25/11/2024

กาฬสินธุ์-ยิ่งยืดเยื้อยิ่งพบเบาะแส ธรรมาภิบาลกาฬสินธุ์สุดอึ้ง! พบงบกรมโยธาฯ 8 โครงการกว่า 500 ล้านบาท งานยังไม่เสร็จสักตัว แถมบิ๊กเซอร์ไพรซ์งบป้องกันตลิ่งลำชี 39 ล้านบาท เบิกจ่ายก่อนกว่า 5 ล้านบาท

กาฬสินธุ์-ยิ่งยืดเยื้อยิ่งพบเบาะแส ธรรมาภิบาลกาฬสินธุ์สุดอึ้ง! พบงบกรมโยธาฯ 8 โครงการกว่า 500 ล้านบาท งานยังไม่เสร็จสักตัว แถมบิ๊กเซอร์ไพรซ์งบป้องกันตลิ่งลำชี 39 ล้านบาท เบิกจ่ายก่อนกว่า 5 ล้านบาท

 

คณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดกาฬสินธุ์ สุดอึ้ง! หลังลงพื้นที่สอดส่องเมกะโปรเจคต์ของกรมโยธาธิการและผังเมือง ในพื้นที่จังหวัด พบโครงการของกรมโยธาฯ 8 โครงการกว่า 558,281,000 บาท งานยังไม่เสร็จสักตัว มีการขยายเวลาแลปรับ 0 บาท แถมบิ๊กเซอร์ไพรซ์งบ ก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี งบประมาณ 39,525,000 บาท ผลงาน 0% แต่มีการเบิกจ่าย 5,928,750 บาท เรียกร้องผู้มีส่วนเกี่ยวข้องออกมาชี้แจงทั้งการขยายเวลา โดยไม่เสียค่าปรับ และเบิกจ่ายก่อนในบางโครงการ ด้านอธิบดีกรมโยธาฯ กำชับใช้มาตรการเข้มข้น เร่งรัดโครงการก่อสร้างทั่วประเทศ ลดผลกระทบต่อประชาชน


จากกรณี คณะกรรมการธรรมาภิบาล จ.กาฬสินธุ์ ร่วมกับ ปปท.เขต 4 และ ปปช.ประจำ จ.กาฬสินธุ์ ลงพื้นที่สอดส่องโครงการรับเหมาก่อสร้างระบบท่อระบายน้ำแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองกาฬสินธุ์ ของกรมโยธาธิการและผังเมืองงบ 148 ล้านบาท “สร้าง 7 ชั่วโคตรยังไม่เสร็จ” ร้องเรียนหลายครั้งแล้วก็ยังไม่สร้างต่อ แม้กรมโยธาฯขยายเวลาให้จนใกล้ครบสัญญาแล้ว นอกจากนี้ยังได้ร่วมกันตรวจสอบโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแก่งดอนกลาง งบ 39 ล้านบาท ซึ่งพบว่าเป็นผู้รับเหมารายเดียวกัน ด้านชาวบ้านแฉซ้ำตั้งแต่ร้องเรียนทั้ง 2 โครงการ ไม่เคยเห็นบริษัทรับเหมามาทำงานก่อสร้างต่อ ทำให้เกิดปัญหาสะสมเรื้อรังมานานกว่า 5 ปี ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจเมืองกาฬสินธุ์พังยับกว่า 750 ล้านบาท


นอกจากนี้ จากการลงพื้นที่สอดส่องของคณะกรรมการธรรมาภิบาล จ.กาฬสินธุ์ ร่วมกับ ปปท.เขต 4 และ ปปช.ประจำ จ.กาฬสินธุ์ ยังได้พบอีก 8 โครงการที่มาในลักษณะเดียวกัน งบประมาณเกือบ 400 ล้านบาท ซึ่งทำงานล่าช้า เกินกำหนดในสัญญาและมีการเบิกจ่ายไปบางส่วน ในขณะที่ผู้รับเหมากว่า 50 ราย และชาวบ้าน ผู้ประกอบการ เตรียมตบเท้าแจ้งความเอาผิดบริษัทใหญ่ และวอนกรรมาธิการ ปปช.-ปปง.สภาผู้แทนราษฎร อภิปรายปัญหานี้ในสภาฯ ล่าสุด ปปท.เขต 4 ขอนแก่น สายตรงถึงศูนย์อํานวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ร่วมสางปัญหา ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น


ล่าสุดวันที่ 28 มีนาคม 2567 นายชาญยุทธ โคตะนนท์ ประธานคณะทำงานเครือข่ายภาคประชาสังคมในการต่อต้านการทุจริต ปปท.เขต 4. จ.กาฬสินธุ์ และที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ คณะกรรมาธิการ จ.กาฬสินธุ์ (กธจ.) กล่าวว่า จากการที่คณะทำงานเครือข่ายภาคประชาชนฯ และคณะ กธจ.กาฬสินธุ์ ได้ลงพื้นที่สอดส่องโครงการก่อสร้างระบบท่อระบายน้ำฯ และโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแก่งดอนกลาง ร่วมกับผู้อำนวยการ ปปท.เขต 4 พร้อมคณะ ปละ ปปช.ประจำ จ.กาฬสินธุ์ ยังได้รับรายงานว่า กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้จัดโครงการมาลงในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ อีก 8 โครงการอีกด้วย ซึ่งทุกโครงการมีการเบิกจ่ายตามงวดงานไปแล้ว ตั้งแต่ 5 ล้านบาทถึง 50 ล้านบาท และก่อสร้างไม่เสร็จตามสัญญา โดยมีการขยายเวลาออกไป รวมทั้งไม่มีการปรับ กรณีทำงานไม่เสร็จตามสัญญาอีกด้วย ซึ่งเป็นประเด็นที่สร้างความสงสัยให้กับชาวบ้านและคณะ กธจ.เป็นอย่างมาก


นายชาญยุทธกล่าวอีกว่า สำหรับ 8 โครงการนั้น มีการเปิดเผยเบื้องต้น 6 โครงการ งบประมาณรวม 370,741,000 บาท ที่หากรวมกับโครงการก่อสร้างท่อระบายน้ำฯ 148,000,000 บาท และโครงการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแก่งดอนกลาง 39,540,000 บาท รวมทั้งหมดจำนวน 558,281,000 บาททีเดียว ซึ่งเป็นงบประมาณที่กรมโยธาธิการฯ กระทรวงมหาดไทย ได้อนุมัติให้ จ.กาฬสินธุ์ เป็นโครงการพัฒนาเมืองกาฬสินธุ์ ในช่วงปี 2562 เป็นต้นมา เพื่อให้ จ.กาฬสินธุ์ เจริญก้าวหน้าตามศักยภาพ โดยผู้รับงานนี้ เป็นผู้รับเหมาที่ได้งานจากกรมโยธาฯ แต่ที่การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ โดยทำงานในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันและมีการเบิกจ่ายเงินค่าจ้างบางส่วนไปแล้ว


“สำหรับอีก 6 โครงการที่รับรายงานเพิ่มเข้ามา ประกอบด้วย (1) โครงการก่อสร้างเขื่อนกันตลิ่งริมลำน้ำปาว หน้าวัดใต้โพธิ์ค้ำ งบประมาณ 108,800,000 บาท เริ่มต้นสัญญา 12 ก.ย.62 สิ้นสุดสัญญา 30 ก.ย. 64 แก้ไขสัญญาค่าปรับเป็น 0 ถึงวันที่ 5 ม.ค. 67 ผลงาน 79% ช้ากว่าแผน -21% เบิกจ่าย 50,377,600 บาท, (2) โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี วัดใหม่สามัคคี ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ งบประมาณ 59,306,000 บาท เริ่มต้นสัญญา 10 ก.ย. 63 สิ้นสุดสัญญา 9 พ.ย.65 ขยายเวลาจาก 10 ส.ค. 65 จำนวน 91 วัน แก้ไขสัญญาค่าปรับเป็น 0 บาทถึงวันที่ 10 ส.ค.67 ผลงาน 26.22% ช้ากว่าแผน -73.78% เบิกจ่าย 14,978,900 บาท,(3) โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี (ระยะ 2) วัดลำชีวนาราม ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ งบประมาณ 59,270,000 บาท เริ่มต้นสัญญา 10 ก.ย.63 สิ้นสุดสัญญา 10 ต.ค. 65 ขยายระยะเวลา 73 วัน ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 65 แก้ไขสัญญา ค่าปรับเป็น 0 ถึงวันที่ 10 ส.ค. 67 ผลงาน 45.77% ช้ากว่าแผน -54.23% เบิกจ่าย 21,930,500 บาท” นายชาญยุทธกล่าว


นายชาญยุทธกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมี (4.) โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำปาว บริเวณซอยน้ำทิพย์ เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ งบประมาณ 59,350,000 บาท เริ่มต้นสัญญา 10 ก.ย. 64 สิ้นสุดสัญญา 10 ส.ค.66 แก้ไขสัญญาค่าปรับเป็น 0 บาท ถึงวันที่ 14 มิ.ย.67 ผลงาน 1.65% ช้ากว่าแผน -64.37 % เบิกจ่าย 8,902,500 บาท, (5) โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี บ.หนองหวาย-บ.หนองคล้า ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ งบประมาณ 39,525,000 บาท เริ่มต้นสัญญา 23 ก.ย.65 สิ้นสุดสัญญา 8 ก.พ.67 ผลงาน 0% ช้ากว่าแผน 0% เบิกจ่าย 5,928,750 บาท และ (6) โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำพาน ต.ลำพาน อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ งบประมาณ 44,490,000 บาท เริ่มต้นสัญญา 23 ก.ย.64 สิ้นสุดสัญญา 4 ก.ค.66 แก้ไขสัญญาค่าปรับเป็น 0 บาท ถึงวันที่ 10 เม.ย.67 ผลงาน 15% ช้ากว่าแผน -59% เบิกจ่าย 11,753,000 บาท
“ส่วนอีก 2 โครงการ ยังไม่ได้รับการเปิดเผยข้อมูล ทั้งนี้ คณะ กรรมาธิการจังหวัดและ ปปท.-ปปช. ยังให้ข้อสังเกตถึงการทำงานที่ไม่แล้วเสร็จด้วยว่า เหตุใดโครงการที่ทำง่านไม่เสร็จตามกำหนดในสัญญาจึงไม่ถูกปรับ ผิดกับการรับเหมาเจ้าอื่นที่หากก่อสร้างไม่แล้วเสร็จจะต้องมีค่าปรับ รวมทั้งบางโครงการความคืบหน้า 0% ซึ่งเท่ากับว่ายังไม่ลงมือทำงาน กลับมีการเบิกจ่ายแล้วกว่า 5 ล้านบาท จึงได้ตั้งข้อสังเกตถึงความไม่ปกติดังกล่าว และอยากเรียกร้องไปถึงผู้ที่ส่วนเกี่ยวข้องได้ออกมาชี้แจง ทั้งการขยายเวลา โดยไม่เสียค่าปรับ และเบิกจ่ายก่อนในบางโครงการด้วย เพราะสังคมต้องการคำตอบอยู่” นายชาญยุทธกล่าวในที่สุด
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 67 นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยว่า กรมโยธาธิการและผังเมือง มีการดำเนินโครงการก่อสร้างต่าง ๆ อาทิ โครงการพัฒนาเมือง โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำชุมชน และโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำ ทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีโครงการก่อสร้างหลายโครงการที่ประสบปัญหาล่าช้า ไม่เป็นไปตามกรอบเวลา ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน และเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่เป็นอย่างมาก ต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน
โดยนายพงศ์รัตน์กล่าวอีกว่าที่ผ่านมา กรมฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้มีการประชุมติดตามความก้าวหน้า รับฟังปัญหา พร้อมให้คำเสนอแนะในการดำเนินงานมาโดยตลอด รวมทั้งมีหนังสือแจ้งเร่งรัดการก่อสร้างไปยังผู้รับจ้างของกรมทุกโครงการ และได้กำหนดมาตรการเข้ม ในการเร่งรัดการก่อสร้าง ดังนี้ (1) เร่งแก้ไขส่วนที่สร้างผลกระทบต่อประชาชน – กรณีโครงการที่ล่าช้ากว่าแผนงาน ให้เร่งดำเนินการก่อสร้างในส่วนที่สร้างผลกระทบต่อประชาชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน (2) สำหรับผู้รับจ้างที่ทำงานล่าช้ามากกว่าเกณฑ์ที่กำหนดจะดำเนินการขึ้นบัญชี Black list ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถยื่นประมูลงานของกรมต่อไปได้ และ (3 ) สำหรับผู้รับจ้างที่ทำงานล่าช้า จนเป็นเหตุอันเชื่อได้ว่า ไม่สามารถทำงานให้เสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด และสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน จะดำเนินการบอกเลิกสัญญา และหาผู้รับจ้างรายใหม่ที่มีประสิทธิภาพที่พร้อมดำเนินงานทันที
“กรมฯ มีความมุ่งมั่นที่จะควบคุมคุณภาพงานก่อสร้างให้ออกมาด้วยความเรียบร้อย มีคุณภาพ ปลอดภัยตามมาตรฐานทางวิศวกรรม คุ้มค่ากับการใช้งาน และสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชน พร้อมกับย้ำชัดว่า กรมฯ ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาโครงการก่อสร้างล่าช้า และจะดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และสร้างความมั่นใจในประสิทธิภาพการทำงานของกรมโยธาธิการและผังเมือง” นายพงศ์รัตน์กล่าวในที่สุด