24/11/2024

สทนช. ลงพื้นที่ระยอง ผุดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าชั่วคราวในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันออก โดยเฉพาะ จ.ระยอง ย้ำเฝ้าระวัง เตรียมอุปกรณ์ เครื่องจักรกลรับมือในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ช่วง 10 วันนี้

สทนช. ลงพื้นที่ระยอง ผุดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าชั่วคราวในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันออก โดยเฉพาะ จ.ระยอง ย้ำเฝ้าระวัง เตรียมอุปกรณ์ เครื่องจักรกลรับมือในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ช่วง 10 วันนี้

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 13 ก.ค. 67 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมคณะลงพื้นที่จังหวัดระยอง เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก ความพร้อมตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2567 และเป็นประธานเปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าชั่วคราวในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออกและลุ่มน้ำบางปะกง ครั้งที่ 1/2567 มีนายปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง นายประสานต์ พฤกษาชาติ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง นายคีรีวัฒน์ อ้นพร้อม ประชาสัมพันธ์จังหวัดระยอง

 

ซึ่งในที่ประชุมได้มีการการดำเนินงานตามมาตรการ 10 มาตรการรับมือฤดูฝนของแต่ละจังหวัดลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออกและลุ่มน้ำบางปะกง การรับฟังความคิดเห็น ปัญหา และอุปสรรคในการดำเนินงาน รวมถึงแผนรับมือสถานการณ์น้ำท่วม/น้ำแล้งในพื้นที่ พร้อมทั้งเปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าชั่วคราวฯ ที่จังหวัดระยอง เพื่อเติมเต็มการทำงานและเป็นตัวกลางประสานงานกับหน่วยงานทุกภาคส่วน เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาอุกทกภัยในพื้นที่ ซึ่งการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าชั่วคราวในจังหวัดระยองนี้เพราะเป็นพื้นที่ที่อยู่ศูนย์กลางในภาคตะวันออกสามารถลงพื้นที่ไปยังจุดต่างๆ ของจังหวัดในภาคตะวันออก ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ซึ่งทาง อบจ.ระยอง ได้ให้ความอนุเคราะห์สถานที่ในการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าว

 

นอกจากนี้ เลขาธิการ สทนช. ยังได้ลงพื้นที่ติดตามการเตรียมความพร้อม จ.ระยอง รับมือน้ำท่วมซ้ำซากใน 3 จุด คือ จุดที่ 1 บริเวณพื้นที่ชุมชนถนนสายหนองมะหาด (หลังเซ็นทรัลระยอง) จุดที่ 2 บริเวณพื้นที่สะพานหมู่บ้านกรุงไทย และจุดที่ 3 บริเวณช่วงถนนด้านหน้า บริษัท ไทยวัฒน์วิศวการทาง จำกัด

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า การตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าชั่วคราวในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันออกในวันนี้ เป็นเรื่องสืบเนื่องจากที่ประชุม กนช. ได้มีการออกมาตรการ 10 มาตรการรับมือฤดูฝน และก็ได้มีมติ ครม. ออกมาเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการตามมาตรการ 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมเป็นต้นมา ซึ่งแต่ละหน่วยงานได้ดำเนินการตามมาตรการแล้วในระดับหนึ่ง แต่ยังมีบางส่วนที่ยังไม่สามารถขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าวได้อย่างสมบูรณ์ และในขณะนี้ได้เข้าสู่ฤดูฝนแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา

 

และในช่วงนี้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้น ฝนจะตกต่อเนื่องทั้งสัปดาห์ หรือ 10 วันหลังจากนี้ จะมีปริมาณฝนตกหนักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากของ จ.ระยอง จึงได้มีการมาตั้งศูนย์ส่วนหน้ารับมือขึ้น ทั้งการเตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำ และเครื่องจักรกล ซึ่งใน 10 มาตรการรับมือฤดูฝน มีมาตรการสำคัญมาตรการหนึ่ง หากประเมินสถานการณ์แล้วมีแนวโน้มความเสี่ยงค่อนข้างสูงและกระทบพื้นที่ค่อนข้างมาก ให้จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าชั่วคราวในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ซึ่งมี สทนช. เป็นเจ้าภาพเข้ามาทำงานในพื้นที่ เพื่อบูรณาการทุกหน่วยงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยวันนี้ได้มีการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าชั่วคราวในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออกและลุ่มน้ำบางปะกงนี้ขึ้น เพื่อให้การทำงานในพื้นที่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะเป็นกลไกหนึ่งในการบริหารจัดการน้ำนอกเหนือจากเครื่องมืออื่นๆ ทั้งการคาดการณ์สถานการณ์ การแจ้งเตือนพี่น้องประชาชน และเป็นตัวกลางการประสานงานกับหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป