15/11/2024

มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดตัวโครงการวิจัย Ugly Veggies Plusการต่อยอดแบบจำลองธุรกิจบนพื้นฐานของเทคโนโลยีการตรวจสอบย้อนกลับและเศรษฐกิจหมุนเวียนคาร์บอนต่ำเพื่อการจัดการห่วงโซ่อุปทานการผลิตและการส่งออกของสินค้าอาหารอินทรีย์อย่างยั่งยืน

มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดตัวโครงการวิจัย Ugly Veggies Plusการต่อยอดแบบจำลองธุรกิจบนพื้นฐานของเทคโนโลยีการตรวจสอบย้อนกลับและเศรษฐกิจหมุนเวียนคาร์บอนต่ำเพื่อการจัดการห่วงโซ่อุปทานการผลิตและการส่งออกของสินค้าอาหารอินทรีย์อย่างยั่งยืน

มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกผัก ผลไม้ Organic ในเครือข่าย พัฒนาโครงการ Ugly Veggies Platform เพื่อเพิ่มมูลค่าผักรูปทรงไม่สวยที่เคยถูกทิ้งเป็นขยะ โดยแปรรูปและขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยโครงการประสบความสำเร็จ สามารถลดขยะผัก 30-50% แต่ยังมีเศษผัก 5% ที่เหลือทิ้งอยู่ทีมวิจัยจึงพัฒนาต่อยอดโครงการ Ugly Veggies Plus โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน เพื่อติดตามที่มาของผักสังเคราะห์ถุงพลาสติกชีวภาพจากเศษผักและผลิตดินปลูกจากผักอินทรีย์ ซึ่งช่วยลดการคัดทิ้งของผักอันก่อให้เกิดขยะได้ 100% รวมถึงส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนและผลักดัน BCG Economy Modelซึ่งยังเป็นการช่วยเหลือและพัฒนาเกษตรกรในพื้นที่ โดยเป็นหนึ่งในปณิธานของมหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น

รองศาสตราจารย์ ดร.ภาณินี นฤธาราดลย์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมและสังคมแห่งความยั่งยืน สังกัดวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและยังเป็นผู้อำนวยการโครงการวิจัยนี้ กล่าวว่า “วัตถุประสงค์ของการแถลงข่าวในครั้งนี้เพื่อประชาสัมพันธ์และเปิดตัวโครงการ Ugly Veggies Plus – การต่อยอดแบบจำลองธุรกิจบนพื้นฐานของเทคโนโลยีการตรวจสอบย้อนกลับและเศรษฐกิจหมุนเวียนคาร์บอนต่ำเพื่อการจัดการห่วงโซ่อุปทานการผลิตและการส่งออกของสินค้าอาหารอินทรีย์อย่างยั่งยืน ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการจาก แผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้การกำกับของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)

ภายในงาน มีพิธีเปิดงานแถลงข่าว กล่าวต้อนรับโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิริมนพร ทิพสิงห์ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมถึงการกล่สวต้อนรับจาก ศาสตราจารย์ ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ภาณินี นฤธาราดลย์ ผู้อำนวยโครงการวิจัยUgly Veggies Plus กล่าวรายงานสรุป โดยมี ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี กิจกรรมในงานมีการเปิดตัวโครงการวิจัย โดยการสัมภาษณ์นักวิจัยนอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก คุณอภิชัย เรืองศิริปิยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทออสคอร์เปอเรชั่น หรือในฐานะผู้พัฒนาเทคโนโลยีสร้างภาพเสมือนจริงแบบสามมิติ (Augmented Reality : AR) ผู้บุกเบิกให้ความสำคัญและอยู่เบื้องหลังผลงาน AR ที่สร้างชื่อเสียงระดับประเทศ ร่วมด้วยคณะผู้บริหารโรงแรมในเครือ Marriott และ องศาสตราจารย์ ดร.ชวิศ เกตุแก้ว รองคณบดีฝ่ายกลยุทธ วิจัยและการต่างประเทศ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้วางแผนโครงการ ยังรวมถึงผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อังคณา บุญยืด คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เข้าร่วมงานแถลงข่าวด้วย

สำหรับผลของโครงการที่คาดว่าจะได้รับ มีทั้งผลกระทบทางเศรษฐกิจ ได้แก่ Ugly Veggies Platform
มีรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อนำไปสู่การเป็น Social Enterprise เพืช่วยเหลือเกษตรกรอย่างแท้จริง เกษตรกรในเครือข่ายมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ Organic ผลกระทบด้านสังคม ได้แก่ เกิดการจ้างงาน หรือสร้างอาชีพ ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เกิดการตระหนักรู้ถึงบทบาทและการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคในการสร้างสังคมสีเขียว ส่งเสริมแนวคิด BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BioCircularGreen Economy) คือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมคือ ลดจำนวนขยะจากกระบวนการผลิตผักอินทรีย์จนเหลือ 0% และลดการปล่อย carbon emissions จากการทำลายขยะทางการเกษตรโดยการผลิตเทคโนโลยีและ ผลิตภัณฑ์ที่มาจากเศษเหลือทิ้งจากผักอินทรีย์ ซึ่งประกอบด้วย 1. นวัตกรรมเทคโนโลยีการตรวจสอบย้อนกลับ 2. นวัตกรรมอาหารโปรตีนสูง 3. นวัตกรรมดินพร้อมปลูก และ 4. นวัตกรรมพลาสติกชีวภาพ

เป้าหมายต่อไปของ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่นในด้านงานวิจัย คือ การเสริมสร้างพลังแก่ประชากรโลกและสร้างเสริมการเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืนผ่านการศึกษา วิจัยและนวัตกรรม และการพัฒนาชุมชนที่มีคุณภาพ ในแง่ของงานวิจัยวิทยาลัยนานาชาติดำเนินงานในบริบทนี้ผ่านศูนย์นวัตกรรมและสังคมแห่งความยังยืน ไม่เพียงแต่การดำเนินงานวิจัยซึ่งมีโจทย์มาจากปัญหาในชุมชนและสังคมแล้ว ยังรวมถึงการสร้างนวัตกรรม และถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยลงสู่ชุมชนอีกด้วย ให้บรรลุเป้าหมายเพื่อความยั่งยืนในอนาคตทั้งในระดับประเทศ และแสวงหาความร่วมมือในระกับนานาชาติต่อไป

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป