18/11/2024

กาฬสินธุ์-ชาวบ้าน จ.กาฬสินธุ์ เรียกร้อง “บิ๊กเก่ง” สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ออกโรงสางปัญหาก่อสร้าง 7 ชั่วโคตร

8 โปรเจกต์ใหญ่ 545 ล้านบาท ระบุถึงวันนี้พ่อเมืองน้ำดำยังไม่มีแผนแก้ไขบรรเทาทุกข์แถมยังจะไปอุ้มรับเหมาขาใหญ่ก่อนหมดศรัทธาในระบบราชการ ด้านเครือข่ายภาคประชาสังคมฝากสะกิด “บิ๊กเก่ง” หากมาจริงให้ช่วยไปดูงานที่ จ.ระยอง งบ 540 ล้านบาท ที่ทิ้งงานไปแล้วด้วยว่า เป็นผู้รับจ้างรายเดียวกันที่มาสร้างปัญหาที่เมืองน้ำดำด้วยหรือไม่ เพื่อจะได้เรียกค่าเสียหายนำเงินภาษีของคนไทยกลับคืนสู่แผ่นดิน

 

 

กรณีปัญหาร้องเรียน โดยเครือข่าย ปปท.ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ ภาคประชาชน และประชาชนผู้ได้รับผลกระทบต่อการก่อสร้างฯ 8 โครงการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2562 ปัจจุบันไม่เสร็จสักโครงการ ถูกประฌามว่า “ก่อสร้าง 7 ชั่วโคตร” ด้วยงบประมาณกว่า 545 ล้านบาท เพื่อพัฒนาเมืองกาฬสินธุ์ ป้องกันน้ำท่วมของ กรมโยธาธิการแลผังเมือง ยังคงยืดเยื้อหาข้อสรุปไม่ได้ ไม่มีเจ้าภาพเข้ามาบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ จนมีการปล่อยคลิปที่ทำให้คนกาฬสินธุ์อึ้งผู้ว่าราชการจังหวัดของตนเองว่า ปัญหานี้ผู้รับเหมาเป็นคนกาฬสินธุ์ ก็ควรที่จะสนับสนุนกันไป แต่ไม่ได้พูดถึงแผนการช่วยเหลือเยี่ยวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบรวมถึงกลุ่มแรงงานหลายครอบครัวที่ต้องมาหมดตัวเพราะ 2 หจก.ขาใหญ่ ไม่จ่ายค่าจ้างให้ กลายเป็นกระแสไวรัลเรียกร้องให้ตรวจสอบเพื่อต้องการความจริงว่าด้วยว่าหากมีการยกเลิกงบประมาณแผ่นดิน 250 ล้านบาท ที่ให้ผู้รับจ้างเบิกไป แต่ทิ้งงานจะมีการเรียกค่าเสียหายหรือไม่รวมไปถึงต้องการให้ กรมโยธาธิการและผังเมือง ออกมาแถลงเป็นรายลักษณ์อักษรว่าได้ยกเลิกงานจริงและจะมีการแก้ไขในโครงการนี้อย่างไรเพราะยังนิ่งสนิทไม่มีความเคลื่อนไหวทำให้ชาวบ้านทุกข์ร้อนใจที่เกรงว่าจะเกิดน้ำท่วมใหญ่อีกครั้งเพราะการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2567 ปัญหาโปรเจกต์ใหญ่ 8 โครงการ งบประมาณ 545 ล้านบาท กรมโยธาธิการและผังเมือง จัดสรรให้จังหวัดกาฬสินธุ์ ไปพัฒนาเมืองเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมในจุดสำคัญ 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองกาฬสินธุ์ อ.ฆ้องชัย และ อ.กมลาไสย ที่ยังเป็นปัญหาคาใจชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบในโครงการดังกล่าวได้กลายเป็นกระแสไวรัล ทำนองว่า นายสนั่น พงษ์อักษร ผวจ.กาฬสินธุ์ อุ้มผู้รับเหมาขาใหญ่ เนื่องจากมีการแชร์คลิปการประชุม คณะกรรมการอำนวยการป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพลระดับจังหวัด ครั้งที่ 1/2567 ที่ห้องประชุมฟ้าแดดสงยาง ศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ (วันที่ 9 พ.ค.67) ซึ่ง ผวจ.กาฬสินธุ์ พูดว่าปัญหาก่อสร้างไม่เสร็จผู้รับเหมาทิ้งงาน เกิดจากขาดสภาพคล่อง แต่เป็นผู้รับเหมากาฬสินธุ์ ความเดือดร้อนที่กาฬสินธุ์ ก็น่าจะพอได้ หากเป็นผู้รับเหมาที่อื่นมาสร้างความเสียหายก็ควรที่จะดำเนินการ แต่เมื่อเป็นผู้รับเหมาบ้านเราก็ควรที่จะสนับสนุนกันไป คำพูดนี้ทำให้ ชาวบ้านที่ฟังคลิปถึงกับอึ้งเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆนานา โดยเฉพะในชุมชนเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ที่ได้รับผลกระทบนี้มายาวนานถึง 5 ปี

นายดำรงค์ศักดิ์ สง่าวงษ์ ข้าราชการบำนาญ หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบและเดือดร้อนจากโครงการ 7 ชั่วโคตร กล่าวว่า ตนรู้สึกผิดหวังต่อคำพูดของผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ให้ความสำคัญกับผู้รับจ้างมากกว่าชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ เพราะการก่อสร้างที่ล่าช้าสร้างไม่เสร็จสร้างความบอบช้ำและทรมานต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในจุดที่ก่อสร้าง “คิดเพียงว่าหน้าบ้านของตนมีการก่อสร้าง” แต่ไม่ก่อสร้าง สร้างไม่เสร็จซะที ทิ้งบล็อกท่อระบายน้ำขนาดใหญ่เปิดเอาไว้นานกว่า 5 ปี ประชาชนที่สัญจรและอาศัยอยู่ใกล้เส้นทางนี้ต้องเสี่ยงต่อการดำเนินชีวิตปกติแล้วยังเสี่ยงต่อสิ่งปฏิกูลที่จะนำสารพัดโรคมากับน้ำท่วมขังที่เกิดขึ้นในแต่ละปีเมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์พูดเช่นนี้รู้สึกเสียใจจริงๆ

“ตนติดตามปัญหานี้และเป็นหนึ่งในผู้ร้องเรียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด(นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ) ในช่วงปี 2565 ก็ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้รับการแก้ไขช่วยเหลือได้รับกำลังใจในการดำเนินชีวิต แม้ที่ผ่านมาจะมีเพียง ฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์ เข้ามาช่วยเหลือพูดคุยให้กำลังใจเท่านั้น ก็ยังพอเข้าใจและรู้สึกดีใจที่มีการพูดคุยอธิบายปัญหา และเข้าใจว่าผู้รับจ้างขาดสภาพคล่อง จึงมีการต่อสัญญาเพื่อให้โอกาสผู้รับจ้างค่าปรับเป็น 0 บาท ตาม ว.1459 จนมีการเบิกจ่ายทั้ง 8 โครงการรวม 250 ล้านบาท แต่ที่ผ่านมาทำไมถึงไม่ก่อสร้างทราบจากกลุ่มแรงงานว่าที่ไม่ก่อสร้างก็เพราะไม่ได้รับค่าจ้างจาก 2 หจก.นี้ ทั้งที่ 2 หจก.นี้ เป็นคนกาฬสินธุ์ มีฐานะร่ำรวย ทำไมถึงไม่ก่อสร้าง และไม่คิดถึงความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับคนกาฬสินธุ์ด้วยกัน แทนที่กรมโยธาฯ ให้โอกาสมาทำงานก็ควรที่จะสร้างบ้านเมืองของตนเองให้เจริญสวยงามก้าวหน้า เพราะเมื่อแล้วเสร็จประชาชนก็จะสรรเสริญ เพราะจะทำให้ป้องกันปัญหาน้ำท่วมเมืองกาฬสินธุ์ได้”

นายดำรงค์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า เมื่อมาในยุค นายสนั่น พงษ์อักษร เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ก็รู้สึกดีใจ เพราะท่านเคยเป็นอดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ถึง 4 ปี ที่ได้รับโอกาสจากกระทรวงมหาดไทย ไปเติบโตเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส และได้ย้ายกลับมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่คิดว่าจะเข้ามาแก้ไขปัญหา เพราะวันที่ท่านเดินทางมาปรากฏตามข่าวที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัด “ท่านสนั่น” ได้ประกาศต่อหน้าข้าราชการ พ่อค้าคหบดี ประชาชนที่ไปต้อนรับว่า “จะทำจังหวัดกาฬสินธุ์ให้ดีกว่านี้” แต่เมื่อเวลาผ่านไป ประกอบกับชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อนร้องสื่อมวลชน ตีแผ่ปัญหาก่อสร้าง 7 ชั่วโคตร กลับกลายเป็นว่าข้าราชการในจังหวัดกลับไม่มีท่าทีใดๆ ไม่เห็นมีการส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเข้ามาสอบถามสาระทุกข์สุขดิบของชาวบ้านไม่มีแผนการแก้ไขช่วยเหลือ มีเพียง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เข้ามาตรวจพื้นที่ประกาศจะยกเลิกงานก่อสร้าง แถมให้สัมภาษณ์ว่าจะขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดช่วยเข้ามาดูแลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ แต่การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ออกมาพูดในที่ประชุมเมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมาในประเด็น 7 ชั่วโคตร “นายสนั่น” พูดว่า ทราบว่าปัญหาผู้รับเหมาเกิดจากขาดสภาพคล่อง แต่เป็นผู้รับเหมากาฬสินธุ์ ความเดือดร้อนที่กาฬสินธุ์ ก็น่าจะพอได้ หากเป็นผู้รับเหมาที่อื่นมาสร้างความเสียหายก็ควรที่จะดำเนินการ แต่เมื่อเป็นผู้รับเหมาบ้านเราก็ควรที่จะสนับสนุนกันไปนั้น

“ตนไม่เข้าใจจริงๆว่าทำไมถึงพูดแบบนี้ แทนที่จะบอกว่าจะเยียวยาช่วยเหลือประชาชนอย่างไรจะดีกว่าหรือไม่ หรือบอกว่าขณะนี้จังหวัดมีแผนที่จะเข้ามาดูแลพี่น้องประชาชนอย่างไร ทำไมถึงไม่พูดแบบนี้ ปัญหานี้ยังมีกลุ่มแรงงานที่ไม่ได้รับค่าจ้างจาก 2 หจก.ทิ้งงาน ครอบครัวพวกกลุ่มแรงงานเขาจะอยู่กันอย่างไร หากยังไม่มีแผนช่วยเหลือประชาชนก็ขอเรียกร้องให้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะกำกับดูแลกรมโยธาธิการและผังเมือง และดูแลจังหวัดกาฬสินธุ์ในทางปกครอง ได้เข้ามาดูแลปัญหาแนะนำวิธีการแก้ไขปัญหาให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อให้พี่น้องประชาชนผู้ได้รับผลกระทบได้รับการช่วยเหลือดีกว่าจะปล่อยให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาแบบนี้เลย” นายดำรงค์ศักดิ์ กล่าวในที่สุด

ด้าน นายชาญยุทธ โคตะนนท์ ประธานคณะทำงานเครือข่ายภาคประชาสังคม ในการต่อต้านการทุจริต ปปท.เขต 4 ประจำ จ.กาฬสินธุ์ และที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ คณะ กธจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า การตรวจสอบ 8 โครงการ โดยเครือข่ายภาคประชาสังคม ขณะนี้ลงไปสอดส่องเกือบครบแล้วสภาพทิ้งงานไม่น่าดูมีเพียงกองวัสดุ เสาเข็ม ก้อนหิน ที่วางระเกะระกะไม่มีคนงานแต่กระทบสภาพแวดล้อมของชุมชน พื้นที่การทำงานมี 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองกาฬสินธุ์ อ.ฆ้องชัย และ อ.กมลาไสย ได้รับความร่วมมือจากผู้นำชุมชน ชาวบ้านที่หมดความอดทนและต้องการให้เร่งแก้ไข โดยเฉพาะในเขตตลิ่งแม่น้ำชี-ลำน้ำพาน-ลำน้ำปาว ชาวบ้านวิตกกังวลว่าหากฝนตกจะทำให้เกิดน้ำท่วมและไปทำลายงานที่ผู้รับจ้างเบิกเงินไปแล้ว ชาวบ้านทุกคนรู้สึกเสียดายงบประมาณแผ่นดินเพราะเป็นภาษีของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ การที่ได้รับการจัดสรรมาควรที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์ ดังนั้นหากปลัดกระทรวงมหาดไทย จะลงมาแก้ไขปัญหาก็ขอให้ตรวจสอบไปถึง กรณีการบอกเลิกสัญญาของ กรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม ลง (วันที่ 7 พฤษภาคม 2567) ที่มีการเผยแพร่ทางโลกออนไลน์ไปว่า โดยระบุว่า กรมทางหลวงชนบท อยู่ระหว่างการบอกเลิกสัญญา กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัดประชาพัฒน์ ผู้รับจ้าง โดยเนื้อหาทำงานไม่เสร็จตามสัญญา ตามโครงการก่อสร้างทางหลวงชนบท สาย รย.3013 แยก ทล.331- ทล.3191 ช่วง กม.0+014.274-กม.16+475 พื้นที่ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ระยะทาง 16.460 กิโลเมตร (กม) งบประมาณ 540 ล้านบาท ว่าเป็น หจก.เดียวกับที่มาทิ้งงานที่จังหวัดกาฬสินธุ์ด้วยหรือไม่เพื่อจะได้เรียกค่าเสียหายเพื่อคืนเงินภาษีให้กับแผ่นดิน

 

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป