ปทุมธานี จัดพิธีถวายเครื่องราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ
ปทุมธานี จัดพิธีถวายเครื่องราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 2 มี.ค.67 เวลา 09.30 น. ที่ อาคารศาลารักษ์ปทุม ศาลากลางจังหวัดปทุมธานี นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี มอบหมายให้นายคมสัน ญาณวัฒนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานในพิธีถวายเครื่องราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2567 เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเทิดพระเกียรติ แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็น “พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย โดยมี นายนพกร กล่ำทวี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดปทุมธานี พล.อ.อ.สักก์สกล แสงสุกรัตน์วดี ที่ปรึกษานายก อบจ.ปทุมธานี
นางกิติมา ศิริประธาน ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 14 ปทุมธานี ส่วนราชการ ทหาร ตำรวจและหน่วยงานต่าง ๆ ของจังหวัดปทุมธานี เข้าร่วมพิธี โดยในพิธี ประธานขึ้นวางพานพุ่มถวายเครื่องราชสักการะเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และกล่าวถวายราชสดุดีเทิดพระเกียรติ จากนั้นนำผู้ร่วมพิธียืนสงบนิ่งเป็นเวลา 89 วินาที ก่อนที่จะเยี่ยมชมนิทรรศการเทิดพระเกียรติ ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 14 ปทุมธานี และหน่วยงานต่าง ๆ จัดแสดงไว้ ณ อาคารศาลารักษ์ปทุม สำหรับวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2513 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงานแนะแนวอาชีพและแข่งขันฝีมือช่างแห่งชาติ ณ ลุมพินีสถาน
และพระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับการช่างของไทย ความตอนหนึ่งว่า “…ช่างทุกประเภท เป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตของบ้านเมืองและของทุกคน เพราะตลอดชีวิตของเรา เราต้องอาศัยและใช้บริการหรือสิ่งต่างๆ ที่มาจากฝีมือของช่างอยู่ทุกวี่ทุกวัน ผู้เป็นช่างจึงสมควรได้รับความเอาใจใส่สนับสนุน จากทุกๆ ฝ่ายยิ่งในสมัยปัจจุบันวิทยาการทุกอย่างเจริญก้าวหน้ายิ่งจำเป็นต้องส่งเสริมมาก เป็นพิเศษเพื่อให้ได้ช่างที่มีความสามารถสูง ให้มีสิ่งใช้สอยที่มีคุณภาพดีและเพียงพอกับความต้องการในการส่งเสริมนั้น มีปัญหาอันควรจะได้พิจารณาช่วยเหลืออยู่สามประการ ประการแรก ได้แก่ปัญหาเรื่องการให้ความรู้ทางหลักวิทยาการ และความรู้ทางการออกแบบ ประการที่สอง ได้แก่ ปัญหาเรื่องฝีมือ ซึ่งจะต้องปรับปรุงให้มีความประณีตและประสิทธิภาพได้มาตรฐานจริงๆ ประการที่สาม ได้แก่ ปัญหาเรื่องการจัดหางานและหาตลาด เพื่อช่วยให้ช่างได้มีงานทำ มีตลาดที่จะส่งสินค้าที่ผลิตได้ไปจำหน่าย การช่วยเหลือทั้งสามประการนี้จะต้องกระทำให้สอดคล้องกันไป
เพื่อให้ช่างมีรายได้และผลกำไร สำหรับนำมาเป็นทุนรอนสร้างฐานะและความก้าวหน้า” พระองค์ได้ฝากความคิดนี้ไว้เป็นแนวทางปฏิบัติที่สำคัญ จากกระแสพระราชดำรัสดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงสายพระเนตร อันยาวไกลที่มีพระราชดำริถึงความสำคัญของช่างฝีมือ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อทุกคน ในสังคม จึงจำเป็นต้องพัฒนาให้มีฝีมือตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพราะนั่นหมายถึงคุณภาพของสินค้าและบริการตลอดจนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อประเทศไทยแม้จะผ่านมาถึง 54 ปีแล้ว ยังคงทันสมัยและนับวันจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ซึ่งกระทรวงแรงงานได้น้อมนำใส่เกล้ามาปฏิบัติ ในการพัฒนากำลังแรงงานให้มีฝีมือ พัฒนาสู่มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งด้านการผลิตสินค้าและบริการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ สร้างการยอมรับในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและประชาคมโลก
ภาพ/ข่าว ประภาพรรณ ขาวขำ/รายงาน