23/12/2024

เชียงใหม่-ดันนโยบาย RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต สู่กิจกรรม “สร้างเครือข่ายผู้นำพันธุ์ดีพร้อม”

S__82116801_0

ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ดันนโยบาย RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต สู่กิจกรรม “สร้างเครือข่ายผู้นำพันธุ์ดีพร้อม” มุ่งเพิ่มขีดความสามารถให้กับ SMEs ให้สามารถเปลี่ยนชุมชน ผ่านบทบาทพี่ช่วยน้อง (Big Brother)

 

หลังจากที่อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (นายภาสกร ชัยรัตน์) ได้แถลงนโยบายแนวทางการขับเคลื่อน   การพัฒนาผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรม “RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต” เพื่อเป็นกรอบทิศทางการดำเนินงานที่สอดรับกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงระดับโลก (Megatrends) ภายใต้ภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจและสังคมโลกยุคใหม่ ให้กลุ่มเป้าหมายทุกระดับสามารถยืนหยัดรับมือและปรับตัวให้ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนมีศักยภาพ ในการแสวงหาโอกาสและผลประโยชน์จากความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม เมื่อต้นปี 2567 ที่ผ่านมา

ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จึงเร่งผลักดันนโยบายดังกล่าว ผ่านกิจกรรม “สร้างเครือข่ายผู้นำพันธุ์ดีพร้อม” (DIPROM HEROES) ซึ่งสอดรับกับกลยุทธ์ RESHAPE THE AREA : ปรับเปลี่ยนการพัฒนาเชิงพื้นที่ ที่มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากด้วยการเปลี่ยนชุมชนให้ดีพร้อม โดยบริบท ของอุตสาหกรรม มุ่งเน้นการพัฒนาแบบองค์รวมที่ครอบคลุมทั้งชุมชน ภายใต้การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน โดยใช้เครื่องมือ กระบวนการ หรือเทคโนโลยี ที่สอดคล้องกับระดับศักยภาพของแต่ละชุมชน เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายหรือสภาพปัญหาภายในชุมชนได้อย่างแท้จริง รวมถึงเชื่อมโยงและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S-Curve) เข้ามามีส่วนร่วมและบทบาทในการ เปลี่ยนชุมชนในรูปแบบพี่ช่วยน้อง (Big Brother) โดยมุ่งหวังให้สามารถเปลี่ยนผ่าน ไปสู่ชุมชนดีพร้อมที่มีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาวที่เรียกว่า COMMUNITY TRANSFORMATION หรือ ชุมชนเปลี่ยน

กิจกรรม “สร้างเครือข่ายผู้นำพันธุ์ดีพร้อม” (DIPROM HEROES) เป็นกิจกรรมที่สนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ดำเนินธุรกิจโดยใช้กลยุทธ์ธุรกิจคู่สังคมมาใช้ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาสังคม ชุมชน หรือสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงการนำทรัพยากรและความเชี่ยวชาญขององค์กรมาสร้างให้เกิดเป็นคุณค่าเชิงเศรษฐกิจชุมชน และสังคม ในรูปแบบพี่ช่วยน้อง (Big Brother)

ทางศูนย์ฯ จึงมอบหมายให้ บริษัท ดีเซ็นทริค จำกัด ได้เข้าไปดำเนินการจับคู่ SMEs ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการทั้ง 5 กิจการ กับองค์กรพันธมิตร หรือชุมชน เพื่อร่วมกันหาแนวทาง กำหนดเป้าหมาย สร้าง Business Model เพื่อพัฒนาชุมชน และสังคมรายกิจการ พร้อมทั้งสนับสนุน ส่งเสริมให้ SMEs นำแผนพัฒนาธุรกิจเพื่อพัฒนาชุมชน และสังคม มาผลักดันและร่วมกันปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการเพิ่มขีดความสามารถให้กับธุรกิจ เกิดเป็นคุณค่าเชิงเศรษฐกิจและสังคมสร้างสมดุลการพัฒนาระหว่างเศรษฐกิจ กับสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน อันจะเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีทางสังคม/สิ่งแวดล้อมต่อไป

สำหรับกิจกรรมดังกล่าว มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการจำนวน 5 กิจการ ประกอบด้วย

1) บริษัท ซิมพลิ เด็คคอร์ จำกัด (ผู้ผลิตและส่งออกเยื่อกระดาษ, กระดาษสา, กระดาษข้าวโพด แบรนด์ปาป้าเปเปอร์ คราฟต์) จับคู่กับ ชุมชนเทศบาลตำบลต้นเปา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ สร้างแผนพัฒนาธุรกิจ เพื่อสังคม โดยมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจด้วยนวัตกรรม ตามแนวทาง BCG จึงพัฒนาแผนโดยใช้ชื่อว่า “Papa         ไม่เผา” มีวัตถุประสงค์เพื่อลดปัญหาการเผาในชุมชน คืนอากาศบริสุทธิ์ให้แก่จังหวัดเชียงใหม่ โดยคาดหวังว่าผลลัพธ์ ที่เกิดขึ้นจะสามารถลดอัตราการเผาซังข้าวโพด ที่ส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศ ตลอดจนสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน กว่า 5 แสนบาท โดยบริษัทจะรับซื้อซังข้าวโพดจากชุมชน เพื่อนำไปทำกระดาษ และสร้างสรรค์ชิ้นงานต่อไปในอนาคต ทำให้บริษัทฯ คาดการณ์ว่าจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นกว่า 3 ล้านบาท และมีมูลค่ายอดขายเพิ่มขึ้น กว่า 2 ล้านบาท

2) บริษัท โตโยต้า ริช จำกัด (จำหน่ายรถยนต์โตโยต้า และบริการซ่อมบำรุง) จับคู่กับ ชุมชนตำบลแม่คือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ สร้างแผนพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคม “โตโยต้าริชสืบสานภูมิปัญญาประดิษฐ์โคมไฟวิถีล้านนา” มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างอาชีพ และรายได้ให้คนในชุมชน ตลอดจนสืบสานภูมิปัญญาการประดิษฐ์โคมไฟวิถีล้านนา เพื่ออนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมล้านนาให้แก่คนรุ่นหลัง ทั้งนี้บริษัทมองว่า การช่วยสร้างอาชีพให้กลุ่มผู้สูงอายุหรือคนในชุมชนจะเป็นการสร้างความยั่งยืนและความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน โดยให้ชุมชนรับรู้ว่าทางบริษัท มีความใส่ใจที่จะเข้าไปพัฒนา อยู่เคียงคู่ชุมชน และบริษัทยังสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับแบรนด์สินค้า ปรับกลยุทธ์การตลาดและประชาสัมพันธ์แก่ลูกค้าในองค์กรเพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจของบริษัท

3) บริษัท สมาร์ทฟาร์ม วิลเลจ เชียงใหม่ จำกัด (ออกแบบและบริการระบบน้ำสำหรับพืชผักและผลไม้ /จำหน่ายสินค้า พืชผลทางการเกษตร) จับคู่กับ ชุมชนท่าใหม่อิ ตำบลป่าแดด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สร้างแผนพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคม “การส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไข่เพื่อสุขภาพของชุมชนท่าใหม่อิ” ที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อรวมกลุ่มชาวบ้านในชุมชนให้มีส่วนร่วมในกิจกรรม เพื่อพัฒนาแหล่งผลิตอาหารให้มีความปลอดภัย เพื่อเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายให้แก่ชาวบ้านในชุมชน และเพื่อเป็นที่เรียนรู้ให้แก่คนในชุมชนและนอกชุมชน

โดยคาดหวังว่าผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น คือ คนในชุมชนและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตและแปรรูปอาหารปลอดภัย บ้านท่าใหม่อิ มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไข่ กว่า 46,000 บาท และบริษัทได้รับไข่ ที่มีคุณภาพภายใต้การควบคุมของตนเพื่อนำไปจัดจำหน่ายต่อ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจ ของบริษัท และในอนาคตจะมีการขยายการลงทุนไปสู่ครัวเรือนอื่นๆ ในชุมชนอีก 10-20 ครัวเรือน เกิดมูลค่าการลงทุน การจ้างงาน และมูลค่ายอดขายที่เพิ่มขึ้นกว่า 7.8 ล้านบาท

4) บริษัท ซานเป่า เฮลท์ จำกัด (บริการทางการแพทย์ แพทย์แผนจีน กายภาพ แพทย์แผนไทย) จับคู่กับ โรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทร สร้างแผนพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคม “การตรวจโรคกระดูกสันหลังคด (Scoliosis) ในเด็ก” ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้ถึงโรคกระดูกสันหลังคดในเด็กและวิธีการรับมือรวมถึงป้องกันกลุ่มโรค   ที่เกิดขึ้น

โดยคาดหวังว่าผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น กลุ่มเด็กของโรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทร จะได้รับรู้เกี่ยวกับโรคกระดูกสันหลังคด (Scoliosis) และรับทราบถึงแนวทางการป้องกันเพื่อสร้างสุขภาพร่างกายที่ดี ไม่เกิดปัญหาพิการซ้ำซ้อน ซึ่งคาดหวังว่าจะสามารถประชาสัมพันธ์และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อบริษัท อีกทั้งยังสามารถช่วยให้ลูกค้าได้รู้จักและมาใช้บริการคลินิกซานเป่าเฮลท์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจของบริษัทในอนาคต เกิดการสร้างมูลค่าและการลงทุนในอนาคตกว่า 17 ล้านบาท

5) บริษัท เบทเทอร์เวลเนส จำกัด (ผู้ผลิตผ้าอนามัย organic biodegradable) จับคู่กับ มูลนิธิ The Kostro Foundation อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ สร้างแผนพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคม “Girl’s First Period Pad”  ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้กับเด็กผู้หญิงวัยกำลังจะมีประจำเดือนเกี่ยวกับการเตรียมตัวในช่วงการมีประจำเดือนและเข้าใจตัวเองจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ได้บริจาคผ้าอนามัยให้ชุมชนเพื่อให้สามารถเข้าถึงชุมชนได้

ซึ่งคาดหวังว่าจะสามารถหาพาร์ทเนอร์ อาทิ องค์กรต่างๆ เกี่ยวกับสตรี หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการขอรับทุนต่อยอดกิจกรรมในอนาคตได้มากยิ่งขึ้น ภายใต้กรอบการพัฒนา ที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และเพื่อให้เกิดการเพิ่มขีดความสามารถให้กับธุรกิจในอนาคต เกิดการขยายลงทุนมูลค่ากว่า 1 แสนบาท

 

นภาพร/เชียงใหม่

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป