กาฬสินธุ์-แฉภาพชัดริมตลิ่งแม่น้ำชี้ “รับเหมาขาใหญ่” เมินก่อสร้าง เชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริงใครทุจริตจะพบอาถรรพ์เงินแผ่นดิน
ชาวบ้านอาศัยริมแม่น้ำชี แฉ “รับเหมาขาใหญ่” ยังไม่ก่อสร้างต่อ ย้ำทำอย่างนี้ต่อให้เป็นช่างเทวดาก็ทำไม่ทันแม้ กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ขยายเวลาค่าปรับเป็น 0 บาท เชื่อมีพฤติกรรมเอื้อผลประโยชน์ระหว่างหน่วยงานรัฐ จี้เปิดสัญญาก่อสร้างพิสูจน์ความจริง
จากกรณีการก่อสร้าง 8 โครงการ งบประมาณกว่า 500 ล้านบาท ของกรมโยธาธิการและผังเมือง ตามงบประมาณพัฒนาเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ที่จัดลงพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ทั้งในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ และ ต.ลำน้ำพาน อ.เมืองกาฬสินธุ์ และลำน้ำชี เขต ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสยและ ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย มีเพียง 2 บริษัทรับเหมาขาใหญ่ คือเป็นผู้รับจ้างโดยผู้ว่าจ้างคือกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย รายละเอียดโครงการ เริ่มลงทำสัญญาจ้างงาน มาตั้งแต่ช่วงปี 62-ปัจจุบัน แต่ปรากฏว่าการทำงานล่าช้า ทุกโครงการหมดสัญญาจ้างตั้งแต่ต้นแต่มีการต่อสัญญาค่าปรับเป็น 0 บาท หลายครั้งล่าสุดบางโครงการ กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ยังมีการต่อสัญญาอีกหลายครั้งในบางโครงการเอื้อให้รับเหมาขาใหญ่ ได้รับสิทธิ์ค่าปรับเป็น 0 บาท แต่การก่อสร้างก็ยังไม่มีทีท่าว่าผู้รับจ้าง 2 รายนี้จะเริ่มทำงานแต่อย่างใด ทำชาวบ้านทุกข์เนื้อร้อนใจ
ซึ่งหากเป็นในเขตเทศบาล ชาวบ้านที่เป็นผู้ประกอบการร้านค้าได้รับเดือดร้อนจนประนามว่า “ก่อสร้าง 7 ชั่วโคตร” ขณะนี้ ชาวบ้านที่อาศัยริมตลิ่งก็เกรงว่าจะไม่ได้รับความปลอดภัยหากเกิดฤดูน้ำหลากในสถานการณ์ปรากฏการณ์ “ลานีญ่า” ที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักลงมาและก็จะทำให้การก่อสร้างที่ทำค้างเอาไว้เสียหาย ทำให้เงินแผ่นดินของประชาชนเสียหายไปอีก ทั้งนี้ที่ผ่านมาคณะธรรมาภิบาล จ.กาฬสินธุ์ ร่วมกับคณะ ปปท.เขต 4 ขอนแก่น และ ปปช.ประจำ จ.กาฬสินธุ์ พบสาเหตุปัญหาความล่าช้า และส่งเรื่องไปที่ สำนักนายกรัฐมนตรี, สตง.,ปปง.และดีเอสไอ เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ขณะที่กรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ ยังไม่แสดงความชัดเจนออกมา รวมถึงทางจังหวัดกาฬสินธุ์ ก็ยังไม่ได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบโดยผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์อ้างว่าไม่ใช่งบประมาณของจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นงบกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ตามที่นำเสนอไปแล้วนั้น
เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการเกาะติดปัญหาการตรวจสอบร่วมกับ คณะกรรมการธรรมภิบาลจังหวัดกาฬสินธุ์ (กธจ.) และหน่วยงานตรวจสอบ แหล่งข่าวในพื้นที่ อ.ฆ้องชัย – อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ระบุว่า ตลอดริมตลิ่งแม่น้ำชี กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ได้จัดสรรงบประมาณ ซ่อมแซมตลิ่งเป็นเขื่อนป้องกัน รวม 3 จุด เมื่อวานเป็นจุดที่ 1 เป็นโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี (ระยะ 2) วัดลำชีวนาราม ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ ความยาว 385 เมตร งบประมาณ 59,270,000 บาท และยังมีจุดก่อสร้างริมตลิ่งแม่น้ำชีอีก 2 จุดคือจุดก่อสร้างโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี บ.หนองหวาย-บ.หนองคล้า ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ ความยาว 300 เมตร งบประมาณ 39,540,000 บาท เบิกจ่าย 5,928,750 บาท และจุดโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี วัดใหม่สามัคคี ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ความยาว 423 เมตร งบประมาณ 59,306,000 บาท เบิกจ่าย 14,978,900 บาท ยังพบว่าทุกอย่างหยุดการเคลื่อนไหว ยังไม่มีผู้รับเหมาเข้ามาทำงานแต่อย่างใด
แหล่งข่าวระบุว่า ตามสภาพที่เห็นจะมองเห็นกองหิน กองดิน กองเสาเข็ม และรถแบ็คโฮ ที่ดูเหมือนจะเป็นการเตรียมการก่อสร้างแต่ในข้อเท็จจริงภาพลักษณะนี้ เป็นภาพที่นิ่งสนิทมานานหลายเดือน แต่สิ่งที่ยังเคลื่อนไหวคือความรู้สึกเจ็บปวดของชาวบ้าน กับความกังวลของผู้นำชุมชน ที่ต้องการจะได้รับโอกาสการพัฒนาการเข้ามาแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะโครงการนี้ต้องขอบพระคุณกระทรวงมหาดไทย กรมโยธาธิการและผังเมือง ที่ได้จัดสรรงบประมาณเข้ามาแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้าน ที่ต่างหวาดผวากับปัญหาน้ำท่วมเพราะที่ผ่านมาบริเวณจุดที่อนุมัติการก่อสร้างเป็นจุดที่แม่น้ำชีเจาะพนังดินและทำให้เกิดน้ำท่วมที่ได้สร้างความเสียหายทั้งทรัพย์สินและชีวิตของประชาชน
“การที่ผู้รับเหมาไม่มีความรับผิดชอบในการก่อสร้าง เชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริง ”เงินแผ่นดินตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้“ พฤติกรรมเช่นนี้เชื่อว่าผู้รับเหมาหากมีเจตนาไม่ดีต่องบประมาณแผ่นดิน สักวันก็จะพบกับอาถรรพ์เงินแผ่นดินแน่นอน ดังนั้นวันนี้ การที่ผู้รับเหมาขนวัสดุก่อสร้างเข้ามาวางเอาไว้แต่ไม่มีคนงานแถมไม่มีใครอยู่หน้างาน กรมโยธาธิการและผังเมือง จะมีคำตอบอย่างไร นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างไร ชาวบ้านที่ทุกข์ทรมานจากปัญหาน้ำท่วมเค้านอนไม่หลับแต่กลับยังจะมีการเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับเหมากลุ่มนี้ทั้งที่ทำไม่ดีกับแผ่นดินจึงของให้เร่งพิจารณาด้วย”
แหล่งข่าวระบุว่า ขณะนี้ ชาวบ้านทำได้แค่เฝ้ามองร้องเรียนและวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆนานา หลายคนกังวลใจกลัวงบประมาณสูญเปล่า รู้สึกเสียดายเงินจำนวนมหาศาลที่จะสูญสลายไปกับสายน้ำชี เนื่องจากการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ เพราะทราบจากช่างควบคุมงานว่าผู้รับเหมาขาดสภาพคล่อง แต่ไม่มีใครทำอะไรเขาได้เพราะเป็นผู้รับเหมาขาใหญ่ และในส่วนของผู้รับเหมาช่วงหรือผู้รับเหมารายย่อยก็เจ็บปวด ทุกข์ใจ ได้แต่กัดก้อนเกลือกิน และตามทวงเงินกับผู้รับเหมาขาใหญ่ สุดท้ายขนย้ายเครื่องจักรหนีไป รายแล้วรายเล่า เพราะผู้รับเหมารายย่อยไม่สามารถ เบิกเงินตามงวดงานจากผู้รับเหมาขาใหญ่ ที่เป็นผู้รับสัญญาว่าจ้างจากกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด กธจ.กาฬสินธุ์ ได้รับแจ้งจาก นายธนกฤต ระวาดชัย นายก อบต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ว่า วานนี้ (26 เม.ย.) ได้รับหนังสือจากสำนักงานโยธาธิการฯ จ.กาฬสินธุ์ เชิญผู้นำท้องถิ่น พื้นที่จุดก่อสร้างร่วมต้อนรับอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ในวันที่ 30 เม.ย.67 เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุมสำนักงานโยธาธิการฯ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งหากไม่มีอะไรคลาดเคลื่อน ก็คงจะได้มีการซักถามกันในประเด็นสงสัยและอื่นๆ ว่าทั้ง 8 โครงการที่กรมโยธาฯ จัดมาลงพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ที่เกิดปัญหาคาราคาซังเกือบทุกโครงการจะเอายังไง และจะจัดการยังไงกับผู้รับเหมาขาใหญ่รายนี้รวมไปถึงการเปิดเผยสัญญาจ้างโครงการทั้งหมดระหว่างกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้ว่าจ้าง กับ ผู้รับเหมา 2 รายนี้ ในฐานะผู้รับจ้างที่จะได้รับทราบทางออกของปัญหาเพื่อประชาชนต่อไป