23/01/2025

กาฬสินธุ์-นักสู้ข้างเวที ทุกวันนี้ทำเพื่อสืบสานศิลปะการต่อสู้แม่ไม้มวยไทย ให้เยาวชนเป็นคนดี

3_0

กาฬสินธุ์-นักสู้ข้างเวที ทุกวันนี้ทำเพื่อสืบสานศิลปะการต่อสู้แม่ไม้มวยไทย ให้เยาวชนเป็นคนดี

 

 

พบอดีตผู้ใหญ่บ้าน วัย 69 ปี ผู้ไม่ยอมแพ้สังขาร ดึงลูกหลาน เยาวชน ฝึกซ้อมศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว “แม่ไม้มวยไทย” ตั้งค่ายมวย “ศูนย์กีฬาหนองตอกแป้น” ด้วยใจรักและจิตอาสา ท่ามกลางความขาดแคลน แต่ไม่เคยย่อท้อ ขณะที่การสร้างเวทีมวยผ่านมาเกือบ 10 ปียังไม่เสร็จ ต้องพานักมวยฝึกซ้อมบนลานดินและใต้ร่มไม้ หลายคนให้ฉายา “ลมโชยยิม” แต่สามารถปั้นยอดมวยฝีมือดีของค่ายหลายคน และถูกดึงไปเป็นนักกีฬามวยไทยของโรงเรียนกีฬาหลายจังหวัด ขณะที่ “กนกวรรณ” นักมวยหญิงแม่เหล็กของค่าย ขึ้นชกในเวทีระดับประเทศและต่างประเทศกว่า 100 ไฟต์ ด้านเจ้าของค่ายได้ฉายา “นักสู้ข้างเวที” เพราะขยันนำนักมวยไปขึ้นชกหลายเวทีตลอดปี


วันที่ 28 เมษายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการดำเนินชีวิตของประชาชนหลายสาขาอาชีพในช่วงฤดูร้อน และก่อนเปิดภาคเรียนในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ได้พบนายวิศิษฏ วิรุฬพัฒน์ อายุ 69 ปี อดีตรองนายก อบต.หนองตอกแป้น อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กำลังขะมักขะเม้นอยู่กับควบคุมการฝึกซ้อมมวยไทยให้กับเยาวชนหญิง-ชาย จำนวน 10 คน อยู่บนลานดินหน้าบ้านและข้างเวทีมวยทรงมาตรฐาน ที่ขึ้นโครงเหล็กไว้ในสภาพค่อนข้างเก่า ถูกเว้นระยะการสร้างต่อมานานหลายปี และเหมือนกำลังรอคอยการต่อเติมให้แล้วเสร็จ


สอบถามนายวิศิษฎกล่าวว่าตนเคยเป็นผู้ใหญ่บ้านหนองตอกแป้น หมู่ 5 ก่อนที่จะมาเป็น สมาชิกสภาอบต.และรองนายก อบต.หนองตอกแป้น ส่วนตัวชอบเล่นกีฬา โดยเฉพาะกีฬาหมัดมวย ได้เริ่มตั้งค่าย “ลูกกตัญญู” เมื่อปี 45 ก่อนที่จะเชิญชวนผู้ปกครอง นำเด็ก บุตรหลาน เยาวชน เข้าค่ายรับการฝึกสอนอย่างจริงจังในปี 52 ในนามค่ายมวย “ศูนย์กีฬาหนองตอกแป้น” เพื่อเป็นสถานที่ฝึกฝนเด็ก และเยาวชนในหมู่บ้านให้มีระเบียบวินัย แก้ไขปัญหาเด็กติดเกม ใช้เวลาว่างเป็นประโยชน์ ห่างไกลยาเสพติด ทั้งนี้ ใช้เงินทุนส่วนตัว ในการจัดซื้ออุปกรณ์ฝึกซ้อม ตั้งแต่กางเกงมวย นวม กระสอบทราย ล่อเป้าและอุปกรณ์เสริมอื่นๆ
นายวิศิษฎกล่าวว่าอีกว่า ในช่วงปี 56 ได้ร่วมกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด จัดโครงการ “สร้างคนดี รักษาคนดี ส่งเสริมคนดี”

โดยกิจกรรมประกอบด้วยนำเด็กเยาวชนบำเพ็ญประโยชน์ ปฏิบัติธรรม อนุรักษ์ศิลปะ วัฒนธรรมประเพณี และการจัดตั้งค่ายมวย “ศูนย์กีฬาหนองตอกแป้น” เป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัด ทั้งนี้ เพื่อให้เด็กและเยาวชน ให้เรียนรู้ศิลปะแม่ไม้มวยไทย ซึ่งเป็นศิลปะประจำชาติ ให้รู้จักการออกกำลังกายโดยการเล่นกีฬา มีระเบียบวินัย ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ไม่ไปมั่วสุมตามร้านเกม ร้านอินเทอร์เน็ต และห่างไกลจากยาเสพติด หลังพบว่าเด็กและเยาวชนไทยมีปัญหาติดเกม ติดอินเทอร์เน็ต เล่นมือถือ เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดมากขึ้น ทั้งนี้เป้าหมายสูงสุด คือได้ร่วมกันสืบสานศิลปะแม่ไม้มวยไทย ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้รู้จักออกกำลังกาย ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ไม่ไปมั่วสุมติดเกมและยาเสพติด เป็นคนดีของสังคม โดยมีเด็กและเยาวชนทั้งหญิงและชายเข้ามาฝึกกว่า 50 คน โดยทางค่ายมวยมีครูผู้สอน ที่เป็นจิตอาสามาทำการฝึกสอนให้ฟรี


“ค่ายมวยเรา ได้รับกระแสตอบรับจากผู้ปกครอง และเยาวชน ให้ความสนใจและเห็นความสำคัญของการฝึกซ้อมศิลปะแม่ไม้มวยไทย ซึ่งหากมีโอกาสก็จะเฟ้นตัวนักมวยที่มีแวว มีทักษะ มีความตั้งใจมุ่งมั่น ขึ้นชกในรายการมวยต่างๆ เป็นการสร้างแรงจูงใจ และมุ่งหวังอยากจะเป็นนักมวยอาชีพ สามารถสร้างายได้และชื่อเสียงให้กับตนเองและครอบครัว ลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ปกครองในการศึกษาเล่าเรียนได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ บางคนที่เป็นนักเรียน เป็นนักศึกษา ก็ได้เป็นตัวแทนสถานศึกษาไปขึ้นชกแข่งขันและได้รับรางวัลหลายราย นอกจากนี้ยังมีนักมวยตัวเด่นในค่ายหลายคน ที่สร้างชื่อเสียงให้กับค่าย โดยเฉพาะ “กนกวรรณ ศูนย์กีฬาหนองตอกแป้น” ซึ่งได้รับการเทียบเชิญขึ้นชกในเวทีต่างๆหลายรายการ กระทั่งได้รับการทาบทามจากโรงเรียนกีฬาหลายจังหวัดให้เข้าไปศึกษาต่อ ก่อนที่จะตัดสินใจไปเข้าโรงเรียนกีฬา จ.ศรีสะเกษ และต่อมามีโอกาสขึ้นชกแสดงฝีมือบนเวทีมวยระดับเขต ระดับประเทศ เช่น เวทีราชดำเนิน และต่างประเทศหลายไฟต์ เช่น ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย” นายวิศิษฎกล่าว


นายวิศิษฎกล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อเห็นว่าทางค่ายได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน และสามารถปั้นนักมวยฝีมือดีขึ้นเวทีระระดับภูมิภาคหลายคน ในปี 60 จึงมีโครงการสร้างเวทีมวยมาตรฐานขึ้นมา โดยใช้เงินส่วนตัวทั้งหมด แต่ก็ทำไม่เสร็จเนื่องจากเริ่มประสบกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ทุกกิจกรรมในสังคมแทบหยุดการเคลื่อนไหว การฝึกซ้อมมวยในค่ายก็แทบจะยุติไป แต่ก็ยังมีลูกหลานใกล้ชิด เยาวชนที่ชื่นชอบหมัดมวย มาใช้เป็นสถานที่ออกกำลังกายและลงนวมซ้อมบ้าง เพื่อรักษาความฟิตและสภาพร่างกายให้แข็งแกร่ง กระทั่งสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ก็มาเริ่มนับหนึ่งกันใหม่

“ทุกวันนี้ เรายังฝึกซ้อมศิลปะแม่ไม้มวยไทย โดยมีนักมวยชายหญิง เยาวชน เข้ามารับการฝึกประมาณ 60 คน แต่เนื่องจากเวทีมวยที่ขึ้นโครงไว้ตั้งแต่ปี 60 ยังไม่แล้วเสร็จ เหมือนเป็นแค่เวทีมวยในฝันเพราะยังขาดแคลนงบประมาณมาสร้างต่อ จึงได้แต่นำพานักมวยในค่ายฝึกซ้อมกันบริเวณลานดินหน้าบ้านและข้างเวที บางครั้งแดดแรงหน่อยก็ซ้อมกันใต้ถุนบ้านและใต้ร่มไม้ แบบว่าซ้อมกันไปแบบตามมีตามเกิด คนที่ผ่านมาเห็นก็แซวว่า “ลมโชยยิม” แต่ตนและนักมวยในสังกัดก็ไม่ย่อท้อ พอทราบว่ามีที่ไหนเขาจัดการการชกมวยก็ไปติดต่อ เพื่อนำนักมวยไปขึ้นชก แพ้บ้าง ชนะบ้าง เสมอบ้าง ถือเป็นเรื่องธรรมดาของการแข่งขันกีฬา และเป็นการสั่งสมประสบการณ์ ขณะที่ตนเองก็ได้ฉายาว่า “นักสู้ข้างเวที” เพราะขยันนำนักมวยเดินสายขึ้นชกหลายรายการทั่วประเทศ” นายวิศิษฎกล่าวในที่สุด

ด้าน “กนกวรรณ ศูนย์กีฬาหนองตอกแป้น” อายุ 23 ปี ยอดมวยหญิง เด็กปั้นจากค่าย “ศูนย์กีฬาหนองตอกแป้น” กล่าวว่า ตนเริ่มฝึกฝนมวยไทยตั้งแต่เรียน ป.3 อายุ 9 ขวบ จากนั้นก็ได้รับโอกาสขึ้นเวทีชกมาเรื่อยๆ ทั้งประเภทมวยไทยและมวยสากล ทั้งในขณะศึกษาในระดับมัธยมและปริญญาตรี สังกัดโรงเรียนกีฬาศรีสะเกษ เป็นตัวแทนแข่งขันระดับเขตและระดับภาคหลายรายการ รวมแล้วประมาณ 100 ไฟต์ มีแพ้ มีชนะบ้าง จุดเด่นของตนคือหมัดขวาหนัก การชกมวยเป็นเรื่องที่ดี เพราะนอกจากจะเป็นศิลปะป้องกันตัวแล้ว ยังได้ออกกำลังกาย และใช้เวลาว่างเป็นประโยชน์อีกด้วย จึงอยากให้น้องๆ เยาวชน หันมาสนใจออกกำลังกาย เล่นกีฬา หรือชกมวยกันกันเยอะๆ หากเล่นและฝึกฝนอย่างทุ่มเท จริงจังและตั้งใจ ก็สามารถที่จะสร้างรายได้ระหว่างเรียน ลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ปกครอง หรือเป็นนักกีฬาอาชีพสร้างชื่อเสียงให้กับตนและวงศ์ตระกูลได้


สำหรับ กนกวรรณ ศูนย์กีฬาหนองตอกแป้น ถือเป็นนักมวยหญิงดาวรุ่ง หวานดุ เชิงสวย หมัดแม่น เตะเข้า เข่าชัวร์ ขวาหนัก สมาธิดี รุก รับ สุขุม ชกสนุก ถูกใจกองเชียร์ทุกไฟต์ ระยะหลังขึ้นชกกับนักมวยต่างชาติและเอาชนะมาหลายคน ล่าสุด วันที่ 21 เม.ย.67 เดินทางไปชกที่ประเทศญี่ปุ่น และสามารถเอาชนะนักมวยชาวญี่ปุ่นด้วยฟอร์มการชกที่ดุเดือด สวยงาม และ 14 พ.ค.67 ที่จะถึง มีคิวไปขึ้นชกที่ประเทศออสเตรเลีย ขอแรงเชียร์แรงใจจากแฟนหมัดมวยชาวไทย ส่งกำลังใจให้ “กนกวรรณ” ได้รับการชูมือเป็นผู้ชนะอีกไฟต์
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการสร้างเวทีมวย ค่ายมวย “ศูนย์กีฬาหนองตอกแป้น” ที่ยังไม่แล้วเสร็จ ขึ้นไว้แต่โครงเหล็กมาตั้งแต่ปี 60 เพราะขาดแคลนงบประมาณสร้างต่อ ขณะที่เจ้าของค่ายในวัย 69 ปีก็ยังคงมุ่งมั่น ฝึกฝนเด็ก เยาวชน ฝึกฝนแม่ไม้มวยไทยอย่างจริงจัง ไม่ย่อท้อ หวังเพียงเห็นเด็ก เยาวชน เป็นเด็กดี เป็นคนดี เป็นแบบอย่างที่ดี ห่างไกลยาเสพติด และไม่มีพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง อย่างที่พบเห็นทั่วไปในปัจจุบัน แฟนหมัดมวยท่านใด อยากเป็นส่วนหนึ่งในการต่อเติมเวทีมวยให้แล้วเสร็จ และร่วมสานต่อโครงการ “สร้างคนดี รักษาคนดี ส่งเสริมคนดี” ติดต่อที่ นายวิศิษฏ วิรุฬพัฒน์ เจ้าของค่ายมวย โทร.063-7901247

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป