24/11/2024

เชียงใหม่-เปิดกิจกรรมปฐมนิเทศนักเรียนชั้น ม. 4 โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ฯ กลุ่มภาคเหนือตอนบน ปี 2567

เชียงใหม่-เปิดกิจกรรมปฐมนิเทศนักเรียนชั้น ม. 4 โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ฯ กลุ่มภาคเหนือตอนบน ปี 2567

 

วันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2567 โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย โดยนายสำเร็จ ไกรพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ประธาน
ศูนย์เครือข่ายห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม กลุ่มภาคเหนือตอนบน จัดกิจกรรมปฐมนิเทศนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ในโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม กลุ่มภาคเหนือตอนบน ประจําปีการศึกษา 2567

โดยมีนายคงกระพัน เวฬุสาโรจน์ ศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม พร้อมด้วย นายบุญเสริญ สุริยา ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย กล่าวต้อนรับ นายสมบัติ คำบุญสูง รองผู้อำนวยการโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย กล่าวรายงาน ผู้ประสานงานห้องเรียนพิเศษ วิทยาศาสตร์ฯ เครือข่ายภาคเหนือตอนบน คณะวิทยากร คณะผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู แขกผู้มีเกียรติ และนักเรียนในโครงการห้องเรียนพิเศษ วิทยาศาสตร์ฯ ร่วมเปิดกิจกรรม ณ.ห้องประชุมดารารัศมี โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย

นายคงกระพัน เวฬุสาโรจน์ ศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่าโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ฯ กลุ่มภาคเหนือตอนบน เป็นกิจกรรมที่มีคุณค่า และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับนักเรียนห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ฯ เพราะในชีวิตประจำวันของนักเรียนและของมนุษย์ทุกคน จะต้องเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา วิวัฒนาการทางด้านความรู้ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้านของชีวิต จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหล่อหลอมให้คนในสังคม

โดยเฉพาะเยาวชนได้รู้จักวิธีการคิดอย่างมีเหตุผล มีวิธีการแก้ปัญหาต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ อันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาด้านสติปัญญา            โดยใช้กระบวนการแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เนื่องจากกระบวนการดังกล่าว เป็นกระบวนการที่สร้างคนให้มีเหตุผล มีความเชื่อมั่นในตนเอง ผ่านการวิเคราะห์สภาพการณ์ หรือปัญหาในชีวิตประจำวัน ให้อยู่ในแนวทางของเหตุและผลตามหลักตรรกะทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะเป็นคุณลักษณะหนึ่งที่สำคัญของพลเมืองในสังคมยุคปัจจุบัน และต่อไปในอนาคต

นายบุญเสริญ สุริยา ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย กล่าวว่า โรงเรียนยุพราชวิทยาลัยได้เจริญก้าวหน้า มีพัฒนาการด้านคุณภาพ   ในการจัดการศึกษาอันมีรูปแบบที่เหมาะสมกับแต่ละยุคสมัยมาอย่างต่อเนื่อง เป็นโรงเรียน แม่ข่ายหรือศูนย์การเรียนรู้ในโครงการพิเศษต่าง ๆ มากมาย ทั้งในระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ รวมถึงยังได้รับเป็นศูนย์ประสานงานโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม กลุ่มภาคเหนือตอนบน อีกด้วย

ซึ่งในบทบาทหน้าที่ที่ได้รับนี้ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัยจึงได้ประสานความร่วมมือกับโรงเรียน ในเครือข่าย รวมถึงองค์กรภาคีเครือข่ายของโรงเรียน และหน่วยงานทางด้านวิทยาศาสตร์ ในการระดมสรรพกำลังของบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ทางด้านวิทยาศาสตร์ มาช่วยกันขับเคลื่อนงานโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ฯ ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และมุ่งตรงสู่การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อผู้เรียน

การเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ มั่นใจว่านอกเหนือจากได้รับความรู้จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว นักเรียนและครูผู้ประสานงานโครงการทุกท่าน ยังจะได้รับประสบการณ์ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างโรงเรียน ซึ่งสิ่งนี้มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เนื่องด้วยในแต่ละโรงเรียนอาจมีข้อดีและข้อจำกัดบางประการที่ไม่สามารถต่อยอดและเพิ่มพูนศักยภาพให้แก่นักเรียนได้อย่างสมบูรณ์แบบ หากแต่เมื่อได้เดินทางมาพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน อาจจะเป็นการจุดประกายความคิดให้ทุกท่าน นำไปต่อยอดในการจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมให้นักเรียนได้ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการผลิตผลงาน หรือสร้างโครงงานทางวิทยาศาสตร์ให้สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณชนได้จริง ในวงกว้างต่อไป

ด้านนายสมบัติ คำบุญสูง รองผู้อำนวยการโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย กล่าวว่า กิจกรรมปฐมนิเทศนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ปีการศึกษา 2567  ของโรงเรียนในเครือข่ายโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี    และสิ่งแวดล้อม กลุ่มภาคเหนือตอนบน หรือกลุ่มโรงเรียน S.M.T.E. ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนแม่ข่าย รับหน้าที่ดำเนินการจัดกิจกรรมเป็นประจำทุกปี มาตั้งแต่ ปีพุทธศักราช 2551 ถึงปัจจุบัน เพื่อสร้างเจตคติที่ดีต่อวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม รวมถึงจุดประกายแนวคิดในการทำโครงงาน และงานวิจัยสำหรับนักเรียนในโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ฯ ของโรงเรียนในเครือข่าย ให้เกิดความต่อเนื่อง ยั่งยืน และเกิดประสิทธิผล ที่เป็นรูปธรรม

การจัดกิจกรรมครั้งนี้ มีคณะครูและนักเรียนจากโรงเรียนในเครือข่ายกลุ่มภาคเหนือตอนบน จำนวน23โรงเรียน เข้าร่วมกิจกรรมรวมทั้งสิ้น 694 คน โดยดำเนินการจัดกิจกรรมระหว่างวันที่ 23-25 มิถุนายน พุทธศักราช 2567 ทั้งนี้ ได้รับความอนุเคราะห์วิทยากรจาก สพฐ. รวมถึงคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้มาให้ความรู้ และบรรยายพิเศษเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานวิจัยให้แก่นักเรียน

ตลอดจนมีกิจกรรมการศึกษาเรียนรู้ตัวอย่างงานวิจัย จากแหล่งเรียนรู้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ ที่หลากหลาย เพื่อให้นักเรียนได้รับโอกาสในการพัฒนาความรู้ และทักษะด้านวิทยาศาสตร์ รวมทั้งได้เพิ่มพูนประสบการณ์ ในการ เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัย และได้พบกับนักวิทยาศาสตร์มืออาชีพ เพื่อเป็นการจุดประกายในการเขียนหัวข้อโครงร่างงานวิจัยของนักเรียนต่อไป

 

พัฒนชัย/เชียงใหม่

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป