หรือเรากำลังจะเป็นแบบญี่ปุ่นโดย พัชรินทร์ เกียรติผดุงกุลกรรมการสมาคมสินแร่และวัสดุก่อสร้าง
หรือเรากำลังจะเป็นแบบญี่ปุ่นโดย พัชรินทร์ เกียรติผดุงกุลกรรมการสมาคมสินแร่และวัสดุก่อสร้าง
ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา เรามักได้รับข่าวสารเกี่ยวกับเศรษฐกิจของญี่ปุ่นว่า ค่าเงินเยนอ่อนมาก เศรษฐกิจไม่เติบโต หรือบางช่วงเวลาก็มีอัตราการเจริญเติบโตที่ติดลบ ระดับราคาสินค้าต่ำลง เป็นภาวะที่เรียกว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession ที่กินระยะเวลายาวนานกว่า 3 ทศวรรษ และยังไม่มีท่าที่ที่จะหลุดพ้นจากภาวะดังกล่าวได้
รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามแก้ปัญหามาตลอด เช่น เพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อจูงใจให้ประชาชนรีบนำเงินออมออกมาใช้จ่าย การแจกคูปองซื้อสินค้าเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย การลดดอกเบี้ยลงจนอยู่ระดับต่ำใกล้ศูนย์ เพื่อจูงใจให้ใช้จ่ายแทนการออม รวมทั้งรัฐบาลก็ใช้จ่ายมากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจนมีหนี้สาธารณะสูงกว่า 200% ของรายได้ภายในประเทศ (GDP) ดูญี่ปุ่นแล้วทำให้เกิดคำถามว่าประเทศไทยจะเดินตามรอยประเทศญี่ปุ่นหรือไม่
ประเทศไทยในขณะนี้ก็อยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตช้า โดยอัตราการเติบโตของ GDP อยู่ในระดับต่ำกว่า 2% เมื่อปีที่แล้ว การเติบโตของประเทศดูจะค่อยๆลดต่ำลงจากเศรษฐกิจที่อยู่แนวหน้าในอาเซียนช่วงก่อนวิกฤติ ปี 2540 มาเป็นเศรษฐกิจที่เติบโตช้า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โควิดก็ช้ากว่าประเทศอื่น จนเราแทบจะรั้งท้ายในกลุ่มอาเซียน ในขณะที่เพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม เติบโตอย่างรวดเร็วจากเงินลงทุนจากต่างประเทศที่เข้าไปในเวียดนามมาก การส่งออกที่ก้าวกระโดดนำหน้าประเทศไทยไปแล้ว จึงน่าสนใจว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจประเทศไทย
ถ้าเราลองดูข่าวที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจประเทศไทยที่นักวิเคราะห์หลายท่านให้ความเห็นไว้ ก็พอจะสรุปและ เทียบเคียงกับประเทศญี่ปุ่นได้ดังนี้
ประการแรก เรื่องโครงสร้างประชากร ประเทศไทยได้เข้าสู่ “สังคมสูงวัย”แล้วในปี 2567 โดยมีผู้ที่มีอายุ เกิน 60 ปีมากกว่า 25 % ของประชากรรวม คือราว 13 ล้านคน เทียบกับญี่ปุ่นมีผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี ถึง 38% ในขณะที่อัตราการเจริญพันธุ์ของไทยอยู่ที่ระดับ 1.4 คือผู้หญิง 1 คนมีบุตร 1.4 คน ทำให้ประเทศไทยมีคนเสียชีวิตมากกว่าคนเกิดใหม่แล้วในช่วง 1-2ปีที่ผ่านมา
การที่เราเป็นสังคมสูงวัยก็คงสร้างปัญหาคล้ายกับประเทศญี่ปุ่น คืออุปสงค์มวลรวมในประเทศลดลง เพราะการใช้จ่ายในหลายหมวดสินค้าลดลงตามรายได้ แต่มีภาระค่าใช้จ่ายในส่วนของการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น การที่เรามีคนเกิดน้อยแรงงานก็น้อยลงคนเกษียณมากขั้นย่อมเป็นภาระทางการคลัง เพราะคนเสียภาษีลดล แต่รัฐและกองทุนสวัสดิการต่างๆต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น
คำถามคือในอนาคตเราจะสามารถดำรงวินัยทางการคลังด้วย การกำหนดระดับเพดานหนี้สาธารณะในรูปแบบต่างๆได้หรือไม่ ถ้าเราเก็บภาษีได้น้อยแต่มีรายจ่ายมาก ในขณะนี้รัฐก็เก็บรายได้ได้น้อยกว่ารายจ่ายติดต่อกันเป็นเวลาหลายปีแล้ว หรือว่าเราจะต้องมีภาระหนี้สาธารณะมากขึ้นตามภาระค่าใช้จ่ายแต่มีรายได้ลดลง
ประการที่สองถัดมาคือความสามารถของแรงงานไทย มีเสียงเรียกร้องและคำแนะมากมายจากองค์กรระหว่างประเทศว่าเราควรเพิ่มทักษะแรงงานของเราให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรมที่รวดเร็วในปัจจุบัน
เรากำลังเห็นการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดบ้านเรา แต่เราไม่ค่อยพูดถึงแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ประมาณว่ามีหลายแสนคน ทั้งที่เป็นผู้ประกอบการระดับเจ้าของแบรนด์ และผู้ประกอบการชิ้นส่วนต่างๆ ถ้ารวมอุตสาหกรรมต่อเนื่องเช่นร้านซ่อมรถสันดาบภายใน อาจมีคนเกี่ยวข้องเป็นล้านคน แล้วเราได้ทำอะไรในการพัฒนาแรงงานเหล่านี้ไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ ยังมีอุตสาหกรรมอีเล็กทรอนิคที่เราเคยเป็นผู้นำในเรื่องฮาร์ดดิสก์ที่คนเขาไม่ใช้แล้ว
คำถามถัดมาคือแรงงานรุ่นใหม่ของเรา เด็กและเยาวชนของเราที่เกิดน้อยอยู่แล้ว เราเตรียมพวกเขาให้พร้อมแค่ไหนในการรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในอนาคต ถ้าดูจากผลสอบ PISA ปรากฎว่าเด็กๆ ของเรามีความสามารทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่านต่ำลงและด้อยกว่าเวียดนาม ทั้งๆที่เราทุ่มงบประมาณกับการศึกษาเป็นจำนวนมากแต่ทำไมได้ผลออกมาเช่นนี้
ประการที่สาม คือความสามารถในการแข่งขัน ตอนนี้มีการพูดว่าเราใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเพียงประมาณ 50% เราควรต้องกระตุ้นกำลังซื้อเพื่อนำไปสู่การผลิตที่มากขึ้นเพื่อฟื้นเศรษฐกิจของประเทศจากการเติบโตช้า คำถามที่น่าจะขบคิดคือการใช้กำลังการผลิตที่ต่ำลงเป็นผลจากอะไร จากกำลังการซื้อที่น้อยลง จากการส่งออกที่ลดลง จากการที่สินค้าของเราล้าสมัย หรือจากการทุ่มตลาดจากประเทศคู่ค้าที่สามารถผลิตสินค้าที่ต้นทุนต่ำกว่า เราไม่เห็นการวิเคราะห์ที่เป็นรูปธรรม การถกเถียงทางวิชาการโดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้เห็นถึงต้นตอของปัญหา การกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นจะส่งผลยั่งยืนในระยะยาวหรือไม่
ลองดูตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น เราเริ่มไม่ค่อยเห็นเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าอีเล็กทรอนิคชื่อญี่ปุ่นแล้ว เราเห็นชื่อของเกาหลีและ จีนมากขึ้น แปลว่าสินค้าเหล่านั้น สูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปแล้วหรือไม่ และอุตสาหกรรมรถยนต์ของญี่ปุ่นจะต้านกระแสรถไฟฟ้าของจีนได้นานแค่ไหน เช่นกันสำหรับประเทศไทย เรามีสินค้าอะไรที่โลกต้องการมากและต้องการเพิ่มไหม เราอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของสินค้าในโลกใหม่หรือไม่
ประการที่สี่ หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ล่าสุดมีข้อมูลว่าระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับกว่า 90% ของ GDP และมีแนวโน้มจะเป็นหนี้เสียมากขึ้น ตัวเลขนี้เป็นเพียงส่วนของหนี้ในระบบ ยังมีส่วนของหนี้นอกระบบที่ไม่มีตัวเลขเป็นทางการ ปัญหาหนี้สินมันมาจากปัญหารายได้และพฤติกรรมการใช้จ่าย แต่จะเป็นการจะเหมารวมความว่าหนี้ครัวเรือนบางประเภทเช่นสินเชื่อเพื่อการบริโภคมาจากพฤติกรรมการใช้เกินตัวคงไม่ได้ คนที่รายได้ไม่พอรายจ่ายหรือกิจการมีความจำเป็นต้องใช้เงินหมุนเวียนเพื่อธุรกิจของตัวเองก็มีมาก
ถ้ามองดูตัวเลขจากการวิจัยของธนาคารแห่งหนึ่งพบว่า รายได้ครัวเรือนระดับ 30,000 บาทต่อเดือนยังปริ่มน้ำกับรายจ่ายในชีวิตประจำวัน ถ้าดูตัวเลขจำนวณคนที่เสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดาก็น้อยมากไม่กี่ล้านคน เท่านั้นแปลว่าคนที่อยู่ในระบบภาษีมีรายได้ไม่มากพอจะเสียภาษี
โดยสรุปปัญหาหนี้ครัวเรือนเกิดจากปัญหารายได้ไม่เพียงพอ เพราะการจ้างงานลดลง ชั่วโมงการทำงานลดลง บริษัทปิดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน การปรับโครงสร้างหนี้ พักชำระหนี้แจกเงิน มันแค่การบรรเทาปัญหา คำถามคือจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างไร อะไรคืออุตสาหกรรมใหม่ ธุรกิจใหม่ การลงทุนใหม่ หรือ แหล่งรายได้ใหม่ของประเทศเพื่อให้คนมีรายได้พอใช้และมั่นคง
มองไปในอนาคต
ถ้าเรากลับมาเปรียบเทียบกับประเทศญี่ปุ่น ในภาวะที่ประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัย คนเกิดน้อย การเก็บภาษีได้น้อย ขณะนี้รายได้ของรัฐต่อGDP ตกประมาณ 17 %ซึ่งอยู่ในระดับต่ำ อนาคตจะต่ำลงอีกไหมเพราะคนเกษียณมากขึ้น คนเข้าสู่ตลาดแรงงานน้อยลง แถมรัฐยังมีภาระเพิ่มในการดูแลผู้สูงวัย รวมทั้งนโยบายระยะสั้นต่างๆ เช่นลดค่าไฟ ตรึงราคาพลังงาน อุดหนุนการลงทุนตลาดหลักทรัพย์ หนี้สาธารณะของเราจะเพิ่มขึ้นอีกมากหรือไม่ เช่นกรณีญี่ปุ่น ที่มีหนี้สาธารณะมากกว่า 200 % ของ GDP
ความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงทำให้การส่งออกลด การลงทุนภาคเอกชนทั้งในและจากต่างประเทศลดทำให้ขาดรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ และคนไทยก็มีรายได้ลดลงเพราะการผลิตสินค้าบริการลดลง เมื่อเศรษฐกิจไม่เติบโตเงินเฟ้อต่ำก็จะมีการลดดอกเบี้ยลงอีกทั้งที่เวลานี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ต่ำกว่าประเทศใกล้เคียงอยู่แล้ว หรือว่าต้องอยู่ระดับ0% เหมือนประเทศญี่ปุ่น
การที่เราต้องนำเข้าพลังงานเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ในขณะที่มีปัญหาสู้รบในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งอาจมีผลให้ราคาพลังงานสูงขึ้น ในขณะที่เราต้องคงดอกเบี้ยต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ค่าเงินบาทจะเป็นแบบค่าเงินเยนหรือไม่ที่อ่อนค่าลงอย่างมาก คงต้องให้ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจตอบคำถามเหล่านี้