11/01/2025

กาฬสินธุ์คดีตัดไม้พะยูงเมืองน้ำดำพ่นพิษ 7 ข้าราชการใหญ่เอี่ยวแก๊งค้าไม้ข้ามชาติ

4_0_0

แฉพยานคนสำคัญซัดทอดมัด 7 ข้าราชการใหญ่ 3 พลเรือน ร่วมวางแผนตัดไม้พะยูงโรงเรียนคำไฮวิทยา ระบุเป็นการสมคบคิดตั้งแต่ขบวนการขออนุญาต ตั้งราคาประเมิน ไปถึงการตัดไม้ เป็นการฉวยโอกาสใช้ช่องว่างระเบียบพัสดุธนารักษ์ หวังเขมือบป่าพะยูงให้เกลี้ยงกาฬสินธุ์ แต่ถูกเปิดโปงเสียก่อน ด้าน ผบก.ภ.จว.กาฬสินธุ์ เผยคำให้การคนรับซื้อเชื่อมโยงเครือข่ายค้าไม้พะยูงข้ามชาติ เดินหน้าเอาผิดเต็มที่

กรณีคดีปัญหาตัดไม้พะยูงในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ถูกเปิดเผยขึ้น ในช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 แยกเป็น 2 กรณี คือกรณีไม้ของกลางหาย เป็นการลักลอบตัดไม้ในสถานีเพาะชำกล้าไม้ อ.ยางตลาด มีการนำไม้พะยูงของกลางมาเก็บไว้ที่หน้าเสาธง สำนักงานเทศบาลตำบลอิตื้อ 7 ท่อน แต่ไม้ดังกล่าวหาย ซึ่งพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี ได้ดำเนินคดีด้วยการส่งสำนวนให้ ปปช.ประจำ จ.กาฬสินธุ์ พิจารณาเนื่องจากมีข้าราชการการเมืองกระทำความผิด อีกกรณีเป็นคดีตัดไม้พะยูงตามโรงเรียนหลายแห่ง เป็นการใช้ช่องว่างทางกฎหมาย มีเจ้าหน้าที่รัฐร่วมขบวนการ เหตุเกิดมากที่สุดในพื้นที่ อ.ห้วยเม็ก และ อ.หนองกุงศรี ซึ่งฝ่ายปกครองได้ดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง โดย พล.ต.ต.ตรีวิทย์ ศรีประภา ผบก.ภ.จว.กาฬสินธุ์ ได้เข้ามากำกับดูแลคดีนี้ด้วยตัวเอง เบื้องต้นเปิดเผยผู้ต้องหาในคดีมีไม่ต่ำกว่า 17 คน และที่โรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี สัปดาห์ก่อน รศ.ชูศักดิ์ ศิรินิล ประธาน กมธ.ปปช.สภาฯ พร้อมคณะได้เข้ามาติดตามปัญหาเพื่อสรุปรายงานผลเอาผิดยกแก๊ง ตามที่เสนอข่าวไปแล้ว

 


ทั้งนี้ ผู้การฯกาฬสินธุ์ ได้สอบเพิ่มพยานคนสำคัญ คดีตัดไม้พะยูงโรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ คายความลับหมดเปลือก สาวไส้ขบวนการฟอกขาว ลักลอบตัด ขออนุญาตตัด ให้อนุญาตตัด ส่งเจ้าหน้าที่รัฐประเมินราคา ลงบิลซื้อขาย 1.5 แสน ขายต่อเป็นทอดๆ 5 แสน เชื่อมโยงนายทุนค้าไม้ข้ามชาติ สรุปขึ้นบัญชีดำผู้ต้องหายกแก๊ง 10 ราย อึ้งเป็นข้าราชการ 7 ราย คนรับจ้างตัดไม้ 1 รายและพ่อค้ารับซื้อไม้อีก 2 ราย
วันที่ 19 พฤษภาคม 2567 พล.ต.ต.ตรีวิทย์ ศรีประภา ผบก.ภ.จว.กาฬสินธุ์ เผยว่า หลังจากที่ฝ่ายปกครองอำเภอหนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ ได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.หนองกุงศรี ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาตนพร้อมด้วย พ.ต.ท.สมภาร แสนคำ รอง ผกก.(สอบสวน) สภ.ห้วยเม็ก ในฐานะชุดสอบสวนเฉพาะกิจ คดีตัดไม้พะยูงที่ราชพัสดุ โรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ ได้ร่วมสอบปากคำพยานที่ สภ.หนองกุงศรี ร่วมกับ พ.ต.อ.สีหชาติ พรจรรยา ผกก.สภ.หนองกุงศรี

โดยใช้เวลาในการสอบแต่ละครั้งครึ่งวัน เป็นการสอบปากคำพยานเพิ่มเติมจำนวน 4 ปาก เป็นพยานคนใหม่ 3 ปาก และพยานคนเดิมที่เคยสอบไปแล้ว 1 ปาก ซึ่งทั้งหมดถือเป็นกุญแจดอกสำคัญ ในการขยายผลการสอบสวน เชื่อมโยงถึงข้าราชการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการตัดไม้พะยูง
จนกระทั่งวันนี้สรุปเบื้องต้นมีผู้ต้องหาทั้งหมด 10 ราย การสอบสวนเป็นไปตามที่ปลัดอำเภอหนองกุงศรี ได้มาแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ กรณีตัดไม้พะยูงในโรงเรียนคำไฮวิทยา ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุไว้เมื่อวันที่ 3 พ.ค.67 ที่ผ่านมา โดยในวันนั้นได้ทำการสอบถามข้อมูลและลงพื้นที่ เก็บหลักฐานเพิ่มเติม จากนั้นทำหนังสือขอสำนวนการสอบสวน ของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง อ.หนองกุงศรีกับทางจังหวัด ซึ่งสำนวนดังกล่าวทาง อ.หนองกุงศรีได้ส่งสำนวนไปที่ศูนย์ดำรงธรรม จ.กาฬสินธุ์ เพื่อนำไปเทียบเคียงและประกอบการสอบสวนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเพื่อนำไปสู่กระบวนการดำเนินคดีตามกฎหมาย ลงโทษข้าราชการสีเทาที่มีส่วนเกี่ยวข้อง กับขบวนการฟอกขาวค้าไม้พะยูงและนายทุนข้ามชาติ“

พล.ต.ต.ตรีวิทย์ กล่าวว่า จากการสอบถามข้อมูลกับทาง อ.หนองกุงศรี และจากการสอบปากคำพยาน เบื้องต้นพบผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำเข้าข่ายความผิด เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตาม ม.157 ประกอบด้วยข้าราชการ 6 ราย คือ 1.ผู้อำนวยการ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 (เกษียณ), 2.เจ้าหน้าที่การเงิน สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2, 3.ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ (คนเดิม-ย้าย), 4. ผอ.ศูนย์ป่าไม้กาฬสินธุ์ (คนเดิม-ย้าย), 5. ผอ.โรงเรียนคำไฮวิทยา (ย้าย) และ 6. ครูโรงเรียนคำไฮวิทยา ขณะที่ผลการสอบปากคำพยานคนสำคัญล่าสุด ได้ผู้ต้องหาเพิ่มอีก 4 ราย เป็นข้าราชการ 1 ราย คือรอง ผอ.สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2, คนตัดไม้ 1 ราย และพ่อค้ารับซื้อไม้อีก 2 ราย สรุปผู้ต้องหาคดีนี้จำนวน 10 ราย เป็นข้าราชการ 7 ราย คนตัดไม้และพ่อค้าอีก 3 ราย

“ในส่วนข้อมูลที่ได้รับการเปิดเผยจากพยานคนสำคัญนั้น ปรากฎไทม์ไลน์คือหลังจากผ่านขั้นตอนมีคนร้ายเข้ามาลักลอบตัดแล้ว ทางโรงเรียนได้ขออนุญาตตัดกับธนารักษ์พื้นที่ และมีการให้อนุญาตตัด ต่อมามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาประเมินราคา ก่อนทำสัญญาซื้อขายราคาต่ำกว่าท้องตลาด 30-50 เท่าตัว จากนั้นตัดทอนเป็นท่อนขึ้นรถบรรทุกไปส่งแหล่งรับซื้อ ซึ่งพฤติกรรมเข้าข่ายการฟอกขาวของขบวนการค้าไม้พะยูง ส่วนข้อมูลใหม่ที่ได้คือ คนที่เข้ามาทำสัญญาซื้อขายไม้พะยูงในโรงเรียนคำไฮวิทยากับ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 ให้การว่าซื้อไม้พะยูง 22 ต้น กับอีก 2 ตอในราคา 153,000 บาทตามใบเสร็จรับเงิน โดยตัดในวันเกิดเหตุ 17 ต้น ทอนเป็นท่อนไม้เต็มรถบรรทุก 1 คัน จากนั้นนำไปขายให้พ่อค้าคนที่ 2 ในราคา 250,000 บาท และพ่อค้าคนที่ 2 นำไปขายต่อพ่อค้าคนที่ 3 ในราคา 500,000 บาท ข้อมูลทั้งหมด น่าเชื่อได้ว่าทำเป็นขบวนการ และเชื่อมโยงไปถึงพ่อค้าไม้พะยูงข้ามชาติ ที่เคยก่อคดีในพื้นที่ภาคอีสานหลายจังหวัด ซึ่งพนักงานสอบสวน จะเร่งสรุปสำนวนส่ง ปปช.ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปในเร็วๆนี้” พล.ต.ต.ตรีวิทย์ กล่าวในที่สุด

สำหรับปัญหาการตัดไม้พะยูงที่ราชพัสดุขายในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ เป็นประเด็นร้อนมาตั้งแต่ปลายเดือน ก.ค.66 โดยเกิดเหตุลักษณะเดียวกันหลายพื้นที่ ทั้งในสถานที่ราชการและในโรงเรียน ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาครัฐ ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายเป็นจำนวนมาก และการซื้อขายเอื้อประโยชน์ให้ข้าราชการบางคน ที่อาศัยช่องว่างทางกฎหมาย และเป็นการขายในราคาที่ต่ำมาก ผิดปกติ โดยมีเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน 3 เหตุการณ์คือ ท้องที่ สภ.โนนสูง อ.ยางตลาด ไม้พะยูงถูกลักลอบตัดในสถานีเพาะชำกล้าไม้ 1 ต้น 7 ท่อน นำของกลางมาเก็บที่เทศบาลตำบลอิตื้อก่อนหายไป นำสู่กระบวนการทางกฎหมาย พนักงานสอบสวนชี้มูลความผิดข้าราชการ 8 คน เรื่องอยู่ในขั้นตอนพิจารณาของ ปปช., ท้องที่ สภ.ห้วยเม็ก ตัดไม้พะยูงโรงเรียนหนองโนวิทยา 9 ต้น โรงเรียนหนองกุงไทยวิทยาคม 7 ต้น และโรงเรียนคุรุชนประสิทธิ์ศิลป์ 3 ต้น พนักงานสอบสวนชี้มูลความผิดผู้ต้องหา 17 คน เรื่องอยู่ในขั้นตอนของ ปปช. และท้องที่ สภ.หนองกุงศรี ตัดไม้พะยูงโรงเรียนคำไฮวิทยา 17 ต้น จากจำนวนซื้อขาย 22 ต้น กับอีก 2 ตอ ล่าสุดพนักงานสอบสวนชี้มูลความผิดผู้ต้องหา 10 รายดังกล่าว

ทั้งนี้ จากข้อมูลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจชุดเฉพาะกิจ ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีตัดไม้พะยูงในโรงเรียน ในส่วนของการตรวจสอบปริมาตรไม้ เพื่อประเมินราคา ตามมาตรฐานของกรมป่าไม้นั้น พบว่าตามที่ลงพื้นที่ประเมินราคา 3 โรงเรียน ประกอบด้วย (1) โรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี 22 ต้นกับอีก 2 ตอ ซื้อขายราคา 153,000 บาท โดยพ่อค้ารับซื้อไม้ระบุว่าไปขายต่อได้ถึง 500,000 บาท ขณะที่ราคาประเมินตามมาตรฐานกรมป่าไม้ 4,500,000 บาท (2) โรงเรียนหนองโนวิทยา อ.ห้วยเม็ก 9 ต้น ซื้อขายราคา 104,000 บาท โดยพ่อค้ารับซื้อไม้ระบุว่า มีนายทุนโอนเงินเข้ามาให้พ่อค้ารายดังกล่าว เพื่อเป็นค่าบริหารจัดการและซื้อไม้พะยูง ในราคา 700,000 บาท ขณะที่ราคาประเมินตามมาตรฐานกรมป่าไม้ 1,515,750 บาท และ (3) โรงเรียนคุรุชนประสิทธิ์ศิลป์ 3 ต้น ซื้อขายราคา 30,000 บาท โดยพ่อค้าให้การว่าได้ชำระเงิน 450,000 บาท ขณะที่ราคาประเมินตามมาตรฐานกรมป่าไม้สูงถึง 2,232,000 บาท เนื่องจากขนาดลำต้นสูงใหญ่

อย่างไรก็ตาม หากคิดราคาซื้อขายตามจำนวนเงินที่ลงในใบเสร็จของ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 กับราคาประเมินของกรมป่าไม้จะเห็นว่าทั้ง 3 แห่งส่วนต่างหายไปเป็นจำนวนมาก โดยทั้ง 3 แห่งรวมเงินซื้อไม้พะยูงเพียง 287,000 บาทเท่านั้น ขณะที่ราคาตามการประเมินของกรมป่าไม้สูงถึง 8,247,750 บาท ส่วนต่างหายไปถึง 7,960,750 บาท จึงเป็นหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า เกิดความทุจริต เบียดบังเงินหลวง แสวงหาผลประโยชน์ในทางมิชอบ ในการขายไม้พะยูงในที่ราชพัสดุดังกล่าว

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป