พิษณุโลก ม.นเรศวร คิดค้นนวัตกรรมเพื่อประเมินความเสี่ยงทางแยกจราจรฯ เชิญชวนองค์กรที่สนใจทดลองใช้งาน
พิษณุโลก ม.นเรศวร คิดค้นนวัตกรรมเพื่อประเมินความเสี่ยงทางแยกจราจรฯ เชิญชวนองค์กรที่สนใจทดลองใช้งาน
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พัฒนา “นวัตกรรมเพื่อประเมินความเสี่ยงทางแยกด้วยเทคนิคการตัดกระแสจราจร” ประเมินและวิเคราะห์ความเสี่ยงของทางร่วมทางแยก เพื่อเป็นแนวทางให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินมาตรการรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชนที่สัญจรบนท้องถนน
รองศาสตราจารย์ ดร.พนมขวัญ ริยะมงคล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร หัวหน้าโครงการ เปิดเผยว่า “ทางแยกจราจร” เป็น 1 ในสาเหตุที่ทำให้หลายชีวิตต้องจบชีวิตลงด้วยอุบัติเหตุ
และเป็นความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุเป็นลำดับที่ 3 ของสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนของประเทศ คณะนักวิจัยซึ่งประกอบด้วย รศ.ดร.พนมขวัญ ริยะมงคล ผศ.รัฐภูมิ วรานุสาสน์ และ ผศ.บุญพล มีไชโย และที่ปรึกษาโครงการ ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ แตะกระโทก ได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการพัฒนา “นวัตกรรมเพื่อประเมินความเสี่ยงทางแยกด้วยเทคนิคการตัดกระแสจราจร” โดยได้พัฒนานวัตกรรมชุดเสากล้องแบบเคลื่อนที่ สามารถปรับระดับฐานและปรับระยะความสูงได้ถึง 8 เมตร บันทึกไฟล์วิดีโอได้ไม่ต่ำกว่า 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องเสียบปลั๊กไฟ พร้อมกันนี้ได้มีการพัฒนาแอพพลิเคชัน
ที่สามารถประมวลผลไฟล์วิดีโอบริเวณทางแยกเพื่อแสดงข้อมูลความเสี่ยงทางแยกที่สำคัญ ทำให้ได้ผลการวิเคราะห์ความเสี่ยงของทางแยกนั้น ๆ และสามารถเสนอแนวทางในการลดความเสี่ยงให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ เช่น
การติดตั้งป้ายเตือน ป้ายบังคับ อุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย รวมถึงการติดตั้งสัญญาณไฟจราจร และเนื่องจากอุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นมีลักษณะเคลื่อนที่ได้ จึงสามารถนำไปใช้เก็บข้อมูลทางแยกได้ทั่วประเทศไม่ว่าบริเวณทางแยกจะเป็นลักษณะใด โดยหน่วยงานที่นำไปใช้ไม่ต้องลงทุนสูงมากในการติดตั้งกล้องแบบยึดติด
นวัตกรรมดังกล่าว สอดคล้องกับ 2 เป้าหมาย ใน 12 เป้าหมายโลกสำหรับการดำเนินงานด้านความปลอดภัยบนท้องถนน หรือ Global road safety performance targets จากการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN) ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวระบุให้บรรลุผลภายในปี 2573 ได้แก่ เป้าหมายที่ 1 ภายในปี 2563 ทุกประเทศจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านความปลอดภัยทางถนน โดยมีกรอบเวลาชัดเจน และเป้าหมายที่ 3 ภายในปี 2573 ถนนใหม่ทุกสายต้องผ่านมาตรฐานทางเทคนิคหรือผ่านการประเมินระดับ 3 หรือสูงกว่า
ทั้งนี้ คณะวิจัยมหาวิทยาลัยนเรศวร มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและต่อยอดงานวิจัย เพื่อให้ได้นวัตกรรม
ที่สร้างความปลอดภัยบนท้องถนนและการจราจรของประเทศต่อไป สำหรับหน่วยงานหรือผู้ที่สนใจนวัตกรรมประเมินความเสี่ยงทางแยกจราจรฯ สามารถติดต่อขอร่วมทดลองใช้ได้ที่ รศ.ดร.พนมขวัญ ริยะมงคล ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร 99 หมู่ 9 ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก หรือ ทาง email: [email protected] และหมายเลขโทรศัพท์ 0-5596-4007/…
ปรีชา นุตจรัส รายงานข่าวพิษณุโลก