19/09/2024

เชียงใหม่-โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ ร่วมพิธีทำบุญสืบชะตาเมืองเชียงใหม่ ประจำปี 2567 ณ หน่วยพิธีแจ่งกู่เฮือง

จังหวัดเชียงใหม่ จัดพิธีทำบุญสืบชะตาเมือง ประจำปี 2567 เพื่อความเป็นสิริมงคล ต่ออายุบ้านเมือง สร้างความสุข สมบูรณ์แก่ประชาชน และสืบสานประเพณีที่มีมาแต่โบราณ

 

วันที่ 20 มิถุนายน 2567 เวลา 9.39 น. นายพิพัฒน์ สายสอน ผู้อำนวยการโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ ประธานการดำเนินงานพิธีทำบุญเมืองเชียงใหม่ หน่วยพิธีแจ่งกู่เฮือง พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร ตัวแทนคณะครู บุคลากรทางการศึกษา และตัวแทนนักเรียนโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ เข้าร่วมพิธีทำบุญเมืองและสืบชะตาเมืองเชียงใหม่ ณ หน่วยพิธีแจ่งกู่เฮือง


โดยได้รับความเมตตาจากคณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบพิธีทางศาสนา ได้เกียรติจาก นายสิทธิศักดิ์ อภิกุลชัยสุทธิ์ นายอำเภอเมืองเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีทำบุญเมืองและสืบชะตาเมืองเชียงใหม่ ประจำปี 2567 (แจ่งกู่เฮือง) เป็นประธานในพิธี มีกรรมการร่วมในการดำเนินการ พิธีทำบุญเมืองและสืบชะตาเมืองเชียงใหม่ ได้แก่ นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง กรรมการ และ นางเบญจรัตน์ ธนเศรษฐ์สาคร ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลวัดศรีปิงเมือง กรรมการและเลขานุการ และ เครือข่ายการดำเนินงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ห้างร้านและประชาชนในละแวกใกล้เคียง ร่วมดำเนินการพิธี เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมือง และศรัทธาประชาชน

ประเพณีสืบชะตาเมือง นับตั้งแต่มีการสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1839 เป็นต้นมา เจ้าผู้ครองนครและไพร่ฟ้าประชาชนจะร่วมกันทำพิธีสืบชะตาเมือง อันเป็นพระราชพิธีต่ออายุเมืองให้ยืนยงคงอยู่และสร้างความสุขสมบูรณ์แก่อาณาประชาราษฎร์ โดยก่อนหน้าที่จะทำพิธีสืบชะตาเมืองจะทำพิธี บูชาไหว้เสาอินทขิล หรือ ประเพณีใส่ขันดอกอินทขีล อันเป็นเสาหลักของเมืองก่อน ซึ่งจะกระทำในราวปลายเดือน 8 เป็นเวลา 7 วัน 7 คืน ไปเสร็จสิ้นเดือน 8 เหนือ หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ประเพณี 8 เข้า 9 ออก” หลังจากนั้นแล้วก็จะทำพิธีสืบชะตาเมือง

ความเชื่อแต่โบราณว่าการเกิดเมืองหรือการสร้างเมืองนั้นจะสร้างตามฤกษ์ยามและกำหนดสถานที่มหามงคลต่างๆไว้ ซึ่งในอดีตนั้นได้กำหนดสถานที่มงคลไว้คือ ประตูเมือง,แจ่งเมืองและบริเวณกลางเมืองหรือสะดือเมือง ให้มีความสอดคล้องกับชัยภูมิ การวางผังเมืองและความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์ โดยได้ยืดถือ คัมภีร์มหาทักษา ซึ่งจะประกอบตามทิศของแผนภูมินคร อันประกอบด้วยบริวารเมือง อายุเมือง เดชเมือง ศรีเมือง มูลเมือง อุตสาหเมือง มนตรีเมืองและกาลกิณีเมือง

การสืบชะตาเมืองตามความเชื่อของชาวล้านนาเป็นพิธีที่จัดทำขึ้นเพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง ทั้งนี้เพราะบางครั้งเห็นว่าบ้านเมืองเกิดความเดือดร้อนจากอิทธิพลของดาวพระเคราะห์มาเบียดบัง ทำให้เมืองเกิดความปั่นป่วนวุ่นวายเพราะการจลาจล การศึกและเกิดโรคภัยไข้เจ็บแก่ประชาชนในเมือง ดังนั้นจึงต้องทำพิธีสืบชะตาเมืองขึ้น ชาวเชียงใหม่เรียกว่า “แจ่งกู่เฮือง”แต่เขียนเป็น “แจ่งกู่เรือง” หมายถึงที่บรรจุอัฐิของหมื่นเรือง ซึ่งเป็นผู้คุม”ขุนเครือ” โอรสของพญามังรายไว้ในเรือนขังที่บ้านของหมื่นเรืองระหว่าง พ.ศ. 1864-1868

ความเป็นมาของชื่อแจ่งนี้ เนื่องจากขุนเครือ โอรสของพญามังรายคิดกบฏชิงราชสมบัติจากพญาแสนภู พญาแสนภูไม่ต่อสู้ แต่หนีไปยังเมืองเชียงราย ซึ่งพระราชบิดา”พญาไชยสงคราม”ครองเมืองอยู่ พญาไชยสงครามให้โอรสยกทัพมาปราบปรามและจับขุนเครือไปคุมขังไว้ที่มุมเมืองด้านนี้ เนื่องจากขุนเครือเป็นโอรสกษัตริย์ และเป็นอนุชาของพญาไชนสงคราม การคุมขังจึงแตกต่างไปจากนักโทษโดยทั่วไป ในที่นี้จึงใช้คำว่า”เรือนขัง” ซึ่งเป็นบริเวณบ้านของหมื่นเรืองนั่นเอง ภายหลังหมื่นเรืองผู้คุมพิเศษท่านนี้ได้เสียชีวิต จึงอาจมีการสร้างกู่บรรจุอิฐิของท่านไว้บริเวณนี้ ทำให้ชาวบ้านเรียกบริเวณนี้เป็นแจ่งกู่เรือง ตามชื่อท่าน

ป้อมหรือแจ่งกู่เฮืองนี้ ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ป็นสมัยพระเจ้ากาวิละประมาณ พ.ศ. 2344 และได้รับการดูแลรักษาฟื้นฟูสภาพมาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นแจ่งเมืองหนึ่งที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน โดยปัจจุบันบริเวณใกล้กับแจ่งนี้ เป็นสวนสาธารณสวนบวกหาด เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจแห่งหนึ่งของคนเชียงใหม่ เมื่อนั่งพักผ่อนในบริเวณนี้แล้ว มองออกมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้จะเห็นแจ่งกู่เฮืองตั้งตระหง่านอยู่ด้านหน้าโดยมีทิวเขาที่มีพระบรมธาตุดอยสุเทพอยู่เป็นฉากหลังดูสวยงามยิ่งนัก

สำหรับ “พิธีสืบชะตาเมือง” ได้กำหนดจัดขึ้นทั้งหมด 10 จุด คือบริเวณประตูเมืองทั้ง 5 ประตู ได้แก่ ประตูท่าแพ ประตูเชียงใหม่ ประตูแสนปุง ประตูสวนดอก ประตูช้างเผือก บริเวณแจ่งเมืองทั้ง 4 แจ่ง ได้แก่
แจ่งกู่เฮือง แจ่งหัวลิน แจ่งศรีภูมิ แจ่งก๊ะต๋ำ และ และที่บริเวณอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ (กลางเวียง) ซึ่งถือว่าเป็นจุดศูนย์กลางของเมือง โดยจุดพลุให้สัญญาณพิธี จากบริเวณกลางเวียง เพื่อส่งสัญญาณให้ประกอบพิธีขึ้นพร้อมกันทุกจุดบริเวณรอบตัวเมืองเชียงใหม่

นภาพร / เชียงใหม่

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป