กาฬสินธุ์รวมสุดยอดควายไทยชิงถ้วยพระราชทานส่งเสริมอาชีพเลี้ยงควายเงินล้าน
มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์สารสนเทศกระบือนานาชาติ กรมปศุสัตว์ และคนเลี้ยงกวายลุ่มน้ำปาวจังหวัดกาพสินธุ์ การจัดงานมหกรรมการประกวดควายงาม ควายยักษ์ ควายแคระ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ครั้งที่ 2 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระขนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ถือเป็นการรวมสุดยอดควายไทยทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริม พัฒนา อาชีพการเลี้ยงควายอาชีพเงินล้าน
วันที่ 29 มิถุนายน 2567 ที่มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พื้นที่ในเมือง รองศาสตราจารย์จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดงานมหกรรมการประกวดควายงาม ควายยักษ์ ควายแคระ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ครั้งที่ 2 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระขนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมงานเกษตรแฟร์กาฬสินธุ์ ครั้งที่ 3 โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์กีรวิชญ์ เพชรจุล คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ นางรำไพ ภูวราห์ นักวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.สมจิตร์ กันธาพรม หรือ ดร.ต๋องคนเลี้ยงควาย อาจารย์มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยเกษตรกรอาชีพเลี้ยงควาย และฟาร์มเลี้ยงควายจากทั่วประเทศ นำควายเข้าร่วมการประกวดกว่า 200 แห่ง
นางรำไพ ภูวราห์ นักวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า สำหรับงานมหกรรมประกวดควายงาม ควายยักษ์ ควายแคระ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ในครั้งนี้จัดขึ้นเป็น ครั้งที่ 2 เป็นการประกวด ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระขนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จ พระเทพรัตน์ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 -30 มิถุนายน 2567 ในงานเกษตรแฟร์กาฬสินธุ์ ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยสำนักพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต คณะเกษตร ศูนย์สารสนเทศกระบือนานาชาติ กรมปศุสัตว์ และคนเลี้ยงกวายลุ่มน้ำปาว จ.กาพสินธุ์ร่วมกันจัดขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริม พัฒนา อาชีพการเลี้ยงควาย ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย เป็นแหล่งพบปะสำหรับกลุ่มคนเลี้ยงควาย และผู้สนใจ เปิดโลกควายไทยให้เป็นที่รู้จักยิ่งขึ้น
ด้านรองศาสตราจารย์จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวว่า งานครั้งนี้เป็นการรวมตัวกันเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีและวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า เพราะควายถือเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญในวิถีชีวิตของชาวนาไทยมาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นการไถนาหรือการขนส่ง ควายยังเป็นสัญลักษณ์ของความขยันขันแข็งและความพยายาม นอกจากนี้การแข่งขันควายยังเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมความสามัคคีและความสุขของชุมชนอีกด้วย ซึ่งวันนี้จะได้เห็นควายที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีจากผู้เข้าแข่งขันที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ และไม่เพียงแต่จะได้เห็นความสามารถของควาย แต่ยังได้เห็นความร่วมมือและความพยายามของผู้เข้าร่วมการแข่งขันทุกคน เป็นการรวมสุดยอดควายไทย เป็นการรวมสุดยอดพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ที่มีราคาหลักล้านไปจนถึงหลายสิบล้านบาท สำหรับการแข่งขันประกอบไปด้วยหลายประเภท ทุกกิจกรรมเป็นการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ และความรักในควายซึ่งเป็นสัตว์ที่มีคุณค่าในวัฒนธรรมไทย