23/12/2024

กระบี่-กรมประมงประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ”ปิดอ่าว”3เดือนในฤดูวางไข่ ฝั่งทะเลอันดามัน ประจำปี 2567

S__5963890_0

กระบี่-กรมประมงประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ”ปิดอ่าว”3เดือนในฤดูวางไข่ ฝั่งทะเลอันดามัน ประจำปี 2567 เผยผลใช้มาตรการพบสัตว์น้ำมีความสมบูรณ์เพศสูง สัตว์น้ำวัยอ่อนมีความชุกชุม และแพร่กระจายหนาแน่นในพื้นที่ ส่งผลให้ชาวประมงจับสัตว์น้ำได้เพิ่มขึ้น 6.5 เท่าตัว

28 มีนาคม 2567 ที่ท่าเทียบเรือศูนย์ป้องกันและ ปราบปรามประมงทะเลกระบี่ ต.ไสไทย อ.เมือง จ.กระบี่นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เป็นประธานในพิธีประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ฝั่งทะเลอันดามัน ประจำปี 2567 โดยมี นายอนุวรรตน์ โหมดพริ้ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ให้การต้อนรับ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่กรมประมง สมาคมชาวประมงจังหวัดกระบี่ และชาวประมงภูเก็ต ตรัง พังงาและ กระบี่ เข้าร่วมพิธีกว่า 500 คน


นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมงเผยว่า เดือนเมษายนของทุกปี เป็นช่วงเวลาที่สัตว์น้ำในบริเวณฝั่งทะเลอันดามัน เริ่มมีการผสมพันธุ์วางไข่และเลี้ยงตัวอ่อน เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ และคงความสมดุลทางธรรมชาติและระบบนิเวศให้ยั่งยืน ที่ผ่านมากรมประมงจึงได้มีการกำหนดและประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ฝั่งทะเลอันดามันมาตั้งแต่ปี 2528 ในช่วง เม.ย.-มิ.ย. ของทุกปี เป็นระยะเวลา 90 วัน
โดยกำหนดเงื่อนไขการทำประมงในเขตพื้นที่บางส่วนของจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง ตั้งแต่ ปลายแหลมพันวา อ.เมืองภูเก็ต ลงไป ถึงปลายแหลมหยงสตาร์ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ครอบคลุมพื้นที่ 4,696 ตร.กม. สำหรับปีนี้จะเริ่มใช้มาตรการ ระหว่าง 1 เม.ย.–30 มิ.ย.2567


อธิบดีกรมประมง ยังได้เผยถึงผลการศึกษาทางวิชาการของกองวิจัยและพัฒนาประมงทะเล ปี 2566 พบว่า ในช่วงเวลาที่ใช้ มาตรการ สัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปลาผิวน้ำ อาทิ ปลาทู ปลาลัง ปลาสีกุนบั้ง และปลาหลังเขียว มีความสมบูรณ์เพศสูงถึงเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ สัตว์น้ำวัยอ่อนทั้งหมดมีความชุกชุมและการแพร่กระจายหนาแน่นสูงในพื้นที่และช่วงเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะเดือนมิถุนายนที่มีความหนาแน่นของสัตว์น้ำวัยอ่อนทั้งหมดสูงสุด 5,161 ตัวต่อ 1,000 ลูกบาศก์เมตร


และเมื่อพิจารณาอัตราการจับสัตว์น้ำทั้งหมด เฉลี่ยจากเรือสำรวจประมงที่ทำการสำรวจ ในเขตมาตรการ พบว่า ช่วงก่อนมาตรการระหว่าง มาตรการ และหลังมาตรการ มีอัตราการจับสัตว์น้ำทั้งหมดเฉลี่ยเท่ากับ 48.117 กิโลกรัม/ ชั่วโมง 114.925 กิโลกรัม/ชั่วโมง และ 316.600 กิโลกรัม/ชั่วโมง ตามลำดับ
“จะเห็นได้ว่าในระหว่างใช้มาตรการ อัตราการจับสัตว์น้ำทั้งหมดเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2.3 เท่า

และหลังมาตรการอัตราการจับสัตว์น้ำทั้งหมดเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 6.5 เท่าของช่วงก่อนมาตรการ ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า มาตรการปิดอ่าว สามารถทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่มาตรการมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น แสดงให้เห็นว่าพื้นที่และช่วงเวลามาตรการ ที่กำหนดขึ้น มีความถูกต้อง เหมาะสม และสอดคล้องกับช่วงเวลาสัตว์น้ำที่มีไข่ วางไข่และเลี้ยงตัวอ่อน เพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำและคงความสมดุลทางธรรมชาติอย่างยั่งยืน” นายบัญชา กล่าวสรุป.


กรมประมง ขอให้พี่น้องชาวประมงทุกคน ที่ให้ความร่วมมือกับทางภาครัฐในการปฎิบัติตามกฎหมายในมาตรการปิดอ่าวทะเลอันดามัน มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืนและเกิดความมั่นคงในการประกอบอาชีพประมงต่อไป…

กระบี่///ณัฏฐพงษ์ ศรีปล้อง รายงาน

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป