14/11/2024

เพชรบูรณ์ เปิดศูนย์ปฏิบัติการร่วมป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567

เพชรบูรณ์ เปิดศูนย์ปฏิบัติการร่วมป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567

 


9 เมษายน 2567 เวลา 09.00 น. ที่วัดมหาธาตุ พระอารามหลวง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ปฏิบัติการร่วมป้องกันและ ลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 โดยมี นายธงชัย เสนาะศรีตระกูล หน.สนง.ปภ.จ.เพชรบูรณ์ กล่าวรายงาน พร้อมด้วย นายชนก มากพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ หัวหน้าส่วนราชการ องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรสาธารณกุศล และสมาชิกเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับจังหวัดเพชรบูรณ์ ในมูลนิธิเมาไม่ขับ เข้าร่วม ซึ่งการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ได้รับพระเมตตาจากพระราชพัชรธรรมเมธี เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ กล่าวสัมโมทนียกถา และประพรมน้ำพระพุทธมนต์ ให้ขบวนรณรงค์เทศกาลสงกรานต์

ทั้งนี้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้กำหนดการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 ในระหว่างวันที่ 11 เมษายน 2567 ถึง วันที่ 17 เมษายน 2567 โดยใช้ชื่อในการรณรงค์ว่า “ขับขื่อย่างปลอดภัยเมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” มีเป้าหมายในการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมความปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 และลดสถิติการเกิดอุบัติเหตุผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บสาหัสลดลงให้เป็นศูนย์

จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหา อุบัติเหตุทางถนน โดยบูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนงานอย่างจริงจังและต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลหรือช่วงวันหยุดยาว ซึ่งในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้เน้นย้ำชุดปฏิบัติการระดับตำบล/หมู่บ้าน ออกรณรงค์การใช้รถใช้ถนน โดยเน้นไม่ให้มีการดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รณรงค์ให้ชุมชนในพื้นที่ดูแลซึ่งกันและกัน โดยการให้สวมหมวกนิรภัยทุกครั้งที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ และห้ามปรามป้องกันไม่ให้ประขาชนที่เมาสุราออกจากบ้านมาขับขี่รถจักรยานยนต์

มอบหมายเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและท้องถิ่น ดูแลถนนบริเวณจุดเสี่ยง (Black Spot) เช่น บริเวณจุดกลับรถ ทางแยก ทางข้าม ทางโค้ง/ทางลาดชัน บริเวณพื้นที่ก่อสร้าง (Work Zone) และบริเวณที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทาง อาทิ ไฟฟ้าแสงสว่าง ป้ายเตือน และติดตั้งซ่อมแซมอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยให้สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัยตลอดเวลา ตั้งจุดตรวจ (Check Point) และประชาสัมพันธ์ โดยใช้กลไกสี่ด่านประสานใจ “ด่านตำรวจ ด่านท้องถิ่น ด่านชุมชน และด่านครอบครัว”

เพื่อป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงในการขับขี่รถจักรยานยนต์โดยเฉพาะเรื่องของการสวมหมวกนิรภัย ดื่มไม่ขับ ขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน นอกจากนี้ยังได้ให้จุดตรวจหลัก ทุกจุด จัดให้มีการบริการประชาชนอย่างเต็มรูปแบบ อาทิ เช่น น้ำดื่ม ผ้าเย็น เครื่องดื่ม ของรับประทานเล่น บริการนวดแผนไทย บริการตรวจสภาพรถและซ่อมรถ บริการชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป