รองผู้บัญชาการทหารเรือเป็นผู้แทนผู้บัญชาการทหารเรือร่วมงานเลี้ยงรับรองเนื่องในวันชาติอเมริกา
รองผู้บัญชาการทหารเรือเป็นผู้แทนผู้บัญชาการทหารเรือร่วมงานเลี้ยงรับรองเนื่องในวันชาติอเมริกา
วันที่ 2 ก.ค.67 พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข รองผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นผู้แทนผู้บัญชาการทหารเรือ พร้อมด้วยคณะผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพเรือ ร่วมงานเลี้ยงรับรองเนื่องในวันชาติอเมริกา ตามคำเชิญของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย โดยมี นายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค (H.E. Mr.Robert F. Godec) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และภริยา เป็นเจ้าภาพ ณ Topgolf Megacity อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ
ไทยกับสหรัฐอเมริกา สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ.2376 นับเป็นระยะเวลา 190 ปี โดยความสัมพันธ์ทางทหารและความมั่นคงนั้น ไทยได้รับสถานะเป็น Major Non-NATO Ally (MNNA) ของสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๖ โดยกรอบความร่วมมือทางด้านการทหารและความมั่นคงมีหลายระดับ ทั้งนี้ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพเรือไทย และกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาเป็นไปด้วยดีในหลายมิติ ดังนี้
1. การเยี่ยมเยือนของผู้บังคับบัญชา กองทัพเรือไทยและกองทัพเรือสหรัฐ มีการแลกเปลี่ยนการเยี่ยมเยือนของผู้บังคับบัญชาระดับสูงอย่างต่อเนื่อง
2. การศึกษา กองทัพเรือสหรัฐ ให้การสนับสนุนที่นั่งการศึกษาหลักสูตรที่สำคัญ ได้แก่ นักเรียนนายเรือสหรัฐ , นักเรียนนายเรือยามฝั่งสหรัฐ , นักทำลายใต้น้ำจู่โจมสหรัฐ , เสนาธิการทหารเรือสหรัฐ , วิทยาลัยการทัพเรือสหรัฐ , เสนาธิการนาวิโยธินสหรัฐ และ Basic Officer (Infantry) นาวิกโยธินสหรัฐ เป็นต้น
3. การประชุม แบ่งเป็น
– การประชุม Maritime Cooperation Talks (MCT) เป็นการประชุมระดับนโยบายของผู้แทนระดับสูงของกองทัพเรือไทยและกองกำลังทางเรือสหรัฐ ภาคพื้นอินโด – แปซิฟิก
– การประชุม MCT Mid-Term Review ซึ่งเป็นการประชุมในระดับ
ผู้ปฏิบัติ
4. การฝึก เช่น การฝึกร่วมผสม COBRA GOLD , การฝึกผสม CARAT โดยจะมีการฝึก CARAT Multilateral 2024 ในพื้นที่อ่าวไทย ระหว่าง 18 – 27 ก.ค.67 , การฝึก GUARDIAN SEA , การฝึก SEACAT , การฝึก SEA SURVEX, UNDERSEAL, MTWS, FLASH TORCH, RIMPAC และการฝึก PASSEX เป็นต้น
5. การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การประชุมแลกเปลี่ยนข่าวสาร (Intelligence Exchange Conference: IEC) ระหว่างกองทัพเรือไทย – กองทัพเรือสหรัฐ ภาคพื้นแปซิฟิก จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ปีละ 2 ครั้ง
6. การช่วยเหลือทางทหาร กำหนดเป็นโครงการเสริมสร้างความมั่นคงทางทะเล (Maritime Security Initiative: MSI) จำนวน 7 โครงการ ประกอบด้วย โครงการจัดหาอากาศยานไร้คนขับ (ศรชล.) , โครงการเพิ่มขีดความสามารถระบบตรวจการณ์ บ.DO-228 , โครงการจัดหาระบบสื่อสารแบบ CENTRIXS , โครงการฝึก ศึกษาด้านความมั่นคงทางทะเล , โครงการระบบรวบรวมข้อมูลข่าวสารในพื้นที่ลำน้ำ , โครงการปรับปรุงพื้นผิวทางวิ่งสนามบินอู่ตะเภา และโครงการจัดหาเรือยางท้องแข็ง
จากความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันมาอย่างยาวนานส่งผลให้กองทัพเรือไทยและกองทัพเรือสหรัฐมีความร่วมมือที่ดีในหลายมิติด้านความมั่นคงทางทะเล เป็นไปตามนโยบายผู้บัญชาการทหารเรือในการเสริมสร้างความสัมพันธ์และการมีบทบาทนำด้านความร่วมมือ และความมั่นคงในภูมิภาคให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
สมนึก เชื้อสนุก รายงาน