24/01/2025

ปทุมธานี สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ มอบประกาศเกียรติคุณวัดต้นแบบโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข

719976_0_0

ปทุมธานี สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ มอบประกาศเกียรติคุณวัดต้นแบบโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2567 ที่อาคารปฎิบัติธรรมพระธรรมรัตนาภรณ์ วัดสายสุวพรรณ ต.คลองสี่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม, ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข และประทานโล่รางวัล พัดเกียรติยศ และเกียรติบัตร แก่วัดต้นแบบระดับหน ระดับภาค และระดับจังหวัดประจำปี พ.ศ.2566 โดยมีนายสุทธิพงศ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นางยุพา ทวีวัฒนากิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายอินทพร จันเอี่ยม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และผู้แทนองค์กรภาคีเครือข่าย 15 องค์กรทั่วประเทศเข้าร่วมในพิธี


สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ได้ประทานโอวาทความว่า “หัวใจของโครงการนี้ คือ กลไกการสร้างสายสัมพันธ์ความร่วมแรงร่วมใจกันของวัด ชุมชน และภาคเครือข่ายในท้องถิ่นด้วยอุดมการณ์ร่วมกัน คือ ศรัทธาปสาทะในบวรพระพุทธศาสนา และเจตจำนงให้วัดเป็นสัปปายะสถานที่จะอำนวยสันติรสให้แก่ผู้เข้ามาพึ่งพา บำบัดทุกข์และเสริมสร้างความสุขกายสุขใจ อันจะนำไปสู่ความวัฒนาสถาวรของชาติและสถาบันพระพุทธศาสนาสืบไป”


โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข เป็นหนึ่งในโครงการตามแผนปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ดำเนินการโดยฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม เริ่มต้นขับเคลื่อนเมื่อปี พ.ศ.2561 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาวัดให้เป็นสถานที่สัปปายะ เป็นแหล่งเรียนรู้พระพุทธศาสนา และเป็นรมณียสถานที่สร้างความสงบทางจิตใจให้กับพุทธศาสนิกชน มีเป้าหมายสำคัญ คือการส่งเสริมและขับเคลื่อนกิจกรรมด้วยองค์ความรู้ 5 ส. ตามหลักสัปปายะ 7 นำไปสู่การปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ จัดการสิ่งแวดล้อม รักษาความสะอาดภายในวัดให้ถูกต้องตามสุขลักษณะ พัฒนาการเรียนรู้สังคมวิถีพุทธ ปลูกฝังให้ประชาชนมีจิตอาสาเพื่อพัฒนาสังคม
พระธรรมรัตนาภรณ์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 1 ประธานคณะกรรมการบริหารกลางโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข เปิดเผยว่า “ปัจจุบันโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ก้าวเข้าสู่ระยะที่ 2

โดยมุ่งเป้าหมายยกระดับการพัฒนาสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมสุขภาวะของวัดกว่า 35,000 วัดพร้อมทั้งชุมชนรอบวัดให้มีมาตรฐานที่ดีตามวิถีพุทธ รวมทั้งการส่งเสริมการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมซึ่งเป็น Soft Power ของสังคมไทยให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งการดำเนินการระยะที่ 2 ระหว่างปี 2566 – 2570 มีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเห็นความสำคัญของโครงการ ได้แสดงเจตจำนงร่วมขับเคลื่อนโครงการ โดยได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือจำนวน 15 องค์กร อาทิ มหาเถรสมาคม โดยฝ่ายสาธารณูปการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรมอนามัย กรมประชาสัมพันธ์ และบริษัท เนเจอกิฟ จำกัด เป็นต้น”

 

ภาพ/ข่าว ประภาพรรณ ขาวขำ/รายงาน

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป