23/12/2024

สำรวจสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์พื้นเมืองของภูฏาน กับเทศกาลประจำปีที่ทุกคนอนุรักษ์ไว้ร่วมกัน

IMG_3698

สำรวจสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์พื้นเมืองของภูฏาน กับเทศกาลประจำปีที่ทุกคนอนุรักษ์ไว้ร่วมกัน

ทิมพู ภูฏาน, ‘ภูฏาน’ ราชอาณาจักรกลางขุนเขา โอบล้อมด้วยธรรมชาติอันล้ำค่า ประเทศแรกของโลกที่จำกัดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ และให้ความสำคัญกับนโยบายที่เน้นเรื่องความยั่งยืนและการอนุรักษ์มาอย่างยาวนาน ผ่านโครงการริเริ่มมากมายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ช่วยรักษาทรัพยากรธรรมชาติอันน่าทึ่งของภูฏานให้ยังคงอยู่ จนมีป่าเขียวชอุ่มปกคลุมพื้นที่ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ รวมไปถึงความอุดมสมบูรณ์บนทิวเขาซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์หายากที่กำลังจะสูญพันธุ์ นอกจากนี้ ภูฏานยังมีอุทยานแห่งชาติ 5 แห่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 4 แห่ง และเขตอนุรักษ์ธรรมชาติยังครอบคลุมพื้นที่มากถึง 42 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ

การปกป้องคุ้มครองพื้นที่ธรรมชาติให้ยังคงเป็นภูมิประเทศอันบริสุทธิ์มีจุดประสงค์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิดได้อย่างอุ่นใจ ทำให้นักเดินทางที่หลงใหลในธรรมชาติสามารถพบเห็นนกที่ใกล้สูญพันธุ์มากกว่า 25 สายพันธุ์ ซึ่งรวมถึงนกกระเรียนคอดำที่หลายคนตามหา แพนด้าแดง ค่างสีทอง และเสือภูเขาที่น่าเกรงขาม ภูฏานยังเป็นประเทศเดียวในโลกที่สามารถพบเห็นเสือภูเขาและเสือดาวหิมะได้ในพื้นที่เดียวกัน จนกำลังจะกลายเป็นแชมป์การอนุรักษ์เสือในไม่ช้านี้ อ้างอิงจากรายงานการสำรวจจำนวนประชากรเสือในประเทศภูฏานล่าสุดซึ่งพบว่าจำนวนมีเสือโคร่งเพิ่มขึ้น 27 เปอร์เซ็นต์ โดยในจำนวนนี้เป็นเสือโตเต็มวัยมากถึง 131 ตัว

ประเทศภูฏานยังได้จัดงานเทศกาลเกี่ยวกับสัตว์ป่าอีกมากมาย เพื่อเฉลิมฉลองให้กับสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของราชอาณาจักร พร้อมมอบประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใครและดีต่อใจนักเดินทาง เพราะเต็มไปด้วยคุณค่าทางวัฒนธรรมสำหรับผู้ที่ต้องการสำรวจราชอาณาจักรแห่งนี้ เทศกาลเกี่ยวกับสัตว์ป่าต่าง ๆ ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปียังถือเป็นโอกาสอันดีที่ผู้มาเยือนจะได้สำรวจความหลากหลายของระบบนิเวศของประเทศภูฏาน รวมถึงได้ชมความงามของสัตว์หายากอีกหลายชนิดที่อาจหาดูจากไหนไม่ได้อีกแล้ว

เทศกาลนกกระเรียนคอดำ
เทศกาลนกกระเรียนคอดำถือเป็นไฮไลท์ของงานที่ไม่ควรพลาด จะจัดขึ้นในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 ที่อารามกังเต กอนปา (Gangtey Goenpa) ซึ่งตั้งอยู่กลางหุบเขาในภาคกลางของภูฏาน ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์จากทิมพูไม่ถึง 4 ชั่วโมง เทศกาลนี้เป็นการเฉลิมฉลองการกลับมาภูฏานของนกกระเรียนคอดำ ที่บินอพยพมาจากทิเบต จีน และรัฐอรุณาจัลประเทศ ของประเทศอินเดีย เพื่อมาอาศัยอยู่ในหุบเขาแห่งนี้ในช่วงฤดูหนาว

การจัดเทศกาลนกกระเรียนคอดำถือเป็นการยกย่องหนึ่งในสัตว์ที่ชาวภูฏานรักมากที่สุด และยังมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการตระหนักรู้ภายในพื้นที่เกี่ยวกับความสำคัญของการอนุรักษ์นกสายพันธุ์สำคัญนี้ มากไปกว่านั้น เทศกาลนี้ยังช่วยตอกย้ำให้เห็นถึงทรัพยากรอันล้ำค่าซึ่งซ่อนอยู่ในหุบเขากังเต (Gangtey) และหุบเขาผอบจิกะ (Phobjikha) เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของท้องถิ่น และพื้นที่โดยรอบ ซึ่งนักเดินทางจะได้สำรวจความสวยงามของภูมิทัศน์ทั้งระหว่างการเดินทาง และตอนเข้าร่วมเทศกาล ผู้ร่วมงานยังจะมีโอกาสพิเศษได้รับชมการเต้นรำสวมหน้ากากหลายรูปแบบ เช่น Drametse Ngacham (ระบำหน้ากากพร้อมการตีกลอง การแสดงของชาวภูฏานภาคตะวันออก) Pachham (การเต้นรำของวีรบุรุษ) และ Zhanag Ngacham (ระบำหมวกดำ) เทศกาลนี้ยังมีการแสดงทางวัฒนธรรมต่าง ๆ โดยนักเรียนในท้องถิ่น เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อนกกระเรียนคอดำทั่วโลกที่ใกล้จะสูญพันธ์

หุบเขากังเตที่ยิ่งใหญ่ตระการตาจะกลายเป็นหนึ่งในที่พักของนกกระเรียนคอดำในช่วงฤดูหนาว ทำให้ผู้มาเยือนสามารถมองเห็นความสง่างามของนกสายพันธุ์นี้ได้อย่างใกล้ชนิด ขณะเดียวกันนั้น นักเดินทางยังมีโอกาสได้สัมผัสกับสถาปัตยกรรมทางศาสนาอย่าง อารามกังเต เกนปา ซึ่งต้องเดินเท้าขึ้นไป เพื่อเป็นการสำรวจวิถีชีวิตท้องถิ่น และจิตวิญญาณของตนเองในเวลาเดียวกัน

เทศกาลโจโมลฮารี หรือ เทศกาลเสือดาวหิมะ
เทศกาลเสือดาวหิมะจัดขึ้นในเมืองโซ (Soe) ที่จังโกทัง (Jangothang) เป็นเทศกาลในชุมชนโดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างหัวใจแห่งการอนุรักษ์เสือดาวหิมะ กิจกรรมจะจัดขึ้น 2 วัน ซึ่งจะมีการประดับตกแต่งสถานที่อย่างสวยงาม ในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 ถึง 15 ตุลาคม พ.ศ. 2567 โดยจะมีการเฉลิมฉลองที่เชิงเขาโจโมลฮารี ซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนขนาดเล็กซึ่งอยู่ในเส้นทางเดินป่าผ่านเทือกเขาหิมาลัยที่ได้รับการขนานนามว่ามีทิวทัศน์สวยงามที่สุดเส้นทางหนึ่งของโลก

การเฉลิมฉลองในเทศกาลโจโมลฮารีจัดขึ้นเพื่อสร้างการตระหนักรู้ในการอยู่ร่วมกันของวัฒนธรรมเมืองแห่งนี้และความงดงามในธรรมชาติที่โอบล้อมอยู่ ซึ่งรวมถึงเสือดาวหิมะที่เป็นสัตว์ท้องถิ่นหายาก และมีรูปทรงอันสง่างาม โดยไฮไลท์ของเทศกาลมีตั้งแต่การเต้นรำสวมหน้ากากอันน่าสนุก บทเพลงพื้นบ้านที่หลากหลาย การเต้นรำที่สวยงามของชาวบ้าน และโอกาสที่จะได้พบกับชาวเขาในประเทศภูฏานและชมสัตว์ในท้องถิ่นที่งดงามน่าทึ่ง

จังโกทัง ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกของประเทศภูฏาน เป็นพื้นที่เชิงเขาโจโมลฮารีซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่ามีประชากรเสือดาวหิมะจำนวนมาก ผู้มาเยือนสามารถออกแบบโปรแกรมท่องเที่ยวที่ผสมผสานไปกับเทศกาล เช่น การเดินป่าผ่านเทือกเขาหิมาลัยเพื่อสร้างประสบการณ์อันน่าจดจำไม่เหมือนใคร เทศกาลเสือดาวหิมะจึงไม่เพียงแต่มอบโอกาสในการชื่นชมภูมิประเทศที่สวยงามเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสในการทำความเข้าใจอัตลักษณ์แห่งชุมชนโดยรอบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และยังเป็นการสนับสนุนการอนุรักษ์เสือดาวหิมะที่ใกล้สูญพันธุ์อีกด้วย

เทศกาลทาคิน
สำหรับนักเดินทางที่กำลังวางแผนเดินทางมายังประเทศภูฏานในปี 2568 ต้องไม่พลาดการเข้าร่วมเทศกาลทาคิน ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีระหว่างวันที่ 21 – 23 กุมภาพันธ์ ที่มณฑลกาซา ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ ทาคิน เป็นสัตว์ประจำชาติของภูฏาน มีรูปร่างหน้าตาอันเป็นเอกลักษณ์ที่มักทำให้นักชีววิทยาต้องตะลึง เพราะมีจมูกคล้ายกวางมูส มีเขาเหมือนตัววิลเดอบีสต์ และลำตัวคล้ายกระทิง โดยทาคินถูกจัดให้อยู่ในพวก แอนทิโลป เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกหนึ่งที่มีความคล้ายกับแพะ

นอกจากเทศกาลทาคินจะเป็นการเฉลิมฉลองให้กับสัตว์ประจำชาติแล้ว ยังเป็นการนำเสนอมรดกทางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของภูฏาน มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นโอกาสพิเศษในการชมสัตว์แปลกแห่งภูฏานได้อย่างใกล้ชิด เทศกาลนี้ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความยั่งยืนทางการเงินสำหรับการจัดการภายในอุทยาน และสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการท่องเที่ยวเชิงนิเวศนอกฤดูกาล ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนชุมชนบนที่สูงอีกด้วย

เขตบริหารแห่งมณฑลกาซา เป็นพื้นที่อันเงียบสงบและรุ่มรวยไปด้วยวัฒนธรรม มีความหลากหลายของพืชและสัตว์มากที่สุดในภูมิภาค ตั้งอยู่ห่างจากปูนาคาเพียง 3 ชั่วโมงโดยรถยนต์ เทศกาลทาคินที่จัดขึ้นในบริเวณนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่ทำให้นักเดินทางได้สำรวจความเรียบง่ายในท้องถิ่น และซึมซับไปกับวิถีชีวิตและประเพณีแบบดั้งเดิม บริเวณนี้ยังโด่งดังเรื่องบ่อน้ำพุร้อนและการแช่น้ำสมุนไพรออร์แกนิก ซึ่งเป็นตัวเลือกที่ไม่เหมือนใครสำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากจะปรนนิบัติร่างกายให้กลับมามีชีวิตชีวาอย่างเต็มที่อีกครั้ง

สามารถศึกษาข้อมูลอื่น ๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศภูฏานได้ที่เว็บไซต์ https://bhutan.travel/ และติดตามข่าวสารอีกมากมายได้ที่ Facebook และ Instagram ของกรมการท่องที่ยวแห่งประเทศภูฏาน

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป