กาฬสินธุ์คึกคักแข่งขันกีฬาเด็กพิเศษสเปเชียลโอลิมปิคภาคอีสานร่วมพัฒนาเด็กพิเศษทั่วไทย
สมาคมกีฬาสเปเชียลโอลิมปิคแห่งประเทศไทย เดินหน้าพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตเด็กพิเศษทั่วประเทศ ร่วมกับสถานศึกษาศูนย์การศึกษาพิเศษหลายจังหวัด จัดแข่งขันทักษะกลไก (MATP) และแอโรบิคส์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อพัฒนาศักยภาพทางร่างกายและจิตใจ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถช่วยเหลือตนเองได้ โดยไม่เป็นภาระของครอบครัวและสังคม ตามสโลแกน “สเปเชียลโอลิมปิคเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” บรรยากาศเป็นไปด้วยความสนุกสนาน
ที่โรงเรียนกาฬสินธุ์ปัญญานุกูล อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นายมีเกียรติ นาสมตรึก เป็นประธานเปิดการแข่งขัน ทักษะกลไก (MATP) และแอโรบิคส์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีนายสงกรานต์ ศรศิลป์ ประธานจัดการแข่งขัน พร้อมด้วยผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากร ผู้ฝึกสอน ผู้ปกครอง นักเรียน ศูนย์การศึกษาพิเศษ 14 สถาบัน 11 จังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 287 คน ร่วมงาน
นายมีเกียรติ นาสมตรึก เป็นประธานเปิดการแข่งขันทักษะกลไก (MATP) และแอโรบิคส์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่าการแข่งขัน ทักษะกลไก (MATP) และแอโรบิคส์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นกิจกรรมใน โครงการพัฒนาสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้พิการทางสมองและปัญญาหรือคนพิเศษ โดยใช้กีฬาเป็นสื่อ เป็นการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพพลานามัย อารมณ์จิตใจ และการเข้าสังคม เพื่อให้บุคคลกลุ่มนี้ได้สามารถช่วยเหลือตนเอง เกิดความเชื่อมั่น และอยู่ในสังคมไทยอย่างมีศักดิ์ศรีและคุณค่า ซึ่งนักกีฬาพิเศษที่เข้าร่วมกิจกรรมสเปเชียลโอลิมปิคจะต้องมีเชาว์ปัญญา (IQ) ต่ำกว่า 85
นายมีเกียรติกล่าวอีกว่า การแข่งขันทักษะกลไก (MATP-Motor Activity Training Program) เป็นกิจกรรมที่ออกแบบมาเพื่อผู้ที่มีความพิการทางสมองและปัญญา รวมถึงผู้ที่พิการซ้ำซ้อน ซึ่งไม่สามารถเข้าร่วมการแข่งขันสเปเชียลโอลิมปิคในกีฬามาตรฐานได้ กิจกรรมทักษะกลไก (Motor Activity Training Program) เป็นกิจกรรมที่เน้นให้นักกีฬาได้พัฒนาสุขภาพและการเคลื่อนไหวของอวัยวะต่างๆ เพื่อช่วยให้นักกีฬามีทักษะ และความสามารถในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น
และเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ออกสู่สังคม มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถช่วยเหลือตนเองได้ โดยไม่เป็นภาระของครอบครัวและสังคมอีกด้วย
ด้านนายสงกรานต์ ศรศิลป์ ประธานจัดการแข่งขัน กล่าวว่า การแข่งขันทักษะกลไก (MATP) และแอโรบิคส์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือครั้งนี้ มีนักกีฬาเข้าร่วมทั้งหมด 171 คน ผู้ฝึกสอน 102 ผู้ปกครอง 17 คน รวมทั้งหมด 287 คน จากจำนวนสถาบันที่เข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 14 สถาบัน จาก 11 จังหวัด
ประกอบด้วย ร.ร.กาฬสินธุ์ปัญญานุกูล จ.กาฬสินธุ์, ร.ร.อุบลปัญญานุกูล จ.อุบลราชธานี, ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 9 จ.ขอนแก่น, ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 10 จ.อุบลราชธานี, ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำ จ.กาฬสินธุ์, ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำ จ.นครพนม, ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำ จ.บุรีรัมย์, ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำ จ.มุกดาหาร, ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำ จ.ร้อยเอ็ด, ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำ จ.สกลนคร, ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำ จ.หนองบัวลำภู, ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำ จ.มหาสารคาม, ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำ จ.อุดรธานี และหน่วยบริการ 4 อำเภอ และศูนย์สงเคราะห์บุคคลปัญญาอ่อนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุดรธานี นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการจัดการแข่งขัน 21 คน และอาสาสมัครจาก ร.ร.ลำปาววิทยาคม 63 คนเข้าร่วมกิจกรรม โดยบรรยากาศการแข่งขัน เต็มไปด้วยความคึกคัก สนุกสนาน ของผู้ร่วมแข่งขันและบรรดากองเชียร์เป็นอย่างมาก
นายสงกรานต์กล่าวอีกว่า รายการแข่งขันประกอบด้วย ปาเป้าผนัง ปาเป้าพื้น บอดี้โบวลิ่ง กลิ้งลูกบอลผ่านกรวย เตะลูกบอลผ่านกรวย ย้ายลูกเทนนิส กลิ้งม้วนตัว โยนลูกบอลลงตะกร้า เดินซิกแซก 5 เมตร เดินก้าวข้ามสิ่งกีดขวาง และการแข่งขันเต้นแอร์โรบิคส์ ซึ่งเป็นกิจกรรมประกอบจังหวะดนตรี ส่งเสริมประสาทสัมผัสและการจดจำลีลาท่าทาง ตลอดจนความพร้อมเพรียงในทีม แสดงการออกกำลังควบคุมทุกส่วนของร่างกาย และ ความพร้อมเพรียง นักกีฬาที่เข้าแข่งขันรายการนี้เป็นผู้พิการระดับปัญญาอ่อนปานกลาง และระดับปัญญาอ่อนน้อย ที่มีความสามารถในการเล่นกีฬาอื่นๆ ด้วย แบ่งออกเป็นรุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี และ รุ่น 16 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ เพื่อให้นักกีฬาที่มีความพิการทางปัญญามากและผู้พิการซ้ำซ้อน ที่เข้าร่วมกิจกรรมทักษะกลไก เกิดความสนุกสนาน
อย่างไรก็ตาม สมาคมกีฬาสเปเชียลโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ตระหนักในความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพเด็กพิเศษ ตามสโลแกน “สเปเชียลโอลิมปิคเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” จึงได้นำการแข่งขันเต้นแอร์โรบิคส์ มาประกอบรายการในงานจัดกิจกรรมทักษะเพื่อสร้างสีสันและความเร้าใจให้กับนักกีฬาทักษะกลไก ทั้งนี้ นักกีฬาที่แข่งขันในรายการเต้นแอร์โรบิคส์ เป็นนักกีฬาที่มีพิการระดับปานกลางขึ้นไปและมักจะเล่นกีฬามาตรฐานของสเปเชียลโอลิมปิคด้วย กิจกรรมทักษะกลไก(MATP) ของนักกีฬาที่มีความพิการทางปัญญามากและผู้พิการซ้ำซ้อนนั้น เป็นโอกาสที่ดีสำหรับอาสาสมัครที่จะได้สัมผัสช่วยเหลือ และให้กำลังใจกับนักกีฬา สเปเชียลโอลิมปิคไทยจัดกิจกรรมรายการนี้เป็นประจำทุกปี ใน พื้นที่ 4 ภาคของประเทศไทย โดยมีนักกีฬาเข้าร่วมเฉลี่ยประมาณ 800 คนต่อปี