23/12/2024

“พิมพ์ภัทรา” แถลงยืนยัน เหตุเพลิงไหม้ที่มาบตาพุด ดับสนิทแล้ว ด้าน “วีริศ” กำชับทุกนิคมฯ เข้มงวดมากขึ้น อย่าให้เกิดซ้ำอีก!

1948051

“พิมพ์ภัทรา” แถลงยืนยัน เหตุเพลิงไหม้ที่มาบตาพุด ดับสนิทแล้ว ด้าน “วีริศ” กำชับทุกนิคมฯ เข้มงวดมากขึ้น อย่าให้เกิดซ้ำอีก!

 

วันที่ 10 พฤษภาคม 2567 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังรับฟังความคืบหน้าเหตุเพลิงไหม้ บริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ว่า จากการลงตรวจพื้นที่พบว่า สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว โดย
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และบริษัทฯ ได้ทำการควบคุมเพลิงไว้ได้อย่างเด็ดขาด แต่ขณะเดียวกันยังทำการฉีดโฟมหล่อเย็นไว้ เพื่อควบคุมอุณหภูมิจากสภาวะอากาศที่มีอุณหภูมิสูง ด้านการดูแลประชาชนในพื้นที่โดยรอบนั้น ได้อพยพประชาชนไปยังที่ทำการชุมชนตากวนอ่าวประดู่ จ.ระยอง

 

รวมทั้งประสานกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะสหเวชศาสตร์ เพื่อส่งทีมแพทย์เข้ามาดูแลสุขภาพ และตรวจรักษาให้กับพี่น้องประชาชนแล้ว ส่วนการตรวจวัดคุณภาพน้ำชุมชนโดยรอบพื้นที่ โดยรถโมบายของสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด (สนพ.) จำนวน 2 จุด ได้แก่ คลองชากหมาก และบริเวณบริษัท ไทยพลาสติกเคมีภัณฑ์ พบว่าคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ขณะที่คุณภาพในบรรยากาศพบว่า ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศจำนวน 3 จุด ได้แก่

 

จุดตรวจสถานีอนามัยตากวน จุดตรวจสถานีหนองเสือเกือก และจุดตรวจสถานีเทศบาลเมืองมาบตาพุด อยู่ในเกณฑ์ปกติ “สำหรับผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 ราย และเสียชีวิต 1 ราย เบื้องต้นทางบริษัทฯ ยืนยันว่าจะดูแลและเยียวยาอย่างเต็มที่ และดิฉันได้มอบเงินช่วยเหลือให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ ยังกำชับ กนอ. ให้กำกับดูแลการประกอบกิจการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และท่าเรืออุตสาหกรรมอย่างเข้มงวดและรัดกุมมากขึ้น อีกทั้งต้องกำกับให้ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับตาม พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 ที่แก้ไขเพิ่มเติมอย่างจริงจังด้วย” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

 

 
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า กนอ. จะตรวจวิเคราะห์หาสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเร่งด่วน จัดทำมาตรการด้านความปลอดภัยเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ ซึ่งต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานภายนอกที่ให้การรับรองด้านความปลอดภัย (Third Party) พร้อมทั้งชี้แจงแนวทางและมาตรการในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเกิดอุบัติเหตุดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตาม ได้กำชับทุกนิคมอุตสาหกรรมให้เพิ่มความเข้มงวดของมาตรการรักษาความปลอดภัยภายในพื้นที่ ตามมาตรฐาน “การจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต”(Process Safety Management : PSM) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบกิจการ และประชาชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป