29/12/2024

กาฬสินธุ์-ผวจ.กาฬสินธุ์จัดชุดใหญ่ลุยสางปัญหาก่อสร้าง 7 ชั่วโคตร กำชับ โยธาฯ ลุยประเมินผลทุกโครงการเสริมข้อมูลตรงให้กับ กรมโยธาฯ ก่อนจัดหารับเหมารายใหม่

S__8970848_0

กาฬสินธุ์-ผวจ.กาฬสินธุ์จัดชุดใหญ่ลุยสางปัญหาก่อสร้าง 7 ชั่วโคตร กำชับ โยธาฯ ลุยประเมินผลทุกโครงการเสริมข้อมูลตรงให้กับ กรมโยธาฯ ก่อนจัดหารับเหมารายใหม่

ด้านชาวบ้านน้ำตาไหลดีใจชื่นชมมั่นใจทีมจังหวัดทำเต็มที่เชื่อครั้งนี้จะจบปัญหาทุกข์ทรมาน 7 ชั่วโคตรได้
กรณี ปัญหา 8 โปรเจกต์ใหญ่ หรือ เป็นปัญหาที่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากงานก่อสร้างตามโครงการพัฒนาเมืองกาฬสินธุ์เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมงบประมาณ 545 ล้านบาท ที่ครอบคลุม 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองกาฬสินธุ์ อ.ฆ้องชัย อ.กมลาไสย โดยเฉพาะที่เดือดร้อนหนักอยู่ในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ “2 หจก.ขาใหญ่” รับงานก่อสร้างจากกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน ก่อสร้างไม่เสร็จ กระทบต่อสภาพความเป็นอยู่และความปลอดภัยของประชาชนยังส่งผลให้เศรษฐกิจในชุมชนเมืองกาฬสินธุ์ เสียหายกว่า 750 ล้านบาท ความเดือดร้อนรุนแรงทำให้ปัญหานี้ชาวบ้านได้ออกมาประฌามการก่อสร้างว่า “โครงการก่อสร้าง 7 ชั่วโคตร” ส่งผลสร้างความเสื่อมเสียให้กับจังหวัดกาฬสินธุ์ – กรมโยธาฯ และ หจก.เฮงนำกิจ-หจก.ประชาพัฒน์ อธิบดีกรมโยธาฯ ได้ขึ้นแบล็กลิสต์เป็นผู้รับจ้างทิ้งงาน 6 โครงการและเหลืออีก 2 โครงการจะมีการพิจารณายกเลิกเร็วๆนี้ อีกทั้งผลจากการทิ้งงานก่อสร้างยังทำให้เนื้องานที่มีการเบิกจ่ายไปแล้วกว่า 250 ล้านบาท เริ่มเกิดความเสียหาย ตามแนวกันชนลำน้ำพาน ลำน้ำปาว และแม่น้ำชี ตรงจุดก่อสร้างพังทลายเสียหาย ชาวบ้านเชื่อว่าเม็ดเงินภาษีที่ลงทุนไปจะถูกน้ำละลายไปทั้งหมดในช่วงฤดูน้ำหลาก อีกทั้งจุดทิ้งงานในชุมชนเมืองกาฬสินธุ์ ชาวบ้านผวาจะกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายกับอีกสารพัดโรคตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดกาฬสินธุ์รายงานว่า ที่บริเวณถนน 7 ชั่วโคตร ชุมชนหัวโนนโก-เกษตร และถนนพร้อมพรรณอุทิศ เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ นายสนั่น พงษ์อักษร ผวจ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยนายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ นายรุจติศักดิ์ รังษี รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ นายประยูร ศิริวรรณ หัวหน้าสำนักงาน จ.กาฬสินธุ์ นพ.สุรสิทธิ์ จิตรพิทักษ์เลิศ ผู้อำนวยการ รพ.กาฬสินธุ์ ดร.สม นาสอ้าน รองนายแพทย์ สสจ.กาฬสินธุ์ นายสันติ จัตุพันธ์ นายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ รพ.กาฬสินธุ์, สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์, สาธารณสุข อ.เมืองกาฬสินธุ์, เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์,ผู้แทนสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์ และ อสม.ร่วมกันรณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ป้องกันภัยร้ายจากโรคไข้เลือดออก พร้อมติดตามดูสภาพปัญหา 7 ชั่วโคตรในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ได้พบปะพี่น้องประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการ การพบปะประชาชนยังมีรายงานว่าเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อวานในช่วงเย็น ถึงวันนี้เพื่อให้ครอบคลุมทุกโครงการ ทำให้ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบมีรอยยิ้มกล่าวขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดที่เข้ามาดูแล ทำให้ชาวบ้านอุ่นใจ นอกจากนี้คณะยังได้ไปติดตามดูจุดก่อสร้างโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งลำน้ำพาน ต.ลำพาน อ.เมืองกาฬสินธุ์ มี ดต.สมคิด นันทสมบูรณ์ นายกเทศมนตรีลำพาน พร้อมด้วยผู้แทนโยธาธิการและผังเมือง จ.กาฬสินธุ์ ให้ข้อมูล ทั้ง 2 จุด จากการสังเกตผู้ติดตามทุกคน หลายคนถึงกับส่ายหน้า รู้สึกแสนเสียดายงบประมาณแผ่นดิน ที่ผู้รับเหมาเบิกจ่ายไปแล้วจำนวนมาก แต่ทำงานไม่เสร็จ พื้นที่งานที่ทำทิ้งไว้เกิดการสไลด์ และกำลังพังทลายลงในลำน้ำพาน จึงมีการสั่งการให้มีการติดตามปัญหานี้อย่างเร่งด่วน

นายสนั่น พงษ์อักษร ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้นอกจากจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการป้องกันโรคไข้เลือดออก สิ่งที่ตั้งใจก็คือการติดตามปัญหาการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมเมืองกาฬสินธุ์ ทั้งหมด 8 โครงการฯ ต้องจบปัญหา การลงครั้งนี้ตนได้ดูทั้งหมด 2 จุดใหญ่คือในเขตเทศบาลเมืองงบประมาณ 148 ล้านบาท และเขื่อนป้องกันตลิ่งลำน้ำพาน งบ 44 ล้านบาท ทั้ง 2 โครงการ ที่กรมโยธาฯได้ยกเลิกสัญญากับผู้รับจ้างไปแล้วทั้งหมด 6 โครงการ แต่ยังส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชน แนวทางการติดตาม ได้กำชับให้ผู้แทนโยธาธิการและผังเมือง จ.กาฬสินธุ์ จัดเจ้าหน้าที่สำนักงานโยธาฯ ลงไปตรวจสอบโครงการที่ดำเนินการไม่แล้วเสร็จทั้งหมด ว่าปัจจุบันมีสภาพเป็นอย่างไร เช่น เกิดสภาพน้ำขัง เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ยุงรำราญ หรือมีการกีดขวางการจราจร ซึ่งอาจเป็นอันตรายและเกิดกระทบต่อการดำเนินชีวิตของพี่น้องประชาชน ทั้งนี้ หลังจากเจ้าหน้าที่สำนักงานโยธาฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบแล้ว ให้เร่งนำผลการตรวจสอบมาวิเคราะห์ว่า จะสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเบื้องต้นได้อย่างไรบ้าง เพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น และให้สรุปมาที่ตน เพื่อจะได้รายงานให้กรมโยธาธิการและผังเมืองได้รับทราบ และนำไปสู่การจัดซื้อจัดจ้างตามอำนาจของกรมโยธาธิการและผังเมือง ก่อนที่จะมีผู้รับจ้างรายใหม่เข้ามาดำเนินการต่อไป

ด้านนางหอมหวน มณีวงษ์ อายุ 53 ปี ชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อน “ก่อสร้าง 7 ชั่วโคตร” ถนนหัวโนนโกเกษตร กล่าวว่า วันนี้ได้เห็นผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่มาติดตามปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงาน พร้อมสั่งการเจ้าหน้าที่โยธาฯ มาเร่งแก้ไขปัญหา ตนและเพื่อนบ้านก็ดีใจ ว่าต่อไปนี้ปัญหาที่สะสมมานานกว่า 5 ปี จะได้รับการแก้ไขในเร็ววัน ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการแก้ไขจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง แต่สิ่งที่อยากจะร้องขอในเบื้องต้นก็คือ อยากให้ผู้ว่าฯ สั่งการไปที่โยธาจังหวัดฯ หรือเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ได้จัดหาปูนผสมเสร็จมาเทที่บริเวณถนนหน้าบ้านให้ด้วย เพราะเป็นหลุมบ่อ ฝนตกมีน้ำขัง เกิดอุบัติเหตุบ่อย รวมทั้งขนย้ายรถแบ็คโฮและกองวัสดุก่อสร้างข้างไหล่ทางออกไปก่อนที่จะเริ่มการก่อสร้างใหม่ เนื่องจากกีดขวางหน้าบ้าน ร้านค้า เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งมาก ดังนั้นเมื่อมาลงพื้นที่ เห็นสภาพปัญหา นอกจากจะกำจัดลูกน้ำยุงลาย ที่เพาะพันธุ์ในบ่อท่อระบายน้ำ ก็อยากจะให้ขจัดปัญหาความทุกข์ร้อนของชาวบ้าน “ชาวบ้านเชื่อฝีมือท่านผู้ว่าฯสนั่นค่ะ” ว่าจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแก้ปัญหาถนนหน้าบ้านตรงนี้ในเร็ววัน พร้อมเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งระบบด้วย เพราะถึงฤดูฝนแล้วมีฝนตกลงมา เกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่แน่นอน” นางหอมหวนกล่าวในที่สุด

ด้าน นพ.สุรสิทธิ์ จิตรพิทักษ์เลิศ ผู้อำนวยการ รพ.กาฬสินธุ์กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อไข้เลือดออก ซึ่งยุงลายซึ่งเป็นพาหะนำโรคมีการขยายพันธุ์อย่างรวดรวดเร็ว โดยเพาะพันธุ์ตามแอ่งน้ำ ซึ่งบริเวณชุมชนหัวโนนโกเกษตรและบริเวณถนนพร้อมพรรณอุทิศ ที่เป็นพื้นที่ก่อสร้างระบบท่อประปาฯ รวมทั้งสถานที่ทั่วไปเกิดน้ำขัง จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกรณรงค์ป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก การกำจัดลูกน้ำยุงลาย จะขยายไปทุกพื้นที่ทั้ง 18 อำเภอของ จ.กาฬสินธุ์ เพื่อสร้างความตระหนักเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ฤดูกาลระบาด ด้วยวิธีการฉีดพ่นยา และหยอดทรายอะเบทบริเวณที่มีน้ำขังดังกล่าว ทั้งนี้ข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ณ วันที่ 22 พ.ค.67 พบผู้ป่วยทั่วประเทศ 29,144 ราย ซึ่งมากกว่าปี 2566 ถึง 1.5 เท่า และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็ก อายุ 0-4 ปี และเด็กนักเรียน อายุ 5-19 ปี มีรายงานผู้เสียชีวิต 32 ราย ส่วนในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ พบผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้ว 164 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต สำหรับสถานการณ์ โรคไข้เลือดออกของเขต อ.เมืองกาฬสินธุ์พบว่า มีผู้ป่วย 24 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุ 10-14 ปี คิดเป็นอัตราป่วย 117.54 ต่อประชากรแสนคน

 

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป