เสริมศักดิ์แถลงวธ.จัดยิ่งใหญ่ งานประเพณีสงกรานต์ปีใหม่ไทย “มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ”
เสริมศักดิ์แถลงวธ.จัดยิ่งใหญ่ งานประเพณีสงกรานต์ปีใหม่ไทย “มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ”
เชิญชวนชาวไทยเผยแพร่คุณค่าสาระประเพณีผ่านบทเพลงสงกรานต์ภาษานานาชาติ ให้ชาวต่างชาติ นักท่องเที่ยวเข้าร่วมกิจกรรมสงกรานต์ทั่วไทยอย่างสนุกสนานสร้างสรรค์
(29 มี.ค. 67) นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานงาน แถลงข่าว การจัดงานประเพณีสงกรานต์ปีใหม่ไทย (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) โดยนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม โดยผู้ร่วมแถลงข่าวประกอบด้วย นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายศิริวัฒน์ พินิจพานิชย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายปราชญา อุ่นเพชรวรากร รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นางจิระพร วชิรเขื่อนขันธ์ นายกเทศมนตรีเมืองพระประเเดง ผู้แทนจังหวัดสมุทรปราการ นายพิชัยยุทธ สิงห์สหาย วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต และ นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ประธานสภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร พร้อมผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมงาน ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
นายเสริมศักดิ์ ประธานกล่าวว่า รัฐบาลมุ่งขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ ด้านเฟสติวัล และด้านการท่องเที่ยวรองรับนโยบาย Thailand Creative Content Agency (THACCA) และนโยบายของกระทรวงวัฒนธรรม ในการสร้างเสน่ห์วิถีไทยครองใจคนทั้งโลก ด้วยการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นหมุดหมายการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของนักท่องเที่ยวทั่วโลก เพื่อช่วยสร้างงาน สร้างรายได้แก่ประชาชนและชุมชน และส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ จากการที่ประเพณี “สงกรานต์ในประเทศไทย (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year Festival)” ซึ่งได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนในรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ โดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ในปีพุทธศักราช 2567 นี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมสืบสานประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช 2567 เพื่อฉลองวาระสำคัญดังกล่าว ได้แก่ การจัดทำบทเพลงสงกรานต์ฉบับภาษาต่างประเทศ จำนวน 4 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาฝรั่งเศส และกำลังดำเนินการจัดทำภาษาอื่น ๆ เพิ่มเติม คือ ภาษาเยอรมัน ภาษาสเปน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี ภาษาอินเดีย ภาษาพม่า เป็นต้น เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติรับรู้ถึงคุณค่าสาระของประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทยอย่างกว้างขวาง เป็นการสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือ Soft Power เพื่อยกระดับและพัฒนาความรู้ ความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย ให้สร้างมูลค่าและสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ
สำหรับการจัดกิจกรรมสืบสานประเพณีสงกรานต์ ในปีนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้มีการจัดทำปฏิทินการจัดกิจกรรมสงกรานต์ ประจำปีพุทธศักราช 2567 ในช่วงเดือนเมษายน ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมถึงมีการสนับสนุนการจัดกิจกรรมในกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาค 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดชลบุรี และจังหวัดภูเก็ต โดยเริ่ม Kick off ที่จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 อาทิ กิจกรรมสรงน้ำพระเพื่อความเป็นสิริมงคล จึงขอเชิญชวนคนไทยและนักท่องเที่ยวร่วมงานดังกล่าว เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสที่สำคัญนี้ และร่วมสืบสาน รักษา ต่อยอดมรดกภูมิปัญญาประเพณีสงกรานต์ปีใหม่ไทย อันทรงคุณค่าของประเทศให้คงอยู่สืบไป
ภายในงานแถลงข่าวมีการแสดงทางวัฒนธรรมชุดพิเศษ “รำวงนางสาวไทย” โดย นางสาวไทย และรองนางสาวไทย ประจำปี 2567 ประกอบด้วย นางสาวพนิดา เขื่อนจินดา (นางสาวไทย 2567) นางสาวพรศิริกุล พั่วทา รองอันดับ 1 ร.ต.อ.หญิง อาทิติยา เบ็ญจะปัก รองอันดับ 2 นางสาวน้ำหนึ่ง แวน เดอ เวน รองอันดับ 4 นาวสาวกุลปรียา ค้อนทอง (รองชนะเลิศอันดับ 1 Miss Face Of Humanity 2024 การแสดงเริงรื่นชื่นสงกรานต์ โดยสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และการแสดงนาฏศิลป์ประกอบบทเพลงสงกรานต์(ภาษานานาชาติ) โดยสมาคมศิลปะเพื่อเยาวชน กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ในส่วนกลาง กิจกรรมประเพณีสงกรานต์ปีใหม่ไทย กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จัดให้ประชาชนมีส่วนร่วมสืบสานคุณค่าอัตลักษณ์ความงามของประเพณี ประกอบด้วย
1. กิจกรรม งานรดน้ำขอพรศิลปินแห่งชาติ ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม และผู้บริหารงานวัฒนธรรม เนื่องในประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช 2567 ในวันที่ 10 เมษายน 2567 เวลา 10.00 – 12.00 น. ณ อาคารเอนกประสงค์ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
2. งาน นิทรรศการ “สงกรานต์ไทย มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ” ระหว่าง 10 – 12 เมษายน 2567 เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ ลานกลางแจ้ง หน้าหอศิลป์กรุงเทพมหานคร (BACC) ปทุมวัน
3. กิจกรรม “งานประเพณีสงกรานต์ปีใหม่ไทย” (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) ระหว่าง 12-15 เมษายน 2567 เวลา 14.00-16.00 น. ณ วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพมหานคร (พิธีเปิด 13 เมษายน 67 เวลา 14.00 น. ณ พระวิหารหลวง) สรงน้ำพระพุทธรูปและสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัด การแสดง “ตำนานนางสงกรานต์” โดยแอนโทเนีย โพซิ้ว มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2023 ประกวดก่อพระเจดีย์ทราย การแสดงศิลปวัฒนธรรม การสาธิตทางวัฒนธรรม ซุ้มอาหารคาว-หวานมากมาย ฯลฯ และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ยังได้สนับสนุนงบประมาณให้กับสภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ร่วมกับเครือข่ายวัฒนธรรมกทม. จัดกิจกรรมสืบสานคุณค่าสาระของประเพณีสงกรานต์ ประกอบด้วย
1) “สงกรานต์สยาม ผ้าขาวม้า อยู่เย็นเป็นสนุก” วันที่ 13-15 เมษายน 2567 ณ สยามสแควร์ เขตปทุมวัน กทม.
2) “สงกรานต์ซัมเมอร์ อโลฮ่า ปาร์ตี้” ริมแม่น้ำเจ้าพระยา วันที่ 10-17 เมษายน 2567 ณ เทอมินอล 21 เขตวัฒนา กทม. 3) EDM Songkran BAZAAR music Festival 2024 กิจกรรมถนนสายน้ำ วันที่ 11-15 เมษายน 2567 ณ เดอะบาซาร์ รัชดา เขตจตุจักร กทม. 4) “สรวลเสเฮฮา มหาสงกรานต์สยาม” การละเล่นไทย ดนตรีและประเพณีร่วมสมัยในรูปแบบงานวัดจำลอง ณ สวนสยาม เขตคันนายาว กทม. และ 5) “เพลิดพราว ดาวสงกรานต์ ความงามในตำนาน แห่งถนนสีลม” วันที่ 15-16 เมษายน 2567 ณ ถนนสีลม เขตบางรัก กทม.
ส่วนกิจกรรมสงกรานต์ไฮไลท์ในส่วนภูมิภาคที่กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมร่วมกับจังหวัดและเครือข่ายวัฒนธรรม จังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต สมุทรปราการ และชลบุรี ประกอบด้วยกิจกรรมสืบสานประเพณีวัฒนธรรมสื่อถึงอัตลักษณ์ของแต่ละภูมิภาค อาทิ ขบวนแห่ประเพณีสงกรานต์ สักการะ-สรงน้ำพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ทำบุญสงฆ์น้ำพระ นิทรรศการแสดงข้อมูลองค์ความรู้ประเพณีสงกรานต์ การแสดงศิลปวัฒนธรรม ตำนานนางสงกรานต์ (แสดงโดยนางสาวแอนโทเนีย โพซิ้ว รองนางงามจักรวาลอันดับ 1 ประจำปี 2023 ณ จังหวัดเชียงใหม่และขอนแก่น) การแสดงของศิลปินแห่งชาติ การแสดง-การละเล่นพื้นบ้านวิถีถิ่น ตลาดวัฒนธรรม 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น สะท้อนอัตลักษณ์ วิถีชีวิตวัฒนธรรมของท้องถิ่น มีกำหนดจัดงานดังนี้ จังหวัดเชียงใหม่ กิจกรรมทางวัฒนธรรมวิถีล้านนา ณ ข่วงเมืองต่าง ๆ ระหว่าง 4 – 21 เม.ย. 67 / กิจกรรม ณ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร 13 – 16 เม.ย. 67 ขบวนแห่พระพุทธสิหิงค์ (13 เม.ย.) สักการะพระพุทธสิหิงค์ ยามค่ำคืน / *เปิดตัวนางสงกรานต์ ขบวนแห่รอบคูเมืองเชียงใหม่ ในวันที่ 14 เม.ย. การแสดงการแสดงตำนานสงกรานต์ โดย แอนโทเนีย โพซิ้ว ณ สวนเฉลิมพระเกียรติ 700 ปี) ยังมีกิจกรรมทางวัฒนธรรมหลากหลาย ณ ประตูท่าแพ เป็นต้น
ขอนแก่น ประเพณีบุญสงกรานต์อีสานดั้งเดิมวัดไชยศรี ระหว่าง 13-15 เมษายน 67 / งานสืบสานประเพณีสงกรานต์วิถีไทบ้านขอนแก่น ณ หน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น 11-15 เม.ย. 67 / งานประเพณีสุดยอดสงกรานต์อีสานเทศกาลดอกคูณเสียงแคนและถนนข้าวเหนียว พิธีเปิด 15 เม.ย. แอนโทเนีย โพซิ้ว แสดงตำนานนางสงกรานต์ กิจกรรมวันข้าวเหนียวครอบครัวเดียวกัน และคลื่นมนุษย์ (Human Wave) ณ ถนนข้าวเหนียว พลาดไม่ได้กับ อุโมงค์น้ำ “มนต์ธาราศรัทธาสายมู” ภูเก็ต งานภูเก็ตนครา มหาสงกรานต์ 2567 “อัตลักษณ์ วิถีชีวิตเพอรานากัน” ระหว่าง 13-15 เมษายน 67 (พิธีเปิด 14 เม.ย.) ณ สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชินี (ลานมังกร) อำเภอเมือง ภูเก็ต พบกิจกรรมนิทรรศการมีชีวิต 4 โซน ชมห้องตำนานสงกรานต์ วิจิตรา Digital Art ฯลฯ
สมุทรปราการ งานสงกรานต์ “อัตลักษณ์ วิถีชีวิตชุมชนมอญ/รามัญ” ระหว่าง 18-20 เม.ย.67 ณ ป้อมแผลงไฟฟ้า อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ การละเล่นและวิถีวัฒนธรรมสงกรานต์พระประแดง ขบวนแห่ทางวัฒนธรรม ขบวนแห่รถบุปผชาติ ขบวนแห่หงส์ธงตะขาบ กิจกรรมทางวัฒนธรรม การประกวดนางสงกรานต์พระประแดง / การประกวดหนุ่มลอยชาย และจังหวัดชลบุรี งานสงกรานต์ “สงกรานต์งามวิจิตร อัตลักษณ์วิถีชีวิต ชลบุรี” Pattaya Old Town ระหว่าง 19 – 21 เม.ย. 67 ณ ถนนเลียบหาดเมืองพัทยา วัดหนองใหญ่ พัทยา และวัดชัยมงคล (พระอารามหลวง) การแสดงตำนานนางสงกรานต์ การสาธิตการก่อเจดีย์ทรายใหญ่ที่สุด ขบวนแห่มหาสงกรานต์ ฯลฯ
ทั้งนี้ เพื่อสร้างสีสันให้เทศกาลสงกรานต์ปีใหม่ไทย วธ.ขอเชิญสวมใส่เสื้อลายดอก ตลอดเดือนเมษายนนี้ และร่วมกันเพื่อแพร่คุณค่าสาระของประเพณี โดยเข้าไปดาวน์โหลดข้อมูลและติดตามรายละเอียดกิจกรรมสงกรานต์ ได้ทาง www.culture.go.th / เฟซบุ๊กแฟนเพจกรมส่งเสริมวัฒนธรรม / Line@วัฒนธรรม และสายด่วนวัฒนธรรม 1765
เจนกิจ นัดไธสง รายงาน