บสย. รับรางวัล TQC การบริหารสู่ความเป็นเลิศ ประจำปี 2566
บสย. รับรางวัล TQC การบริหารสู่ความเป็นเลิศ ประจำปี 2566
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) รับรางวัล Thailand Quality Class : TQC 2023 การบริหารสู่ความเป็นเลิศ จากนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 22 ประจำปี 2566 (Thailand Quality Award : TQA) จัดโดยกระทรวงอุตสาหกรรม โดยสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ในฐานะสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ โดยมีนายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ในฐานะกรรมการและเลขานุการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ร่วมแสดงความยินดี ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567
รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ ประจำปี 2566 Thailand Quality Class : TQC 2023 ที่ บสย. ได้รับในปีนี้เป็นรางวัลในภาพรวม ตามเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ ครอบคลุมทุกประเด็นสำคัญขององค์กร ที่มีส่วนสำคัญต่อการยกระดับการบริหารสู่ความเป็นเลิศ ภายใต้เกณฑ์การประเมิน 7 หมวดหลักสำคัญ ประกอบด้วย 1. การนำองค์กร (Leadership) 2.กลยุทธ์ (Strategy) 3.ลูกค้า (Customers) 4.การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ (Measurement, Analysis, and Knowledge Management) 5.บุคลากร (Workforce) 6.การปฏิบัติการ (Operations) และ 7. ผลลัพธ์ (Results)
นายสิทธิกร กล่าวว่า นับเป็นรางวัลอันทรงเกียรติ ที่ได้รับ เป็นครั้งที่ 2 สะท้อนความมุ่งมั่น ทุ่มเทการพัฒนา ยกระดับความสำเร็จขององค์กรอย่างต่อเนื่อง ของคณะกรรมการ คณะผู้บริหาร และพนักงานของ บสย. ที่ได้ดำเนินพันธกิจและภารกิจร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในฐานะรัฐวิสาหกิจและสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ สังกัดกระทรวงการคลัง ที่ได้คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและการพัฒนาของทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืน เพื่อให้ บสย. เป็นที่พึ่งพิงให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศให้เติบโตได้อย่างสมดุล
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ บสย. ได้กระจายความช่วยเหลือ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน พร้อมการพัฒนาบริหารจัดการองค์กร ประกาศวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี ภายใต้วัฒนธรรม FAST & FIRST สู่ “เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงเงินทุนและโอกาสให้แก่ SMEs เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน SMEs’ Gateway” รับมือกับการเปลี่ยนแปลง (Disruption) สร้างสรรค์นวัตกรรม เพิ่มบทบาทการให้ความรู้ทางการเงินครบวงจร (Financial Literacy) การบริหารจัดการธุรกิจ และขยายสู่การช่วยเหลือแก้ไขหนี้ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และยังขยายการสนับสนุนสู่กลุ่มผู้ขาดโอกาสและกลุ่มนักศึกษา เพื่อให้ทุกภาคส่วนก้าวผ่านความท้าทาย พร้อมเปิดรับโอกาสใหม่ ๆ และเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ แผนงานในปี 2567 บสย. ยังคงมุ่งเพิ่มระดับความเข้มข้นในการยกระดับความสามารถขององค์กรและพนักงานอย่างต่อเนื่อง โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นกลไกขับเคลื่อนองค์กร บูรณาการกระบวนการทำงานในทุกมิติให้มีความเชื่อมโยงและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าและระบบนิเวศน์ทางการเงิน (Ecosystem) แบบเฉพาะเจาะจงครบวงจร ตามเป้าหมายการขับเคลื่อนองค์กรสู่ “Credit Mediator” และ “SMEs Digital Gateway” เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ “เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงเงินทุนและโอกาสให้แก่ SMEs เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน (SMEs’ Gateway) ”