ยะลา-เบตง ผู้ว่ายะลาเกษตรจังหวัดป้องกันแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ
เบตง ผู้ว่ายะลา นำทัพ ขับเคลื่อนวาระ “ยะลาเมืองทุเรียน ด้วย BCG Model ผลักดันมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) พร้อมออกมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ตอกย้ำภาพลักษณ์ทุเรียนคุณภาพจังหวัดยะลาอร่อยที่สุด
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 25 มิ.ย.67 ที่แปลงทุเรียน ม.2 ต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง จ.ยะลา นายอำพล พงศ์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้แถลงข่าวความพร้อมก่อนถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวทุเรียนจังหวัดยะลา ซึ่งได้จัดทำวาระจังหวัดยะลาเพื่อการแก้ไขปัญหาทุเรียนด้วย BCG Model โดยจัดทำแนวทางขับเคลื่อนวาระ “ยะลาเมืองทุเรียน” ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพทุเรียนของจังหวัดยะลา ให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคและตลาดทุกระดับ
รวมทั้งออกมาตรการกำกับดูแลให้เกษตรกร มือคัด มือเคาะตลอดถึงผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งในประเทศและและส่งออกต่างประเทศ อยู่ในระบบปฏิบัติตามมาตรการของรัฐ สามารถตรวจสอบได้ เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ของผลไม้คุณภาพดีจังหวัดยะลาให้เป็นที่รู้จัก และสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคในการซื้อสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพปลอดภัย โดยมี นายกัสมัน ยะมาแล เกษตรจังหวัดยะลา นายวิสุทธิ์ โชตน์ธนานันต์ เกษตรกรชาวสวนทุเรียน ส่วนราชการ สื่อมวลชน เข้าร่วม
นายอำพล พงศ์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า การผลิตทุเรียนจังหวัดยะลาในปี 2567 มีพื้นที่ปลูกรวม 105,401 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ร้อยละ 9.53 พื้นที่ให้ผลผลิต จำนวน 73,382 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ร้อยละ 9.87 คาดว่าจะมีผลผลิตประมาณ 73,358 ตัน อำเภอที่มีการปลูกเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ อำเภอเบตง เนื่องจากระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ราคาทุเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรทำการปลูกทุเรียนทดแทน ยางพารา ลองกอง และเงาะ โดยผลผลิตทุเรียนรุ่นแรกพันธุ์เบา เช่น มูซังคิง โอฉี่(หนามดำ) จะออกสู่ตลาดตั้งแต่ต้นเอนมิถุนายน ส่วนทุเรียนหมอนทองซึ่งเป็นพันธุ์หนักรุ่นแรกจะเริ่มเก็บเกี่ยวช่วงปลายเดือนมิถุนายน
และช่วงที่มีปริมาณทุเรียนหมอนทองออกสู่ตลาดจำนวนมากคือช่วงปลายเดือนกรกฎาคม – กลางเดือนสิงหาคม และคาดว่าปีนี้ทุเรียนจะทยอยเก็บเกี่ยวได้ถึงต้นเดือนตุลาคม สำหรับปัญหาทุเรียนอ่อนและหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน จังหวัดยะลาได้มีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ออกสู่ตลาด โดยออกประกาศจำนวน 6 ฉบับ เพื่อกำกับดูแลให้เกษตรกร ผู้ประกอบการส่งออก ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกทุเรียน ให้มีการจำหน่ายสินค้าคุณภาพ เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ของทุเรียนคุณภาพดีจังหวัดยะลา ให้เป็นที่รู้จักและสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคในการซื้อสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและปลอดภัย ดังนี้
1. ประกาศจังหวัดยะลา เรื่อง มาตรการในการควบคุมป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาด ปี 2567 กำหนดวันเริ่มเก็บเกี่ยวทุเรียนหมอนทอง 23 กรกฎาคม 2567
2.ประกาศจังหวัดยะลา เรื่อง ขอความร่วมมือเกษตรกร ผู้ประกอบการค้าส่ง ค้าปลีก และผู้จำหน่ายทุเรียน ไม่ซื้อ ไม่จำหน่าย ทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) หรือกระทำการโดยวิธีหนึ่งวิธีใดที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นทุเรียนคุณภาพ เพื่อช่วยกันสร้างภาพลักษณ์ทุเรียนคุณภาพตลอดจนรักษาชื่อเสียงของจังหวัดยะลา
3.ประกาศจังหวัดยะลา เรื่อง การกำหนดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแป้งหรือน้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน (พันธุ์หมอนทอง น้ำหนักแป้งไม่น้อยกว่า 32 เปอร์เซ็นต์ พันธุ์พวงมณีน้ำหนักแป้งไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ พันธุ์ชะนีน้ำหนักแป้งไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ )
4.ประกาศจังหวัดยะลา เรื่อง มาตรการดำเนินคดีแก่ผู้จำหน่ายทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) เช่น โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ( ถ้าผู้กระทำผิดตามวรรคหนึ่งกระทำผิดซ้ำอีก ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
5.ประกาศจังหวัดยะลา เรื่อง ขอความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการตรวจก่อนตัด เป็นมาตรการที่เกษตรกร จุดให้บริการตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งเนื้อทุเรียน สถานประกอบการและชุดปฏิบัติการตรวจตู้ก่อนส่งออก
และ 6.ประกาศจังหวัดยะลา เรื่อง การขึ้นทะเบียนนักตัดนักคัดทุเรียน มือเคาะทุเรียน ผู้ประกอบการ รถรั้วและรถเร่ แผง ล้ง ผู้ประกอบการค้าทุเรียน ในพื้นที่จังหวัดยะลา ให้ขึ้นทะเบียนที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดยะลา หรือลงทะเบียนรูปแบบออนไลน์ได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ ก่อนซื้อ ขาย จำหน่ายทุเรียน เพื่อความสะดวกในการติดต่อประสานงาน ป้องกัน และควบคุมคุณภาพทุเรียน
ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่า การขับเคลื่อนวาระ ยะลาเมืองทุเรียน และมาตรการที่ออกมาใช้จะสามารถลดปัญหาทุเรียนอ่อนและหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะเป็นมาตรการที่รักษาภาพลักษณ์ทุเรียนคุณภาพของจังหวัดยะลาซึ่งเป็นทุเรียนที่อร่อยที่สุดให้เป็นที่ยอมรับในระยะยาว