24/11/2024

วิทยุการบินฯ เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการบิน ทำเส้นทางบินคู่ขนานเชื่อมภูมิภาคนำเทคโนโลยีทันสมัย ขับเคลื่อนประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบิน

วิทยุการบินฯ จัดทำเส้นทางบินคู่ขนาน (Parallel Routes) รองรับเที่ยวบินทั้งภายในและระหว่างประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการจราจรทางอากาศ นำเทคโนโลยีช่วยบริหารความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ ปรับปรุงโครงสร้างห้วงอากาศ (Airspace) เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเดินอากาศ มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการบิน  

 

ดร. ณพศิษฏ์  จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลได้มีนโยบายขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค วิทยุการบินฯ ในฐานะหน่วยงานผู้ให้บริการการเดินอากาศของประเทศ มีความพร้อมในการสนับสนุนผลักดันนโยบายของรัฐบาลโดยมุ่งเน้น    การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเดินอากาศเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบิน วิทยุการบินฯ ได้จัดทำ เส้นทางบินแบบคู่ขนาน (Parallel Routes) ทางด้านเหนือ ไปยังสนามบิน เชียงใหม่ เชียงราย และเส้นทางบินแยกย่อยไปยังสนามบินต่างๆ ในภาคเหนือ รวมถึงการเชื่อมต่อเส้นทางบินระหว่างประเทศเพื่อรองรับเที่ยวบินจากประเทศจีน ซึ่งจะทำให้สามารถเชื่อมโยงไปยังเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของจีน

เช่น คุนหมิง กุ้ยหยาง เฉิงตู เทียนฟู ฉงชิง ซีอาน ด้านตะวันออก ได้จัดทำเส้นทางบินคู่ขนานระหว่างประเทศรองรับเที่ยวบินจากกัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย ในขณะที่ด้านใต้ ได้จัดทำเส้นทางบินคู่ขนานในประเทศรองรับเที่ยวบินไปยังสนามบิน ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี ตรัง และเส้นทางบินคู่ขนานระหว่างประเทศ รองรับเที่ยวบินจากมาเลเซีย สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ส่วนด้านตะวันตก อยู่ระหว่างจัดทำเส้นทางบินคู่ขนานระหว่างประเทศ เพื่อรองรับเที่ยวบินจากอินเดีย บังคลาเทศ และยุโรป

ทั้งนี้ การจัดทำเส้นทางบินคู่ขนานใช้เทคโนโลยี Performance Based Navigation (PBN) ในการนำร่องแบบ RNAV2 ที่มีการกำหนด    ทิศทางการบิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการจราจรทางอากาศ ช่วยลดระยะทางการบิน ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณจราจรทางอากาศจากทุกทิศทาง

ดร. ณพศิษฏ์  จักรพิทักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการให้บริการจราจรทางอากาศนั้น การบริหารจัดการ    ความคล่องตัว (Air Traffic Flow Management: ATFM) ช่วยทำให้เกิดความสะดวก คล่องตัว ลดผลกระทบการล่าช้าของเที่ยวบินในช่วงเวลาที่มีปริมาณการจราจรทางอากาศหนาแน่น ในขณะที่การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานทางวิ่ง (High Intensity Runway Operation: HIRO) จะช่วยเพิ่มการรองรับเที่ยวบินของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้ถึง 68 เที่ยวบิน   ต่อชั่วโมง และท่าอากาศยานดอนเมือง 60 เที่ยวบินต่อชั่วโมง

นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการเที่ยวบินขาเข้า คือ ระบบ Arrival Manager (AMAN) และการจัดการเที่ยวบินขาออกด้วยระบบ Intelligent Departure (iDep) มาใช้ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ เที่ยวบินสามารถทำการบินได้ตรงเวลาตามตารางการบิน รวมทั้งได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างห้วงอากาศ (Airspace) ของสนามบินที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันเพื่อให้สามารถรองรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้น

ซึ่งแบ่งเป็นการดำเนินงาน 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินอู่ตะเภา กลุ่มที่ 2 สนามบินภูเก็ต สนามบินกระบี่ และสนามบินอันดามัน กลุ่มที่ 3 สนามบินเชียงใหม่ สนามบินลำปาง และสนามบินล้านนา ซึ่งจะทำให้โครงสร้างพื้นฐานการเดินอากาศของประเทศไทยมีศักยภาพ พร้อมขับเคลื่อนไปสู่การเป็นศูนย์กลางการบิน

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป