กาฬสินธุ์รมว.การท่องเที่ยวร่วมสืบสานประเพณีบวงสรวงเจ้าปู่เมืองแสน
“เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และประชาชนร่วมกันสืบสานประเพณีบวงสรวงเจ้าปู่เมืองแสน สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้าน คู่เมือง ของชาวตำบลฆ้องชัยพัฒนา อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมตรวจเยี่ยมศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ “สวนปันบุญ” แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรสุขภาพ ขณะที่ชาวบ้านฮือฮาเลขเด็ดล้วงไหกลางงานพิธี 704
วันที่ 12 มิถุนายน 2567 ที่วัดกุดฆ้องชัยวนาราม ต.ฆ้องชัยพัฒนา อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานพิธีบวงสรวงเจ้าปู่เมืองแสน สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้าน คู่เมือง ของชาว ต.ฆ้องชัยพัฒนา และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งทางเทศบาลตำบลฆ้องชัยพัฒนา ร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วน และประชาชนจัดขึ้น เพื่อร่วมกันสืบสานประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นให้อยู่สืบต่อไป
โดยมีนายธนภัทร ณ ระนอง รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ นายวิรัช พิมพะนิตย์ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 1 นายพลากร พิมพะนิตย์ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 2 นายสำเนียง หวังเจริญ ท้องถิ่น จ.กาฬสินธุ์ นางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล นายกอบจ.กาฬสินธุ์ นายอำนาจ อำภะวา นายกเทศมนตรีตำบลฆ้องชัยพัฒนา นางสาวสัตบุษย์ บุญเรือง เลขานุการนายกอบจ.กาฬสินธุ์ ผู้แทนนายประเสริฐ บุญเรือง ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 6 พร้อมด้วยนายอำเภอฆ้องชัย ส่วนราชการ ผู้นำชุมชน และประชาชนร่วมงานกันอย่างพร้อมเพียง
โดยในงานชาวบ้านต่างพากันนำเครื่องเซ่นไหว ทั้งอาหารคาว หวาน และผลไม้มงคล แต่ละอย่างมีความหมายดี ทั้งความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน อยู่เย็นเป็นสุข ปลอดจากโรคภัยไข้เจ็บ เช่น ธูป เทียน หัวหมู เป็ด ไก่ พวงมาลัย ข้าวตอก ดอกไม้ ผลไม้ กล้วย ส้ม เพื่อบวงสรวงและถวายเครื่องสักการะเจ้าปู่เมืองแสน เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว พร้อมขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์หมู่บ้านอยู่เย็น เป็นสุข และให้ฝนฟ้าตกต้องถามฤดูกาลมีน้ำเพียงพอทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์
ทั้งนี้ยังมีการรำบวงสรวง และปล่อยปลา เพื่อเพิ่มประชากรสัตว์น้ำ และเป็นแหล่งอาหารชุมชนอีกด้วย นอกจากนี้นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยังได้เสี่ยงทายหยิบลูกปิงปองในไหผ่านการทำพิธีบวงสรวง ปรากฏว่าหยิบได้หมายเลข 704 ซึ่งสร้างความฮือฮาให้กับผู้มาร่วมงานอย่างมาก หลายคนตีเป็นเลขเด็ดและยังหวังเอาไปเสี่ยงโชคในวันที่ 16 มิถุนายนนี้อีกด้วย
จากนั้นนายเสริมศักดิ์ พร้อมคณะได้เยี่ยมติดตามผลการดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ “สวนปันบุญ” แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรสุขภาพ ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดให้การต้อนรับ และเดินทางไปเยี่ยมชมบึงขยอง สถานที่ตั้งโครงการพัฒนาบึงขยองสู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรมของอำเภอฆ้องชัย
ด้านนายอำนาจ อำภะวา นายกเทศมนตรีตำบลฆ้องชัยพัฒนา กล่าวว่า พิธีบวงสรวงและถวายเครื่องสักการะเจ้าปู่เมืองแสน เป็นกิจกรรมหนึ่งที่สืบทอดกันมาตั้งแต่เมื่อครั้งก่อตั้งชุมชนกุดฆ้องชัย ซึ่งทุกภาคส่วน และประชาชนร่วมกันจัดขึ้น เพื่อเป็นการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีประจำชุมชน ได้คุ้มครอง ปกปัก รักษาให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข และเพื่อเป็นการสืบสาน ต่อยอด วัฒนธรรม ประเพณี อันดีงาม ให้คงอยู่กับลูกหลานสืบไป
ด้านนายพลากร พิมพะนิตย์ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 2 กล่าวว่า ประเพณีบวงสรวงและถวายเครื่องสักการะเจ้าปู่เมืองแสน นอกจากจะเป็นการส่งเสริมและอนุรักษ์ สืบสานประเพณีท้องถิ่นอีสานให้คงอยู่ และเผยแผ่ให้เป็นที่รู้จักกันทั่วไปแล้ว ยังถือเป็นการการสร้างความสมัครสมานสามัคคีในท้องถิ่น รวมทั้งปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนเห็นความสำคัญของประเพณีท้องถิ่น และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของท้องถิ่น ที่จะสร้างรายได้สู่ชุมชนด้วย
ขณะที่นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า สำหรับ จ.กาฬสินธุ์ เป็นถิ่นอารยธรรมตั้งแต่สมัยทวาราวดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งโบราณสถานเมืองฟ้าแดดสงยางมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก มีอัตลักษณ์ของจังหวัด คือ”ทะเลธุง”ที่สวยงามประทับใจของผู้ที่ได้มาชม และที่โดดเด่นอีกอย่างก็คือ “บั้งไฟตะไลล้าน” ที่อำเภอกุฉินารายณ์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากาฬสินธุ์ เป็นถิ่นที่มีการอนุรักษ์วัฒนธรรมเข้มข้นอีกจังหวัดหนึ่งของภาคอีสาน และในวันนี้ได้มาสัมผัสกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของชนเผ่าไทย-ลาว(อีสาน) เป็นพิธีบวงสรวงและถวายเครื่องสักการะเจ้าปู่เมืองแสน เป็นกิจกรรมหนึ่งที่สืบทอดกันมาตั้งแต่เมื่อครั้งก่อตั้งชุมชนกุดฆ้องชัย เพื่อเป็นการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีประจำชุมชน ให้ช่วยดูแล คุ้มครอง ปกปัก รักษา และสร้าง ความร่มเย็นเป็นสุข
อย่างไรก็ตามในส่วนแนวคิดที่จะฟื้นฟูประเพณีการแข่งขันเรือยาวของพี่น้องสองฝั่งลำน้ำชี ที่ บ้านท่าแห่(ฝั่งกาฬสินธุ์) และบ้านม่วง (ฝั่งมหาสารคาม) ให้กลับมายิ่งใหญ่และต่อเนื่องตลอดไป เพื่อเอกลักษณ์ของชาวฆ้องชัยนั้นก็ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะนอกจากจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวแล้วยังเป็นการสืบสานประเพณีอีกด้วย