23/11/2024

ผู้ช่วย ผบ.ตร. ตรวจการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการเลือก สว.ระดับจังหวัด ของกรุงเทพมหานคร และ จ.นครราชสีมา กำชับการปฏิบัติหน้าที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ผู้ช่วย ผบ.ตร. ตรวจการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการเลือก สว.ระดับจังหวัด ของกรุงเทพมหานคร และ จ.นครราชสีมา กำชับการปฏิบัติหน้าที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตลอดภารกิจ

วันนี้ (16 มิ.ย.67) เวลา 10.00 น. พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) ลงพื้นที่ตรวจสังเกตการณ์การรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของหน่วยเลือกสมาชิกวุฒิสภา หรือ สว. ระดับจังหวัด ในสถานที่เลือก สว. พื้นที่กรุงเทพมหานคร ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทาราไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ซึ่งในวันนี้เป็นวันเลือก สว.ระดับจังหวัด โดยดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศ โดยในกรุงเทพมหานครวันนี้มีผู้สมัครรับเลือกมารายงานตัว 1,617 คน

จากข้อมูลการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา ด้วยวิธีการ “เลือกกันเอง” ของกลุ่มผู้สมัคร ในกลุ่มลักษณะของแต่ละอาชีพ ทั้ง 20 กลุ่ม ในระดับอำเภอหรือเขต จาก 928 แห่งทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.67 ที่ผ่านมา มีผู้ที่ได้รับเลือกสมาชิกวุฒิสภา ระดับอำเภอหรือเขต จำนวน 23,645 คน ซึ่งในส่วนของกรุงเทพมหานคร จาก 50 เขต มีผู้ที่ได้รับเลือกสมาชิกวุฒิสภา ระดับเขต จำนวน 1,634 คน

สำหรับในวันนี้เป็นการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ระดับจังหวัด โดย รอบที่ 1 จะเป็นการลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มลักษะอาชีพเดียวกัน และการเลือกรอบที่ 2 เป็นการลงคะแนนเลือกผู้สมัคร ในกลุ่มลักษะอาชีพอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน (แบบไขว้) เพื่อที่จะได้ตัวแทนผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา ระดับจังหวัด โดยจะมีผู้สมัครที่ได้รับคะแนนสูงสุด 2 ลำดับแรก ของแต่ละกลุ่ม จากจำนวน 20 กลุ่ม เป็นผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดสำหรับกลุ่มนั้น

ต่อจากนั้น พล.ต.ท.กรไชยฯ เดินทางไปสังเกตการณ์การรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของหน่วยเลือก สว. ระดับจังหวัด พื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีผู้ที่ได้รับเลือก สว.ระดับอำเภอ จำนวน 324 คน จาก 32 อำเภอ โดยเป็นจังหวัดที่มีอำเภอมากที่สุดในประเทศ

พล.ต.ท.กรไชยฯ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจในการรักษาความปลอดภัยและดูแลความสงบเรียบร้อยภายในบริเวณสถานที่เลือก สว. สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการประจำสถานที่เลือก เช่น การอำนวยการจราจร ชุดเคลื่อนที่เร็ว การประสานการช่วยเหลือเร่งด่วนกรณีมีเหตุการณ์หรือสถานการณ์วิกฤต และรักษาความปลอดภัยบัตรลงคะแนน หีบบัตรลงคะแนน เอกสารและวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในการเลือก รวมทั้งเครื่องมือสื่อสารของผู้สมัคร ตลอดระยะเวลาจนเสร็จสิ้นภารกิจ ตลอดจนการสืบสวนหาข่าวการกระทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง และการจัดพนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์ ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ได้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีกับผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งจากการลงพื้นที่สังเกตการณ์การดูแลรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยภายในสถานที่เลือก สว.ระดับจังหวัด ของกรุงเทพมหานคร และ จ.นครราชสีมา ในวันนี้ มีการดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่พบการกระทำความผิด ตลอดจนภาพรวมทั่วประเทศ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยในทุกจังหวัด

นอกจากนี้ พล.ต.ท.กรไชยฯ กล่าวว่า มีข้อห่วงใยต่อผู้สมัครรับเลือกสมาชิกวุฒิสภา เกี่ยวกับพฤติกรรมอันอาจเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 เช่น การนำอุปกรณ์สื่อสาร บันทึกภาพ-เสียงเข้าไปในสถานที่, การนำบัตรลงคะแนนออกจากสถานที่เลือก, การฉีก/ทำลายบัตรลงคะแนน, การข่มขู่ผู้สมัคร สว. ให้ลงคะแนนเสียงให้ตนเอง, การรับสินบนเพื่อเลือกหรือไม่เลือกผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งถือเป็นความผิดตามกฎหมายเลือกตั้งฯ ส่วนประชาชน องค์กร ที่ร่วมสังเกตการณ์การเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับจังหวัด ต้องดำเนินการตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด ไม่ก้าวก่าย ยุ่งเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการประจำสถานที่เลือกในแต่ละระดับ และไม่เป็นอุปสรรคในระหว่างดำเนินการเลือก

สำหรับการตรวจสอบติดตามเกี่ยวกับกลุ่มการเมือง องค์กรการเมือง และกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการตรวจสอบติดตามอยู่แล้ว ซึ่งเชื่อว่าสิ่งที่ทางตำรวจเตรียมความพร้อมเอาไว้จะสามารถเข้าไปดำเนินการได้ทันทีซึ่ง กกต.จะเป็นผู้พิจารณาว่าการกระทำนั้นๆ เป็นการทำความผิดหรือไม่ หากเป็นการทำความผิดก็เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดำเนินคดี ซึ่งจะมีกลุ่มพนักงานสืบสวนสอบสวนทุกจังหวัดแล้ว มีกฎหมายที่สามารถดำเนินคดีได้ทันที

ทั้งนี้ หากพบเห็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กกต.กำหนด หรือพบเห็นการกระทำที่ทำให้การเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561สามารถแจ้งผ่านช่องทางได้ 4 ช่องทาง ดังนี้
1. ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดสำหรับปฏิบัติหน้าที่ในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา
2. สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดและกรุงเทพมหานคร
3. เจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ หรือสายด่วนแจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย หมายเลข 191 หรือสายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ – แจ้งเบาะแสอาชอาญากรรม หมายเลข 1599
4. แอปพลิเคชันตาสับปะรด ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือสายด่วน 1444

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป