วธ.เปิดงานประเพณีสงกรานต์ปีใหม่ไทย (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) ชวนประชาชน นักท่องเที่ยวเปิดประสบการณ์สัมผัสอัตลักษณ์วิถีชีวิตชาวชลบุรี
วธ.เปิดงานประเพณีสงกรานต์ปีใหม่ไทย (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) ชวนประชาชน นักท่องเที่ยวเปิดประสบการณ์สัมผัสอัตลักษณ์วิถีชีวิตชาวชลบุรี ฉลองมหาสงกรานต์ มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ
(เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 67 เวลา 19.00 น.) นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิด งานประเพณีสงกรานต์ปีใหม่ไทย (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) เนื่องในประเพณีสงกรานต์ ประจำปี พ.ศ. 2567 โดยมี นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นางสาววราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม พร้อม นายปราชญา อุ่นเพชรวรากร รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม นายวันชัย จึงจรัสทรัพย์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดชลบุรี กรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัด คณะกรรมการจัดงาน ประชาชนและนักท่องเที่ยว ร่วมงาน ณ เวทีกลาง ถนนเลียบชายหาด เมืองพัทยา ซึ่งภายในงานประธานพร้อมคณะฯ ได้เข้าร่วมพิธีสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ และพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์โบราณ 9 องค์ ชมประติมากรรมเจดีย์ทรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ชมกิจกรรมลานวัฒนธรรม การแสดงของสมาคมเพลงพื้นบ้านภาคกลาง (จินตลีลาประกอบเพลงสงกรานต์) การแสดง จากวิทยาลัยนาฏศิลป์จันทบุรี ชุด “ตำนานนางสงกรานต์” เป็นต้น
นายเสริมศักดิ์ ประธานกล่าวว่า ในโอกาสที่ ยูเนสโก ได้ประกาศขึ้นทะเบียน ให้ประเพณีสงกรานต์ของไทย เป็น “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ของมนุษยชาติ” ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของพวกเราชาวไทยเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ที่ถือเป็นเจ้าภาพหลักในการ นำเสนอข้อมูล ผมรู้สึกดีใจและภูมิใจมาก และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองและประกาศให้ชาวโลกได้รับรู้ ตลอดถึงการต่อยอดประเพณีสงกรานต์ ให้ยิ่งใหญ่ยิ่งขึ้น เป็นการเผยแพร่ประเพณีสงกรานต์ของไทยให้เป็นหมุด-หมายของนักท่องเที่ยวระดับโลก สิ่งที่ตามมาคือการสร้างรายได้ให้แก่ ประชาชน และสร้างเศรษฐกิจ ให้แก่ประเทศไทย วธ.จึงได้อนุมัติงบประมาณให้จังหวัด จัดงานประเพณีสงกรานต์ ภายใต้โครงการ Songkran in ThaiLand : Tradition Thai New Year ซึ่งจังหวัดชลบุรี เป็น 1 ใน 5 จังหวัด ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ เนื่องจากเป็นจังหวัดนำร่องในการเสนอข้อมูลและมีประเพณีสงกรานต์ที่ยิ่งใหญ่ในพื้นที่
ประธานกล่าวต่อว่า จังหวัดชลบุรี นอกจากจะเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวแล้ว ยังมีความร่วมมือร่วมใจกันในการส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการจัดประเพณีสงกรานต์ ที่มีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง ซึ่งนอกจากการจัดงานตามโครงการนี้แล้ว ยังมีกิจกรรมงานสงกรานต์อีกในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นงานประเพณีของจังหวัด งานวันไหล งานบุญกองข้าว และอีกหลายๆ กิจกรรม ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรม ขอขอบคุณหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ที่เป็นพลังสำคัญในการส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีของจังหวัด นายกเมืองพัทยาและคณะ ที่อำนวยความสะดวกในการจัดงาน สภาวัฒนธรรมจังหวัดชลบุรี สภาวัฒนธรรมอำเภอ สภาวัฒนธรรมเมืองพัทยา และเครือข่ายวัฒนธรรมที่ร่วมมือร่วมใจกันจัดงาน และร่วมส่งเสริมสร้างสรรค์งานวัฒนธรรมประเพณี ให้เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ และเกิดรายได้แก่ประชาชนอย่างยั่งยืน สืบไป
โดยกิจกรรมภายในงานระหว่างวันที่ 18-20 เม.ย. 67 ประกอบด้วย กิจกรรมลานวัฒนธรรม ใน ธีม “งานวัด” สำหรับนักท่องเที่ยว ได้แก่ สรงน้ำ พระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปโบราณ ชมเจดีย์ทรายใหญ่ที่สุด นิทรรศการประเพณีสงกรานต์ รำวงย้อนยุค สาธิตการทำอาหารพื้นบ้าน การละเล่น พื้นบ้าน มวยตับจาก กระบี่กระบอง ฯลฯ และการจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชน และพลาดไม่ได้กับการแสดงทางวัฒนธรรม อาทิ การแสดง ชุด ตำนานนางสงกรานต์ จากวิทยาลัยนาฏศิลป์จันทบุรี การแสดงศิลปวัฒนธรรม จาก มองช้างคาเฟ่ จาก สวนนงนุช และการแสดงโดย ศิลปิน ตุ๊กกี้ ชิงร้อย มาร่วมสร้างความบันเทิง และการแสดงจากคณะ หุ่นละครเล็ก โจหลุยส์ ในงานประเพณีกองข้าวพัทยา ณ วัดหนองใหญ่ เมือพัทยา อีกด้วย
นอกจากนี้ ระหว่างวันที่ 18-21 เมษายน 2567 นี้ กระทรวงวัฒนธรรม ขอเชิญร่วมส่งท้ายงานมหาสงกรานต์ ประจำปี 2567 อย่างยิ่งใหญ่ ภายใน งานสงกรานต์ “อัตลักษณ์ วิถีชีวิตชุมชนมอญ/รามัญ” ณ ป้อมแผลงไฟฟ้า อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ พบกับกิจกรรมการละเล่นและวิถีวัฒนธรรมสงกรานต์พระประแดง ขบวนแห่ทางวัฒนธรรม ขบวนแห่รถบุปผาชาติ ขบวนแห่หงส์ธงตะขาบ กิจกรรมทางวัฒนธรรม การประกวดนางสงกรานต์พระประแดง / การประกวดหนุ่มลอยชาย สินค้าทางวัฒนธรรม ของดีจังหวัด ฯลฯ
เจนกิจ นัดไธสง รายงาน