09/01/2025

วิทยุการบินฯ เดินหน้าจัดฝึกอบรมระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เร่งพัฒนาศักยภาพบุคลากร รองรับเทคโนโลยีการบินขั้นสูง

IMG_0230

วิทยุการบินฯ เดินหน้าจัดฝึกอบรมระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เร่งพัฒนาศักยภาพบุคลากร รองรับเทคโนโลยีการบินขั้นสูง

บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด จัดฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีระดับสูง ด้านการจัดการจราจรทางอากาศ ระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2567 ณ อาคาร EECi วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยองเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการบิน ตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือของ 7 หน่วยงาน เรื่อง การพัฒนาบุคลากรและนวัตกรรมด้านการบิน (NGAP – Digital transformation) โดยมีผู้เข้ารับการอบรมกว่า 60คน จาก 7 ประเทศ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ดร. ณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) กล่าวว่า “จากนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ที่มุ่งพัฒนาประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค วิทยุการบินฯ ได้ดำเนินการเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินของสนามบิน การเชื่อมโยงสนามบินกับโครงข่ายการเดินทางทั่วประเทศและเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งการสร้าง 3 สนามบินใหม่ ได้แก่ สนามบินอู่ตะเภา อันดามัน และล้านนา ซึ่งคาดการณ์ว่า จะมีความต้องการบุคลากรด้านการบินเพิ่มขึ้นประมาณ 30,000 คน วิทยุการบินฯ ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็น    ในการพัฒนาบุคลากรด้านการบิน เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินในอนาคต จึงจะจัดฝึกอบรมหลักสูตร Performance-based CNS เป็นโครงการนำร่อง พร้อมทั้งดำเนินการจัดทำโครงการ “การพัฒนาศักยภาพมืออาชีพอุตสาหกรรมการบินไทยยุคใหม่ สู่มาตรฐานสากล ICAO”

 

ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างกำหนดกรอบโครงการ กับหน่วยงานความร่วมมือ 7 หน่วยงาน ประกอบด้วย บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน)ภายใต้ทุนสนับสนุนด้านการพัฒนาบุคลากรของประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพของบุคลากรด้านการบิน ทั้งในระดับประเทศ และระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ให้สามารถนำความรู้มาพัฒนาบริการการเดินอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การพัฒนาความร่วมมือด้านการบินในอนาคต อีกทั้งเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ เพื่อนำไปสู่การจัดการจราจรทางอากาศในภูมิภาคร่วมกันได้อย่างยั่งยืน”

 

ดร. ณพศิษฏ์ฯ  กล่าวเพิ่มเติมว่า “การจัดฝึกอบรมครั้งนี้ จะเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีระดับสูง ด้านการจัดการจราจรทางอากาศ (หลักสูตร Performance-based CNS) มีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 60 คน ประกอบด้วย ตัวแทนจาก 7 ประเทศ   ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ไทย ฟิลิปปินส์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม เนปาล และภูฏาน   และตัวแทนจากหน่วยงานในประเทศ ได้แก่ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด สถาบันการบินพลเรือน ผู้แทนจากสายการบิน และมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศ เป็นต้น ซึ่งผู้เข้ารับการอบรม จะได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกกับผู้บรรยายที่ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมการบิน รวมทั้งนำเสนอเกี่ยวกับเทคโนโลยีการบินในปัจจุบัน และการพัฒนาเทคโนโลยีการบินขั้นสูงในอนาคต เพื่อสนับสนุนให้บริการจราจรทางอากาศมีประสิทธิภาพ คล่องตัว และเกิดความปลอดภัยสูงสุด อีกทั้งมีการศึกษาดูงานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการยกระดับอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินและประตูเศรษฐกิจสู่เอเชีย”

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป