ประจวบคีรีขันธ์-“ธรรมนัส” ลงทับสะแก ติดตามการระบาดแมลงศัตรูมะพร้าวพร้อมเร่งจัดซื้อสารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืช
ประจวบคีรีขันธ์-“ธรรมนัส” ลงทับสะแก ติดตามการระบาดแมลงศัตรูมะพร้าวพร้อมเร่งจัดซื้อสารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืช
เมื่อวันที่ 6 เม.ย.67 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร คณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของแมลงศัตรูมะพร้าวในพื้นที่ จ.ประจวบฯ ที่อาคารเอนกประสงค์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนบ้านหินเทิน จำกัด ต.แสงอรุณ อ.ทับสะแก มี นายคมกริช เจริญพัฒนสมบัติ รองผู้ว่าราชการ จ.ประจวบฯ นายราม สิงหโศภิษฐ์ นายอำเภอทับสะแก นางศันสนีย์ เกษตรสินสมบัติ เกษตร จ.ประจวบฯ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น และเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวในพื้นที่ให้การต้อนรับ โดย อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้นำเสนอสถานการณ์การระบาดของแมลงศัตรูมะพร้าวใน จ.ประจวบฯ และแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับทราบ จากนั้น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ได้พบปะพูดคุยและรับฟังข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะจากเกษตรกรชาวสวนมะพร้าว พร้อมเปิดงานวันรณรงค์ป้องกันการกำจัดศัตรูมะพร้าวจังหวัดประจวบฯ เพื่อเผยแพร่เทคโนโลยีการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าวให้เกษตรกรนำองค์ความรู้ไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในพื้นที่ สร้างความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันการระบาดโดยเกษตรกรมีส่วนร่วม พร้อมมอบโฉนดเพื่อการเกษตรให้แก่เกษตรกร 15 ราย มอบใบรับรอง GAP Monkey Free Plus ให้แก่เกษตรกร 6 ราย มอบสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว emamectin benzoate 1.92% EC ให้แก่ นายคมกริช เจริญพัฒนสมบัติ รองผู้ว่าราชการ จ.ประจวบฯ มอบแตนเบียนบราคอนให้แก่ผู้แทนเกษตรกร 8 อำเภอ จากนั้นร่วมปล่อยแตนเบียนในแปลงมะพร้าวและรับชมการสาธิตการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯได้เร่งหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวที่กำลังได้รับความเดือดจากการระบาดของแมลงศัตรูพืช โดยได้สั่งการให้พิจารณาปรับแก้ประกาศกระทรวงเกษตรฯ เกี่ยวกับการใช้งบประมาณจัดซื้อสารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืช พร้อมกันสั่งการกรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดทำแผนที่น้ำตั้งแต่ระดับ ตำบล อำเภอทั้ง 8 อำเภอของ จ.ประจวบฯ เพื่อเร่งวางแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่บรรเทาปัญหาภัยแล้ง ขณะเดียวกัน ได้สั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรปฏิบัติการทำฝนหลวงตั้งแต่วันนี้เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่เกษตรกรรมของ จ.ประจวบฯ และได้ตั้งกรอบวงเงินงบประมาณปี 2568 ประมาณ 1,200 ล้านบาท จ่ายค่าตอบแทนให้อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน หรือ อกม.เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน
สำหรับงานวันรณรงค์ป้องกันการกำจัดศัตรูมะพร้าวจังหวัดประจวบฯ มีการจัดนิทรรศการเผยแพร่องค์ความรู้และการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว จำนวน 6 ชุด ประกอบด้วย ชุดที่ 1 สถานการณ์การระบาดของศัตรูมะพร้าว (หนอนหัวดำ แมลงดำหนาม) ชุดที่ 2 มาตรการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันการระบาดศัตรูมะพร้าว (หนอนหัวดำ แมลงดำหนาม) ชุดที่ 3 การบูรณาการความร่วมมือป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว (หนอนหัวดำ แมลงดำหนาม) ชุดที่ 4 หนองไทรโมเดล ต้นแบบจัดการศัตรูมะพร้าวโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ชุดที่ 5 องค์ความรู้และเทคโนโลยีการจัดการศัตรูมะพร้าว ชุดที่ 6 ความร่วมมือแก้ไขปัญหาศัตรูมะพร้าวระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตรและสมาคมอารักขาพืชไท
ทั้งนี้ จ.ประจวบฯ มีพื้นที่ปลูกมะพร้าวมากที่สุดในประเทศกว่า 372,000 ไร่ พื้นที่ปลูกมากที่สุดอยู่ที่อำเภอทับสะแก ซึ่งผลผลิตมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับจากผู้ค้า ผู้ประกอบการ และโรงงานอุตสาหกรรมในการนำมาผลิตแปรรูปเป็นน้ำกะทิ และสินค้าอื่นๆ แต่ปัจจุบันพบปัญหาการระบาดของแมลงศัตรูมะพร้าวในพื้นที่ทั้ง 8 อำเภอ แบ่งเป็นพื้นที่ระบาดหนอนหัวดำ 9,781 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 2.62 ของพื้นที่ปลูกมะพร้าวในจังหวัด เกษตรกรได้รับผลกระทบ 1,479 ราย และพื้นที่ระบาดของแมลงดำ 7,885 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 2.11 ของพื้นที่ปลูกมะพร้าวในจังหวัด เกษตรกรได้รับผลกระทบ 1,510 ราย ความรุนแรงส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลาง อำเภอที่พบการระบาดมากคือ อ.สามร้อยยอด ทับสะแก และบางสะพาน ขณะนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดเพื่อติดตามสถานการณ์เฝ้าระวังการแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะในช่วงนี้ที่สภาพอากาศร้อนและแล้งซึ่งจะเอื้อต่อการแพร่ขยายพันธุ์ของแมลงศัตรูพืชได้มากขึ้น
ขณะเดียวกัน สำนักงานเกษตร จ.ประจวบฯ ได้สร้างการรับรู้ให้แก่เกษตรอย่างต่อเนื่องและมีทีมบริการชุมชนคอยให้คำปรึกษาแนะนำเกษตรกรในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูมะพร้าวอย่างถูกวิธีตามหลักวิชาการ โดยมีศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนเป็นกลไกหลักในพื้นที่ร่วมกับนักส่งเสริมการเกษตรช่วยสำรวจ ประเมินสถานการณ์การระบาดให้องค์ความรู้การจัดการที่ถูกต้อง และได้รับการสนับสนุนแตนเบียนบราคอนและแมลงหางหนีบซึ่งเป็นแมลงศัตรูธรรมชาติของหนอนหัวดำและแมลงดำหนาม จากกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ยและศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช เพื่อควบคุมพื้นที่ระบาดครอบคลุม 14,000 ไร่ ซึ่งสวนมะพร้าวที่พบการระบาดไม่รุนแรงจะใช้วิธีการปล่อยแมลงธรรมชาติจัดการกันเอง ส่วนสวนมะพร้าวที่พบการระบาดระดับปานกลางจะใช้วิธีการผสมผสานระหว่างการปล่อยแตนเบียนและการใช้สารเคมีควบคู่กันทั้งการใช้สารเคมีฉีดพ่นทางใบ และการใช้สารเคมีเจาะเข้าลำต้นซึ่งข้อมูลทางวิชาการ ในปัจจุบันพบว่าวิธีการเจาะสารเคมีที่ลำต้นสามารถใช้ได้กับต้นมะพร้าวที่มีความสูง 4 เมตรขึ้นไป โดยไม่มีสารตกค้างในเนื้อและน้ำของมะพร้าว.
นายนิพล ทองเก่า ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวสยามโฟกัสไทม์/4เหล่าทัพ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์0909944781