจังหวัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2504 ยังมิได้มีการประชุมพบปะกันอีกเลย สภากาชาดไทยจึงเห็นควรให้มีการประชุมกันอีก โดยเป็นการประชุมของเหล่ากาชาดจังหวัดและผู้แทนอนุกาชาดทุกจังหวัด เพื่อแจ้งเรื่องที่สมควรจะให้ทราบโดยทั่วกัน และเห็นสมควรที่จะให้มีการจัดเป็นประจำชุมนุมกาชาด ครั้งที่ 1 กำหนดการจัดงาน 5 วัน โดยคณะกรรมการเจ้าหน้าที่กำหนดให้มีการจัดประชุมแบบ Convention เรียกว่า “ชุมนุมกาชาดครั้งที่ 1” ขึ้น ระหว่างวันที่ 7-11 พฤษภาคม พ.ศ. 2508 ณ สถานพักฟื้นสวางคนิวาส จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กรรมการเหล่ากาชาดจังหวัดได้รับความรู้เกี่ยวกับงานของสภากาชาดไทยรวมทั้งเป็นโอกาสที่ได้มาพบปะสังสรรค์กัน


​ในปี 2567 นี้ สภากาชาดไทยกำหนดจัดงานชุมนุมกาชาด ครั้งที่ 12 ขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมราชูปถัมภกสภากาชาดไทย เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 และเพื่อสืบสานปณิธาน และต่อยอดภารกิจการเป็นที่พึ่งของประชาชนด้วยยุทธศาสตร์ “สภากาชาดไทยในศตวรรษที่ 21”


​โดยในศตวรรษที่ 21 สภากาชาดไทยมีความมุ่งมั่นโดยได้เริ่มยกระดับและขยายงานตามพันธกิจเพื่อให้เป็นที่พึ่งประชาชนโดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบางทางสังคม โดยใช้ยุทธศาสตร์ “สภากาชาดไทยในศตวรรษที่ 21” ในการเป็นองค์กรแห่งคุณธรรมที่เข้มแข็ง โปร่งใส และทันสมัย ให้สอดคล้องกับโลกสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในศตวรรษที่ 21 จึงได้กำหนดจุดมุ่งเน้นที่สำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยมาบริการประชาชนตามพันธกิจของสภากาชาดไทยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล การปลูกฝังจิตสำนึกและร่วมกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม การสร้างเสริมและสนับสนุนให้อาสาสมัครในพื้นที่และอาสาสมัครสภากาชาดไทยที่อยู่ในระบบอาสาสมัครมาร่วมทำกิจกรรมตามพันธกิจของสภากาชาดไทย และการมุ่งมั่นช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบางทางสังคม โดยความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น ชุมชน และประชาสังคม รวมทั้งลดช่องว่างในการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยมีเหล่ากาชาดจังหวัด และกิ่งกาชาดอำเภอ ซึ่งเป็นตัวแทนที่สำคัญยิ่งของสภากาชาดไทยในส่วนภูมิภาคที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานตามภารกิจของเหล่ากาชาดจังหวัดและกิ่งกาชาดอำเภอ และสนับสนุนการดำเนินงานของสภากาชาดไทยตามยุทธศาสตร์ “สภากาชาดไทยในศตวรรษที่ 21”

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป