26/12/2024

พระเครื่องสยามสุดสัปดาห์ #คอลัมน์ กินลมชมพระ

IMG_4438-640x360

พระเครื่องสยามสุดสัปดาห์  #คอลัมน์ กินลมชมพระ
วันอาทิตย์ ที่ 17 ธันวาคม 2566
ก่อนอื่นต้องกราบขออภัยท่านผู้อ่านทุกท่าน ที่กระผมได้หายไปจากคอลัมน์นานหลายสัปดาห์ อันเนื่องจากปัญหาสุขภาพเล็กน้อย แต่ตอนนี้หายปกติแล้วครับ
สวัสดีครับทุกๆท่าน สัปดาห์นี้กระผมจะพาทุกท่านไปชมพระปิดตาหลวงพ่อแก้ว พิมพ์ปั้น รุ่นลากซุง เนื้อผงคลุกรักหรือเนื้อกะลา วัดเครือวัลย์ จังหวัดชลบุรี
ซึ่งถือเป็นพระเนื้อครูที่ได้รับความนิยมสูงมากที่สุด ในบรรดาพระของหลวงพ่อแก้วทุกเนื้อ พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์เป็นพระผงคลุกรัก แต่ส่วนผสมไม่เหมือนกัน ทำให้เราขนานพระนามว่า เป็นเนื้อกะลา เนื้อผงคลุกรัก และจุ่มรักปิดทองคำเปลว เนื้อผงคลุกรักชนิดที่มีมวลสารมากมีรักน้อยเรียกกันว่าพระปิดตาเนื้อทุเรียนกวน มีทั้งจุ่มรักและไม่จุ่มรัก สำหรับพระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ พิมพ์ปั้น เนื้อกะลาองค์นี้ เป็นพระที่มีขนาดเล็กlสูงประมาณ 2.3 เซนติเมตร ความสูงประมาณพระปิดตาหลวงพ่อแก้วพิมพ์หลังแบบ ซึ่งมีขนาดความกว้างจากเข่าถึงเข่าประมาณ 2 เซนติเมตร
ส่วนพระปิดตาหลวงพ่อแก้ว พิมพ์หลังแบบ พิมพ์ใหญ่ที่มีขนาดเล็กกว่า 2 เซนติเมตรนั้น ไม่ใช่ขนาดที่ควรจะเป็นครับ พิมพ์ด้านหน้าขององค์พระมีพุทธศิลป์ใกล้เคียงกับพระปิดตาหลวงพ่อแก้ว พิมพ์หลังแบบ เนื้อผงคลุกรักและเป็นรักจากประเทศจีน เนื้อรักสีแดง ส่วนผสมของผงคลุกรักค่อนข้างหยาบ มีเสี้ยนของเนื้อเป็นสีขาวเหลืองจำนวนมากอย่างสม่ำเสมอ ดูคล้ายกับเนื้อกะลา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของพระหลวงพ่อแก้ว เนื้อผงคลุกรักที่มีเสี้ยนกะลาที่ได้รับความนิยมสูงมากที่สุด
พระปิดตาหลวงพ่อแก้วพิมพ์ปั้นนั้น เดิมอยู่ที่วัดปากทะเล จังหวัดเพชรบุรี ท่านได้สร้างพระปิดตา เนื้อผงคลุกรักสีดำ เป็นรักไทย และเป็นพิมพ์ปั้น ต่อมาหลวงพ่อแก้วได้ออกธุดงก์ออกจากวัดปากทะเลไปยังที่ต่าง ๆ และมาหยุดอยู่ที่จังหวัดชลบุรี โดยมีชาวบ้านมากราบนมัสการหลวงพ่อแก้วเป็นจำนวนมาก และก็ได้กราบอาราธณาขอให้หลวงพ่อแก้วได้สร้างวัดเครือวัลย์ขึ้น เริ่มต้นก็มีชาวบ้านไปตัดไม้ลากซุงเอามาสร้างวัด
หลวงพ่อแก้วได้สร้างพระปิดตาพิมพ์ปั้นเนื้อผงคลุกรัก โดยช่วงหลังท่านใช้รักจากประเทศจีน ซึ่งเป็นสีแดง ทำให้องค์พระปิดตา พิมพ์ปั้น เป็นเนื้อผงคลุกรักสีน้ำตาลอมแดง เราเรียกพระปิดตารุ่นแรกที่วัดเครือวัลย์ว่าพระปิดตารุ่นลากซุง เมื่อมีชาวบ้านและลุกศิษย์เป็นจำนวนเพิ่มมากขึ้น หลวงพ่อแก้วจึงได้สร้างพระปิดตาโดยการสร้างเป็นแม่พิมพ์เป็นหินชนวน และกดแม่พิมพ์หลังให้เนื้อแน่นเพื่อไล่ฟองอากาศ เราเรียกว่าพระปิดตาหลวงพ่อแก้ว พิมพ์หลังแบบ ซึ่งถือเป็นพระปิดตาที่ได้รังความนิยมสูงมากที่สุดจนถึงปัจจุบัน
สำหรับพระปิดตาหลวงพ่อแก้ว พิมพ์ปั้น เนื้อกะลาองค์นี้ เป็นพระปิดตาพิมพ์ปั้นขนาดค่อนข้างเล็ก หน้าตักกว้างประมาณ 2เซนติเมตร สูงประมาณ 2.3 เซ็นติเมตร  พิมพ์ด้านหน้าแต่งพิมพ์เป็นพระปิดตาสังกัจจายน์ ศิลปะอ้วนล่ำเหมือนพระปิดตาของหลวงพ่อแก้ว พิมพ์หลังแบบ พิมพ์ด้านหลังเป็นพิมพ์ปั้น และที่สวยและมีคุณค่ามากที่สุดได้แก่ การเป็นพระที่มีมวลสารเนื้อว่านอยู่มาก เมื่อคลุกกับน้ำรักสีน้ำตาลแดง และเนื้อมวลสารหดตัว จึงเป็นเนื้อที่หดตัวค่อนข้างหยาบ มีเสี้ยนสีน้ำตาลอ่อนเป็นจำนวนมาก ทั้งพิมพ์หน้าและพิมพ์หลัง ดูเหมือนเนื้อกะลามะพร้าว ทำให้เป็นพระปิดตาหลวงพ่อแก้วที่งดงามและทรงคุณค่ายิ่ง
1. ตำหนิเสี้ยนสีน้ำตาลอ่อนที่ยาวและสั้น เรียกว่าเนื้อกะลา
2. เมือกน้ำยาว่าน จะเกิดขึ้นและจับแน่นอยู่ตามซอกขององค์พระ เป็นสีน้ำตาลอ่อน อันเป็นเอกลักษณ์ของพระแท้
ดูจากพิมพ์หลังที่ปั้นเป็นพระอ้วนนั่ง แต่ผิวขององค์พระจะหดตัวมีลักษณะหยาบเป็นเกล็ด มีเสี้ยนเป็นเส้นยาวสีน้ำตาลอ่อนและมีเมือกน้ำว่านเป็นสีน้ำตาลอ่อนในรูพรุนของเนื้อว่านในองค์พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ รุ่นลากซุงที่สวยและงดงามมากที่สุดเท่าที่ผมเคยพบเห็นมาครับ และขอขอบคุณ คุณยศพัทธ์ พิภพสิทธิโภคิณ  CEO -ZEUS CORPORATION ซึ่งเปรียบเสมือนศิษย์รักของกระผม ที่กระผมได้ถ่ายทอดหลักการดูและหลักการพิจารณาพุทธศิลป์ต่างๆขององค์พระในแต่ละประเภทฯลฯ  ที่ได้เอื้อเฟิ้อพระองค์นี้มาให้กระผม ได้นำมาถ่ายทอดให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้รับชมกันครับ…
# ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รังสรรค์ ต่อสุวรรณ

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป