ตม.สนามบิน ติด”หัวใจสีรุ้ง” ย้ำเชื่อมั่น “LGBTQIAN+ “ บินเข้าออกไทย
ตม.สนามบิน ติด”หัวใจสีรุ้ง” ย้ำเชื่อมั่น “LGBTQIAN+ “ บินเข้าออกไทย
ตม.สนามบิน ประกาศสร้างความเชื่อมั่น แก่บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ ชาว “LGBTQIAN+ “ ในการบินเข้าออกประเทศของไทย และพร้อมรองรับการที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จัดเทศกาล “WorldPride 2030”
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2567 พล.ต.ต.เชิงรณ ริมผดี ผบก.ตม.2 ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว กรณี ตม.สนามบินสุวรรณภูมิ ได้ติด sticker มีสัญลักษณ์ เป็นรูปหัวใจสีรุ้ง มีอักษร LGBTQ+ และข้อความ Immigration2 ที่บริเวณช่องตรวจหนังสือเดินทาง ขาเข้า และขาออก ประเทศ โดยชี้แจงว่า
“ เนื่องจากโลกยุคปัจจุบัน มีการเปิดกว้างด้านเพศทางเลือกต่างๆ และทางรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับความเสมอภาคทางเพศโดยเฉพาะชาว “LGBTQIAN+“ ซึ่งประเทศไทยประกาศจะเป็นเจ้าภาพจัดงาน “WorldPride 2030“ ขึ้น
ดังนั้น ในฐานะที่ด่าน ตม.สนามบิน ทั้ง 5 แห่ง ของ บก.ตม.2 ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ และหาดใหญ่ เป็นประตูหลักของประเทศ และมีคนเดินทางเข้าออกจากทั่วโลกกว่าวันละ 1.2 แสนคน มีคนไทยและคนต่างชาติที่มีความหลากหลายทางเพศเดินทางผ่านแดนจำนวนมาก โดยพบว่าที่ผ่านมา กลุ่ม “LGBTQIAN+“ หลายท่าน วิตกกังวลต่อการตรวจผ่านแดน เนื่องจาก อาจมีเพศสรีระ เช่น การแต่งตัว ที่ไม่ตรงกับเพศสภาพในเอกสารการเดินทาง อาจด้วยข้อจำกัดทางกฏหมายของประเทศเจ้าของสัญชาติในการเปลี่ยนสถานะทางเพศ หรือ บางกรณีอาจมีการทำศัลยกรรมเปลี่ยนแปลงเค้าโครงใบหน้าผิดไปจากเดิม ทำให้การตรวจผ่านแดนที่ช่องตรวจ ตม.ติดขัดไม่ราบรื่น และอาจเป็นข้อสงสัยว่า เจ้าหน้าที่มีการกีดกั้นเจาะจงเฉพาะกลุ่มหรือไม่ นั้น
และ เพื่อสร้างความมั่นใจ แก่คนเดินทางทั้งไทย และต่างชาติ จึงได้จัดกิจกรรม Welcome Pride by Immigration ขึ้น ภายใต้ความเห็นชอบของ พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผบช.สตม. โดยให้ฝ่ายตรวจคนเข้าเมืองขาเข้า นำโดย พ.ต.อ.หญิง เนาวรัตน์ เฉลิมศรี ผกก.ฝ่าย ตม.ขาเข้า ด่าน ตม.ทอ.สุวรรณภูมิ เป็นด่านนำร่อง และจะขยายการปฏิบัติไปยังช่องทางตรวจคนเข้าเมืองสนามบินหลักให้ครบทั้ง 5 แห่ง ในสังกัด บก.ตม.2 โดย Kick off ตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป
โดยถือโอกาสนี้ ขอสื่อสารถึงนักเดินทางชาว “LGBTQIAN+“ ที่กังวลต่อเงื่อนไขต่างๆในการเดินทางบินเข้าไทย 4 ประเด็นคือ
1. กรณีผู้เดินทางซึ่งเดินทางเข้าไทยครั้งแรก และมีเพศสภาพซึ่งระบุในหนังสือเดินทาง มีความแตกต่างจากเพศสรีระจริงที่ปรากฏตัว ไม่ว่าจะเป็นกรณีทำศัลยกรรม หรือ กรณีเพศสรีระไม่ตรงกับหนังสือเดินทาง เช่น แต่งกายเป็นหญิง แต่หนังสือเดินทางระบุเป็นชาย ฯลฯ ผู้เดินทางควรมีเอกสารยืนยันตัวตน เช่น บัตรประจำตัวประชาชน ( Citizen card) หรือ ใบอนุญาตขับขี่ (Driving License) หรือ เอกสารเดินทางซึ่งเคยใช้ก่อนหน้า หรือ เอกสารหรือประวัติทางการแพทย์ที่แสดงถึงการรับการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงเพศ ฯลฯ เพื่อแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ตม.หากมีข้อซักถาม เพื่อยืนยันตัวตนด้วย
2. กรณีผู้เดินทาง ที่มีใบหน้าหรือสรีระทางกายขณะปัจจุบันแตกต่างกันกับภาพข้อมูลบุคคลในหนังสือเดินทาง แต่เคยมีการบันทึกข้อมูลใบหน้าและลายนิ้วมือตามข้อแรกดังกล่าวมาแล้ว ทางระบบ ตม.จะเก็บข้อมูลไว้ในระบบ Biometric เพื่อตรวจเปรียบเทียบใบหน้าผู้เดินทางปัจจุบันกับข้อมูลชิปภายในหนังสือเดินทาง เพื่อยืนยันตัวตน โดยไม่ต้องเรียกซักถามอีก
3. ผู้เดินทางคนไทย และคนต่างชาติที่ เป็นชาว “LGBTQIAN+“ ที่เดินทางบินเข้าออกประเทศไทย โดยเฉพาะคนต่างชาติที่ได้รับสิทธิยกเว้นวีซ่า หรือ ได้รับวีซ่าเข้าประเทศไทย จะได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียม เช่นเดียวกับนักเดินทางอื่นๆ โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกในการตรวจหนังสือเดินทางตามนโยบายรัฐบาล
4. กรณีที่ประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรม World Pride ในปี 2030 ทาง ตม.สนามบิน พร้อมให้ความร่วมมือร่วมกับ TCEB หรือ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ เพื่อจัดช่องทางพิเศษ และ อำนวยความสะดวกด้านพิธีการตรวจคนเข้าเมือง ตามที่มีการประสานงานอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ เครื่องหมายสติ๊กเกอร์ “หัวใจสีรุ้ง” ของ ตม.ที่จัดทำขึ้น มาจากแนวคิด “ธงสีรุ้ง” ที่เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ภายใต้การออกแบบของ “กิลเบิร์ต เบเกอร์” (Gilbert Baker) ศิลปินชาวอเมริกันและนักขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนของเกย์ในปี 1978 ระบุข้อความ LGBTQIAN+ และ Immigration 2 ติดที่บริเวณหน้าช่องตรวจหนังสือเดินทาง ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และท่าอากาศยานต่างๆ ในสังกัด ตม.2 เพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักเดินทางที่มีความหลากหลายทางเพศ ในการเข้าออกประเทศไทย เพื่อบอกให้สังคมโลกได้รับทราบว่า ประเทศไทย เป็นดินแดนที่เปิดกว้างสำหรับนักเดินทางจากทั่วโลก โดยไม่มีข้อจำกัดด้านเพศแต่อย่างใด พล.ต.ต.เชิงรณ ฯ กล่าว
ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมดังกล่าว นับเป็นการจัดกิจกรรมที่ ด่าน ตม. ของประเทศไทย เป็นแห่งแรกของโลก ที่สร้างความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว ให้ปรากฏต่อสังคมชาวโลก ที่ตอบสนองแนวคิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการลงทุน รวมถึงการจัดกิจกรรมระดับโลกในไทย ตามนโยบายของรัฐบาล