22/01/2025

เชียงใหม่-รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทย์ มช.เดินหน้าสร้าง“อาคารสุจิณฺโณ ปลอดฝุ่น PM2.5” นำร่องแห่งแรกในภาคเหนือ

S__81690722_0

ฝุ่น PM2.5 ปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชนเป็นประจำทุกปี คณะแพทยศาสตร์ มช. เล็งเห็นความสำคัญ และหาแนวทางแก้ไขปัญหา นำร่องสร้างอาคารสุจิณฺโณ ปลอดฝุ่น PM 2.5 ยกระดับสุขภาวะของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา และบุคลากรทางการแพทย์ภายในอาคารสุจิณฺโณ

 

ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า สถานการณ์วิกฤตหมอกควันมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝุ่นที่มีอนุภาคเล็กกว่า 10 ไมครอน(PM10) และฝุ่นที่มีอนุภาคเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) ที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นกับจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือมาอย่างยาวนาน โดยขณะนี้เกินค่ามาตรฐานอย่างหนักในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดลำปาง จังหวัดลำพูน จังหวัดพะเยา จังหวัดน่าน

ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ปัจจุบันมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ (สถิติวันที่ 1 ม.ค.-15 มี.ค. 2567) ด้วยผลกระทบจาก PM2.5 แล้วทั้งสิ้น จำนวน 30,339 ราย มากกว่าจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในช่วงเดียวกันของปีก่อน1 เท่าตัว (สถิติวันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค. 2566 จำนวนผู้ป่วย 12,671 คน) ส่วนใหญ่พบมีอาการของโรคภูมิแพ้กำเริบ เยื่อบุจมูกอักเสบ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เยื่อบุตาอักเสบ โรคหืด เลือดกำเดาไหล โรคถุงลมโป่งพอง ตามลำดับ

คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยต่อว่า “อาคารสุจิณฺโณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มีหอพักผู้ป่วยแบบปรับอากาศและไม่ปรับอากาศ ซึ่งหอพักผู้ป่วยแบบไม่ปรับอากาศ ปัจจุบันมีการเปิดหน้าต่างเพื่อระบายอากาศ ดังนั้นหากฝุ่น PM2.5 เข้ามายังอาคารหอผู้ป่วยสุจิณฺโณ จะส่งผลกระทบต่อสภาวะทางเดินหายใจของผู้ป่วยได้ จึงได้มีแนวคิดในการป้องกันปัญหา PM 2.5 ของอาคารสุจิณฺโณ

โดยการสร้างความดันภายในอาคาร ให้สูงกว่าภายนอกบริเวณอาคาร เพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นเล็ดลอดเข้ามาในอาคารสุจิณฺโณ ลดพื้นที่ช่องเปิดให้เหลือน้อยที่สุด และทำการเติมอากาศสะอาดเข้ามาภายในบริเวณโถงทางเดิน ซึ่งอากาศที่เติมเข้ามา จะถูกกรองด้วยระบบกรองอากาศ โดยใช้ Filter 3 ชั้น ได้แก่ แผ่นกรองอากาศชนิดชั้นต้น (Pre – Filter), แผ่นกรองอากาศชั้นกลาง (Secondary -filter) และแผ่นกรองอากาศขั้นสูง (HEPA -filter) ที่มีความสามารถในการกรองฝุ่นได้ถึงระดับ PM2.5

นอกจากนี้ พื้นที่ช่องเปิดและหน้าต่างสำหรับระบายอากาศที่เหลือ ได้ทำการติดตั้งม่านกันฝุ่น PM2.5 โดยใช้ม่านกันฝุ่นชนิดนาโนไฟเบอร์ในห้องผู้ป่วยที่ไม่มีการปรับอากาศ ทั้งนี้ในอาคารสุจิณฺโณ ได้มีการติดตั้งเซนเซอร์ วัดปริมาณฝุ่น PM2.5 เพื่อติดตามปริมาณฝุ่น ภายในอาคาร และสามารถรายงานผลได้ทุกช่วงเวลา แบบ Real time”

คณะแพทยศาสตร์ มช. จึงได้จัดแถลงข่าว“อาคารสุจิณฺโณปลอดฝุ่น ลดผลกระทบต่อสุขภาพจาก PM 2.5”ขึ้น ในวันอาทิตย์ที่ 31 มีนาคม 2567 เวลา 12.15 น. โดยมีนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานและร่วมแถลงในประเด็น สถานการณ์และมาตรการการแก้ปัญหา PM2.5 จังหวัดเชียงใหม่ ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช.แถลงประเด็น นโยบายคณะแพทยศาสตร์ มช. ในการสร้างอาคารสุจิณฺโณ ให้เป็นอาคารนำร่อง ปลอดฝุ่นPM 2.5 และการป้องกันดูแลสุขภาพของประชาชน และรศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ แถลงถึงความคืบหน้าอาคารสุจิณฺโณ ปลอดฝุ่น PM 2.5 ณ ชั้น 1 Grand Hall ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เชียงใหม่ แอร์พอร์ต

 

นภาพร/เชียงใหม่

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป