28/12/2024

เชียงใหม่-เปิดโครงการ”คูโบต้า ต้นกล้า พัฒนาถั่วเหลือง“ปั้นโมเดลถั่วเหลืองประสิทธิภาพสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร

S__88940712_0

เชียงใหม่-เปิดโครงการ”คูโบต้า ต้นกล้า พัฒนาถั่วเหลือง“ปั้นโมเดลถั่วเหลืองประสิทธิภาพสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร

สยามคูโบต้า เปิดตัวโครงการ “คูโบต้า ต้นกล้า พัฒนาถั่วเหลือง” ปั้นโมเดลถั่วเหลืองประสิทธิภาพ นำโซลูชันและนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร เพิ่มศักยภาพการผลิตถั่วเหลืองที่มีคุณภาพ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ กรมวิชาการเกษตรในการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) ภาคเหนือและภาคอีสาน ในการจัดทำแปลงเรียนรู้ต้นแบบถั่วเหลืองในฤดูฝนพร้อมถ่ายทอดสู่เกษตรกร

วันที่ 11 กรกฎาคม 2567 สยามคูโบต้า ร่วมกับ กรมวิชาการเกษตร และ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.)   เปิดตัวโครงการ “คูโบต้า ต้นกล้า พัฒนาถั่วเหลือง” ปั้นโมเดลปลูกถั่วเหลือง ผลผลิตสูง สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร โดย นายรัชกฤต สงวนชีวิน ผู้จัดการฝ่าย Business Value Creation บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น พร้อมด้วย นายปรีชา กาเพ็ชร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่ นายสุรศักดิ์ เทียบรัตน์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) จังหวัดเชียงใหม่ และ อาจารย์และนักศึกษา ที่เข้าร่วมโครการ ณ อาคารศูนย์วิทยบริการ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่

นายรัชกฤต สงวนชีวิน ผู้จัดการฝ่าย Business Value Creation บริษัทสยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “พืชถั่วเหลือง ถือเป็นพืชที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมาก เนื่องจากเป็นพืชที่ตลาดมีความต้องการสูง แต่ในทางกลับกันการผลิตถั่วเหลืองสำหรับการบริโภคในประเทศไทยกลับน้อยลง ทำให้ต้องพึ่งการนำเข้าเป็นหลัก สยามคูโบต้าเล็งเห็นโอกาสในการส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองไทยสู่ความยั่งยืน หากทดแทนการนำเข้าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทยทั้งในฤดูการเพาะปลูกและหลังการเก็บเกี่ยวข้าว จึงได้ดำเนินโครงการ “คูโบต้า ต้นกล้า พัฒนาถั่วเหลือง” สร้างโมเดลต้นแบบการเรียนรู้สำหรับพืชถั่วเหลืองเพื่อส่งเสริมและขยายพื้นที่การเพาะปลูกถั่วเหลืองให้มากขึ้น”

โดยได้สนับสนุนองค์ความรู้และโซลูชันในการปลูกถั่วเหลือง ตั้งแต่เพาะปลูกจนขั้นตอนการเก็บเกี่ยว เพื่อช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ประหยัดเวลา และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตถั่วเหลือง พร้อมได้รับความร่วมมือจากกรมวิชาการเกษตรในการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) ภาคเหนือและภาคอีสาน ในการสนับสนุนพื้นที่ต้นแบบการเพาะปลูก และบ่มเพาะต้นกล้าเยาวชนนักศึกษา เพื่อถ่ายทอดความรู้ที่ประสบความสำเร็จ จนเป็นต้นแบบที่สามารถขยายผลสู่เกษตรกรในชุมชนเกษตรกรในพื้นที่ โดยมีเงินสนับสนุนเงินทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษา วษท. ที่เข้าร่วมโครงการฯ กว่า 180,000 บาท และสำหรับกลุ่มเกษตรกรที่ได้ผลผลิตต่อไร่สูงสุด 3 อันดับแรกของแต่ละภาค รวมมูลค่ากว่า 150,000 บาท

นายปรีชา กาเพ็ชร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่ กล่าวว่า “กรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินงานเพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาลและร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองของประเทศ โดยกรมวิชาการเกษตรได้มีโมเดลต้นแบบการผลิตถั่วเหลืองที่มีประสิทธิภาพแบบ Low carbon เป็นการใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้สามารถได้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 400 กก./ไร่ สูงกว่าผลผลิตเฉลี่ยของประเทศ 267 กก./ไร่

โดยโมเดลดังกล่าวสามารถขยายผลสู่เกษตรกรในโครงการ “คูโบต้า ต้นกล้า พัฒนาถั่วเหลือง” เพื่อยกระดับผลผลิตถั่วเหลืองของชุมชนได้ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรยินดีเป็นอย่างยิ่ง ในการช่วยสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ในครั้งนี้ เพราะเมล็ดพันธุ์ดี ถือเป็นปัจจัยสำคัญของการผลิตพืช เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดีจะส่งผลให้ได้จำนวนต้นถั่วเหลืองในพื้นที่ปลูกสูงเนื่องจากมีอัตราการงอกและรอดตายสูง”

นายสุรศักดิ์ เทียบรัตน์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า “วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ มีพื้นที่วิทยาลัยกว้างขวางและพร้อมที่จะสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกถั่วเหลืองที่เหมาะสมสำหรับการเป็นแปลงต้นแบบ โดยมีเครือข่ายวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) เข้าร่วมใน 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ แพร่ ตาก ขอนแก่น ชัยภูมิ และยโสธร นอกจากนี้ในฐานะสถาบันการศึกษาที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการเกษตรและเทคโนโลยี

 

เราพร้อมที่จะปั้นต้นกล้า จาก นักศึกษาวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี เพื่อถ่ายทอดความรู้สู่เกษตรกร และต่อยอดการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนเกษตรกรในพื้นที่ ตามคำขวัญของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ คือ ผลิตได้ ขายเป็น เน้นคุณภาพในการพัฒนานักเรียน นักศึกษา ให้เป็นผู้ที่มีศักยภาพในการผลิต จำหน่าย สินค้าทางการเกษตรที่มีคุณภาพ ต่อไป”

โครงการ “คูโบต้า ต้นกล้า พัฒนาถั่วเหลือง” ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการสร้างพื้นที่นำร่องและเป็นโมเดลต้นแบบสำหรับการส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองที่มีประสิทธิภาพ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรนำไปประยุกต์ใช้ในการปลูกถั่วเหลืองในพื้นที่ของตนเอง รวมถึงการเพิ่มวัตถุดิบเข้าสู่อุตสาหกรรมจะช่วยยกระดับผลผลิตถั่วเหลืองของประเทศให้สูงขึ้น เป็นการสร้างรายได้ สร้างโอกาส และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกรในอนาคต

นภาพร/เชียงใหม่

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป