24/11/2024

รัฐบาล โดยวธ.เดินหน้าเชิดชูอาหารถิ่น 77 จังหวัด ปีที่ ๒ ยกระดับสู่เมนูยอดนิยมเพิ่มมูลค่าให้อุตสาหกรรมอาหารไทย สร้างความมั่นคงให้เศรษฐกิจท้องถิ่นและประเทศ

กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) พร้อมภาคีภาครัฐ เอกชน ประชาสังคมขับเคลื่อน “๑ จังหวัด ๑ เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” โครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่น สู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food) “รสชาติ…ที่หายไป The Lost Taste” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ ผลักดันสู่เมนูอาหารยอดนิยม เสริมภาคการท่องเที่ยว หนุนความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้ท้องถิ่น

 

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า เมื่อปี ๒๕๖๖ วธ. โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ดำเนินการร่วมกับกาชาด ๗๗ จังหวัดทั่วประเทศ เฟ้นหา “๑ จังหวัด ๑ เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่น สู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food) “รสชาติ…ที่หายไป The Lost Taste” ซึ่งได้รับการตอบรับจากทุกภาคส่วน ประชาชนทั่วไปรวมถึงนักท่องเที่ยวให้ความสนใจตามหาและชิมเมนูอาหารที่หารับประทานได้ยากของจังหวัดต่าง ๆ โดยในหลายเมนูได้รับการพัฒนาต่อยอดให้เป็นเมนูยอดนิยม กระต้นภาคการท่องเที่ยว นำมาซึ่งรายได้ให้ภาคอุตสาหกรรมอาหารในท้องถิ่นและจังหวัด

 

นางสาวสุดาวรรณ เผยอีกว่า “อาหาร” เป็นหนึ่งในนโยบายขับเคลื่อน Soft power ของรัฐบาลตามยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ Thailand creative content agency (THACCA) กับ ๑๑ กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ในปี ๒๕๖๗ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงเดินหน้าจัดโครงการด้านอาหาร ต่อเนื่องเป็นปีที่ ๒ ด้วยการบูรณาการหน่วยงานภาคี อาทิ กรมการแพทย์แผนไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อเสริมสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการอาหารในพื้นที่ สู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ในระดับประเทศ ด้วยการให้แต่ละจังหวัดเฟ้นหารวบรวมเมนูอาหารถิ่นที่กำลังจะสูญหาย หาทานยาก มาสร้างสรรค์ พัฒนา ยกระดับให้เป็นอาหารยอดนิยม ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย รณรงค์ให้คนในพื้นที่เกิดความตระหนักภาคภูมิใจ และปลูกฝังค่านิยมการบริโภคนอาหารจากภูมิปัญญาพื้นบ้านแก่เยาวชนรุ่นใหม่ เป็นการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้อาหารไทยถิ่น เป็น Soft power ที่มีศักยภาพหนุนการท่องเที่ยว สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้ท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ

 

ในส่วนแนวทางการขับเคลื่อนโครงการฯ นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า สวธ. โดยคณะกรรมการของแต่ละจังหวัดที่ตั้งขึ้น จะดำเนินการคัดเลือกเมนูอาหารท้องถิ่นของตนเอง ตามหลักเกณฑ์การคัดเลือก ๖ ด้าน ประกอบด้วย ๑. ด้านประวัติความเป็นมา/ ภูมิปัญญา/ ด้านวิธีการปรุง/ เคล็ดลับ ๒. ด้านคุณค่าควรแก่การสืบสานและถ่ายทอด ๓. ด้านวัตถุดิบท้องถิ่นที่สำคัญของอาหาร ๔. ด้านการเผยแพร่และพัฒนาต่อยอดเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ๕. ด้านโภชนาการ และ ๖. ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยจะคัดเลือกใน ๓ เมนูหลัก ได้แก่ “อาหารคาว” “อาหารหวาน” และ “อาหารว่าง” ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มต้นขั้นตอนการเปิดรับข้อมูลอาหาร การคัดเลือกเมนูอาหารถิ่นระดับจังหวัด หลังจากได้เมนูอาหารแล้ว แต่ละจังหวัดจะมีการเปิดให้ประชาชนในพื้นที่โหวตสุดยอดเมนูอาหารถิ่นของจังหวัด จากนั้น กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จะทำการประกาศเผยแพร่เมนูอาหารถิ่น ประจำปี ๒๕๖๗ ทั้ง ๗๗ จังหวัด ภายในเดือน สิงหาคม ๖๗ นี้ ต่อไป

 

โอกาสนี้ วธ.ขอเชิญชวนผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป มีส่วนร่วมค้นหาและเชิดชูอาหารของจังหวัดต่าง ๆ ที่หาทานยาก มีคุณค่าควรอนุรักษ์และต่อยอด ด้วยการส่งข้อมูลเมนูอาหารคาว อาหารหวาน และอาหารว่าง เพื่อให้คัดเลือกเป็นเมนูอาหารถิ่นของจังหวัด ในส่วนภูมิภาคส่งได้ที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศ

กรุงเทพมหานครส่งได้ที่ กลุ่มสนับสนุนกิจการพิเศษ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม โทร 02 247 0013 ต่อ 1414 และ 1419 และติดตามข่าวสารได้ทาง Facebook อาหารไทยถิ่น Thailand Best Local Food

เจนกิจ นัดไธสง รายงาน

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป